ไมโคพลาสมาคือแบคทีเรียขนาดเล็ก มีชื่อเต็ม ๆ ว่า Mycoplasma pneumonia เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคระบาด อย่างเป็นต้นเหตุของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง ทำให้เกิดอาการไอ เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ และปอดบวมได้
นอกจากนี้ยังพบเชื้อไมโคพลาสมาในสุกร วัว สัตว์อื่น ๆ และพืชได้ด้วย แถมไมโคพลาสมายังก่อให้เกิดโรคปอดบวมในวัวและสุกรได้ไม่ต่างจากคน
นอกจากไมโคพลาสมาจะเป็นสาเหตุของโรคดังที่กล่าวมาแล้ว ไมโคพลาสมายังเป็นหนึ่งในเชื้อแบคทีเรียก่อโรคปอดอักเสบอีกด้วย ทว่าหากเป็นปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ อาการมักจะไม่ค่อยรุนแรง และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
สำหรับการระบาดของเชื้อไมโคพลาสมาสามารถพบได้ทุกช่วงอายุ โดยพบบ่อยในช่วงอายุน้อยกว่า 40 ปี และพบบ่อยมากในเด็กเล็ก รวมทั้งวัยรุ่นอายุน้อยกว่า 20 ปี โดยมีโอกาสติดเชื้อได้ใกล้เคียงกันทั้งเพศชายและหญิง อีกทั้งยังพบการติดเชื้อได้ตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน
ส่วนใหญ่จะพบการระบาดของเชื้อไมโคพลาสมาในชุมชนปิด เช่น โรงเรียน ค่ายทหาร เรือนจำ หรือฟาร์มสัตว์ เป็นต้น เนื่องจากมีการแออัดของคนหรือสัตว์จำนวนมาก เอื้ออำนวยให้เกิดการระบาดของเชื้อไมโคพลาสมาได้ง่าย
เชื้อไมโคพลาสมาสามารถติดต่อได้ทางระบบทางเดินหายใจ ติดเชื้อกันได้ง่ายแค่เพียงสัมผัสใกล้ชิดกับผู้มีเชื้อ หรือได้รับละอองเชื้อจากการไอหรือการจามของผู้มีเชื้อไมโคพลาสมาอยู่ก่อน
ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยที่ไมโคพลาสมาจะระบาดมากในที่ที่เป็นแหล่งชุมชนแบบปิด หรือแม้แต่คนในครอบครัวเดียวกันก็ตาม
สำหรับอาการป่วย “ไมโคพลาสมา” มีข้อสังเกต คือ เมื่อเชื้อไมโคพลาสมาเข้าสู่ร่างกายจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1-4 สัปดาห์ ซึ่งจะสังเกตได้ว่าไมโคพลาสมาจะใช้เวลาฟักเชื้อนานกว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ หรือเชื้อไวรัสโรคปอดอักเสบชนิดอื่น ๆ ซึ่งเมื่อเชื้อไมโคพลาสมาฟักตัวแล้ว อาจมีอาการเบื้องต้นดังต่อไปนี้
- ไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส อาจมีอาการหนาวสั่น
- ไอแห้ง ๆ อาจมีเสมหะขาว อาการค่อย ๆ เป็นมากขึ้น อาจไอเรื้อรังจนทำให้เจ็บกล้ามเนื้อหน้าอก
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย
- เจ็บคอ คันคอ อาการเจ็บคอจะไม่มาก คอแดงเล็กน้อยไม่มีหนอง
- เจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าหรือออก (พบได้น้อย)
- อาจพบผื่นแดงตามร่างกาย ลักษณะคล้ายไข้ออกผื่น (ส่าไข้)
- ถ้าอาการรุนแรงขึ้นจะทำให้หายใจเหนื่อย หายใจเร็ว แต่ยังคงดำเนินชีวิตประจำวันได้ปกติ
- มีอาการติอต่อกันนานเกิน 1 สัปดาห์ โดยอาการไข้อาจหายก่อน แต่ยังมีอาการไออยู่มากกว่า 3 สัปดาห์ จากนั้นอาจหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา
- หากมีอาการนานและหนักกว่าที่ได้กล่าวไป อาจมีภาวะแทรกซ้อน ทำให้เกิดการติดเชื้อนอกระบบทางเดินหายใจ เช่น ติดเชื้อไมโคพลาสมาที่สมองและไขสันหลัง หรืออาจเป็นโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบได้
อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ที่ได้รับเชื้อไมโคพลาสมาส่วนใหญ่ไม่มีอาการรุนแรง ส่วนมากจะมีอาการคล้ายไข้หวัดและหายเป็นปกติเองได้ โดยมีเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้นที่จะเกิดอาการปอดอักเสบ
สำหรับการรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อไมโคพลาสมา สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะกลุ่ม macrolides หรือ doxycycline ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลถ้ามีอาการหายใจหอบเหนื่อยมาก หรือมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก หากไม่ได้รับการรักษาอาการไข้จะเป็นอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ อาการไอประมาณ 2-4 สัปดาห์ บางรายอาการอาจเป็นนานถึง 6 สัปดาห์ ทว่าหากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาการจะหายเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว ยกเว้นรายที่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยสามารถดูอาการบ่งชี้ถึงภาวะแทรกซ้อนได้ดังต่อไปนี้
อาการบ่งชี้ที่ควรไปพบแพทย์
- ไข้สูง
- อาการไอแห้ง ๆ บ่อยครั้งและเป็นระยะเวลานาน หรือไอเป็นเลือด
- อาการหายใจหอบเหนื่อย หายใจเร็ว
- อาการเจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าหรือออก
- อาการแน่นหน้าอกด้านซ้าย หรือรู้สึกหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการแขนหรือขาอ่อนแรง หรือชักเกร็ง ซึมลง อาการซีด ปาก-ลิ้นสีซีด ปัสสาวะสีเข้ม (สีน้ำปลาหรือสีโค้ก) หรือมีจุดเลือดออกตามร่างกาย ซึ่งอาการเหล่านี้อาจบ่งบอกถึงภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อไมโคพลาสมาได้
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน อาจเกิดการติดเชื้อรุนแรงได้ง่ายกว่าปกติ
แม้ไมโคพลาสมาจะเป็นโรคระบาด แต่เราก็สามารถป้องกันได้ ด้วยการปฏิบัติตัวง่าย ๆ ตามนี้
- พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในชุมชนแออัด พื้นที่ที่มีคนหนาแน่น หรือหากเลี่ยงได้ยาก ก็ควรใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูก ด้วยหน้ากากอนามัยเสมอ
- ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนปรุงหรือรับประทานอาหาร รวมทั้งใช้ช้อนกลางเมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
- ไม่สำส่อนทางเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อผ่านระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์
แม้ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไมโคพลาสมาจะมีอาการที่ไม่รุนแรงมาก แต่หากเจ็บป่วยคล้าย ๆ อาการโรคไมโคพลาสมาก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ อย่างน้อยไปโรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจรักษาโดยไวก็น่าจะปลอดภัยและอุ่นใจกว่าเนอะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : kapook.com