คัดลอก URL แล้ว
ศวส.ยกเคสดื่มแล้วขับ ดับยกครัว แม้ไม่เมาก็เสี่ยง!

ศวส.ยกเคสดื่มแล้วขับ ดับยกครัว แม้ไม่เมาก็เสี่ยง!

ศวส.ถอดบทเรียนดื่มแล้วขับ ดับยกครัว 5 ศพ ชี้ แม้ไม่เมาก็มีความเสี่ยง พร้อมชูมาตรการให้ไทยกำหนดค่าความเข้มของแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นศูนย์ขณะขับขี่ เพิ่มจุดตรวจสุ่ม ลดเสี่ยงเจ็บ-ตาย

รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงกรณีที่จังหวัดศรีสะเกษ ชายวัย 30 ปี เมาขับรถเก๋งชนรถจักรยานยนต์นักศึกษา จากนั้นรถยนต์เสียหลักพุ่งข้ามเกาะกลางเหินลอยไปตกลงบนหลังคารถเก๋งอีกคัน เป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 5 ราย ตำรวจคาดว่าผู้ก่อเหตุมีอาการมึนเมา ตรวจวัดแอลกอฮอล์ได้ 49 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และไม่มีใบอนุญาตขับรถยนต์ แม้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่จะยังไม่ถึงระดับที่กฎหมายกำหนด หรือ กล่าวได้ว่า “ไม่ถึงขั้นเมาก็เสี่ยงแล้ว” ซึ่งส่งผลทำให้เกิดเหตุการณ์น่าสลดใจ และยังสะท้อนให้เห็นว่าการกำหนดค่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ในผู้ขับขี่ อาจไม่ใช่ระดับที่เหมาะสม เนื่องจากกรณีของผู้ก่อเหตุรายนี้ ที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ควรจะใช้เกณฑ์ตามกฎหมายที่ 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่อยู่ในระดับที่ผู้ขับขี่จะแสดงลักษณะอาการมึนเมา หรือความบกพร่องในการขับขี่ยานพาหนะ และขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละบุคคล เช่น เพศ อายุ น้ำหนักตัว ไขมันในร่างกาย ปริมาณการดื่มและอัตราการดื่ม และอาหารในกระเพาะอาหาร

รศ.ดร.นพ.พลเทพ กล่าวต่อว่า มาตรการที่ไทยควรผลักดันให้เกิดขึ้นเต็มรูปแบบ ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกแนะนำ ได้แก่ 1.การกำหนดค่าสูงสุดของระดับความเข้มของแอลกอฮอล์ในเลือด ของผู้ขับขี่เป็นศูนย์ โดยมาตรการนี้มีถูกใช้ใน 15 ประเทศ และมี 27 ประเทศที่กำหนดขีดจำกัดสูงสุดของ BAC ในระดับที่ต่ำมาก (ต่ำกว่า 0.03%) เช่น อุรุกวัย บราซิล และจีน ที่ลดขีดจำกัดสูงสุดของ BAC ตามกฎหมายเป็นศูนย์ ส่งผลให้อุบัติเหตุร้ายแรง การบาดเจ็บจากการจราจร และอัตราการเสียชีวิตลดลง 2.มาตรการตั้งจุดตรวจลมหายใจวัดระดับแอลกอฮอล์แบบสุ่ม บางประเทศนำมาตรการนี้มาใช้พบว่า เป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพลดอุบัติเหตุจราจรที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ผู้ขับขี่ทุกคนสามารถถูกสุ่มให้วัดระดับแอลกอฮอล์แบบทดสอบลมหายใจได้ ซึ่งหากมีการดำเนินการตั้งจุดตรวจอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จะช่วยลดอุบัติเหตุในเวลากลางคืนที่มีความร้ายแรงหรือมีผู้เสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์การสาธารณสุขในคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ไทยควรให้ความสำคัญกับเรื่องดื่มแล้วขับให้มากขึ้น โดยกำหนดเป็นนโยบายสำคัญ ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ประชาชนที่จำเป็นต้องใช้รถใช้ถนน ซึ่งหากรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลหน้าตัดสินใจทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ผลักดัน 2 มาตรการให้เกิดขึ้นจริง และสนับสนุนให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอุปกรณ์ตรวจและงบประมาณดำเนินการเพียงพอ ประชาชนต้องให้ความร่วมมือ โดยไม่มองว่าเป็นการลิดรอนสิทธิการดื่มและไม่บ่นเจ้าหน้าที่ จะช่วยลดการตายบนท้องถนนได้ถึง 5,000 คน/ปี สร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน