ผลตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดเสี่ยเบนท์ลีย์ออกแล้ว พบ 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่เกินที่กฎหมายกำหนด ขณะหมอหมูแนะหาปริมาณแอลกอฮอล์ไม่ควรให้เกิน 6 ชั่วโมง หลังเกิดเหตุ พร้อมเปิดสูตรคำนวณย้อนกลับ
ล่าสุดมีรายงานว่า ผลตรวจแอลกอฮอล์ในเลือด ของคนขับเบนท์ลีย์ ออกมาแล้ว พบแอลกอฮอล์ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งตามกฎหมายก็ถือว่าไม่เข้าข่ายความผิดเมาแล้วขับ แต่เหตุการณ์นี้ยังคงถูกสังคมตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าต้องการช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือไม่ โดยมีรายงานว่าทางตำรวจเตรียมแถลงชี้แจงรายละเอียดคดีในวันนี้
ย้อนไปเมื่อช่วงค่ำวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา จากภาพบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร จะเห็นว่ารถยนต์เบนท์ลีย์ขับมาด้วยความเร็วก่อนจะแซงมาในเลนซ้าย และชนท้ายรถมิตซูบิชิ ที่ขับอยู่เลนกลาง จนเสียหลักพุ่งชนขอบทางพลิกหลายตลบ ก่อนจะชนกับรถคันอื่นที่ตามมา ทำให้มีรถเสียหาย 3 คัน และมีผู้บาดเจ็บ 8 ราย หลังเกิดเหตุมีพยานระบุว่าคนขับเบนท์ลีย์ ปฏิเสธที่จะเป่าเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ อ้างว่าเจ็บหน้าอก ขอไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล แต่ใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง จึงจะได้ตรวจหาแอลกอฮอล์ในเลือด และในขณะนั้นตำรวจก็ไม่ได้ดำเนินคดีในข้อหาเมาแล้วขับ ทำให้ถูกสังคมตั้งคำถามว่าเป็นการยื้อเวลาเพื่อช่วยเหลือคนขับเบนท์ลีย์หรือไม่
สำหรับกรณีข้อสงสัยการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ทันทีหรือภายหลัง ผลต่างกันอย่างไร รวมทั้งผลการตรวจเลือดนั้น นายแพทย์สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ นายกสมาคมแพทย์นิติเวช มองว่าการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสามารถทำได้ แต่การยืนยันผลต้องคำนวณเวลาย้อนกลับไป ณ เวลาที่เกิดเหตุ กับเวลาของการตรวจ เพื่อให้ได้ปริมาณแอลกอฮอล์ที่แท้จริง
ซึ่งในประเด็นนี้ ล่าสุด รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ได้โพสต์สูตรคำนวณดังกล่าวไว้ โดยให้ใช้ 0.0165 คูณกับจำนวนชั่วโมงตั้งแต่เกิดเหตุถึงเวลาที่ตรวจวัด บวกกับระดับแอลกอฮอล์ที่วัดได้ และคูณด้วย 1,000
นพ.วีระศักดิ์ ยังระบุถึงช่วงเวลาที่ควรใช้ในการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในเลือด ว่าควรทำภายใน 4 ชั่วโมง แต่ไม่ควรเกิน 6 ชั่วโมง โดยให้เหตุผลว่าเมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือด ร่างกายจะเริ่มเผาผลาญแอลกอฮอล์ เมื่อทิ้งเวลาให้นาน แอลกอฮอล์จะถูกกำจัดออกจากร่างกาย ทำให้หากตรวจหาแอลกอฮอล์ในเลือดอาจพบว่าลดต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด