KEY :
- วิกฤติราคาพลังงาน และค่าอาหารในสหราชอาณาจักรเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้นเรื่อย ๆ
- ชาวอังกฤษ จำนวนมากระบุว่า จะลดการซื้อของขวัญวันคริสต์มาสลงทั้งในแง่ของจำนวนและราคา
- องค์กรการกุศล โดยเฉพาะในกลุ่มบ้านพักคนชรา ผู้พิการ ผู้ยากไร้ กำลังเผชิญภาวะค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูงขึ้น หลายแห่งต้องปรับลดการบริการ, ลดพนักงาน หรือชั่วโมงทำงานลง และบางแห่งอาจจะไม่มีเงินสำรองเหลือพอถึงฤดูร้อนปีหน้า
- ธนาคารอาหาร (Food Bank) ระบุ มีผู้ที่เข้ามาขอรับอาหารจากธนาคารอาหารเป็นครั้งแรก จำนวนกว่า 3.2 แสนคน เพิ่มขึ้นราว 40% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
- ราว 1 ใน 5 ของผู้มารับอาหารฉุกเฉินในครั้งแรกนี้ เป็น “ผู้ที่มีงานทำ” ไม่ใช่คนไร้บ้าน
- ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ขณะนี้มีโครงการ “ธนาคารความอบอุ่น” (Warm Banks) เพื่อแบ่งปันพื้นที่อบอุ่นให้กับผู้ที่ประสบปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เพื่อไม่ต้องเลือกระหว่างการจ่ายค่าอาหาร หรือ ค่าพลังงานสำหรับสร้างความอบอุ่น
…
สถานการณ์วิกฤติค่าครองชีพในสหราชอาณาจักรกำลังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนมายิ่งขึ้น ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นและค่าพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี
ซึ่งการเพิ่มขึ้นของต้นทุนสินค้าอุปโภค-บริโภคหลายชิดมาจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าอาหารที่ได้รับผลกระทบจากค่าพลังงาน-ค่าก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้น สินค้าหลายชนิดขาดตลาดจากคว่ำบาตรรัสเซีย เช่น น้ำมันดอกทานตะวัน แป้งสาลี
สำหรับในสหราชอาณาจักรคาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะเริ่มปรับตัวลงเรื่อย ๆ ในช่วงปี 2566 และคาดว่า กว่าจะกลับสู่ภาวะก่อนหน้าการเปิดปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียต่อยูเครน นั้นน่าจะเป็นในช่วงของปี 2567 ที่จะค่อย ๆ กลับมาสู่ภาวะปรกติอีกครั้ง
ลดการใช้จ่ายช่วงคริสต์มาส
ในขณะนี้กำลังผ่านช่วงวันหยุดคริสต์มาส แต่สถานการณ์การจับจ่ายใช้สอยนั้น ยังคงซบเซา และหลายฝ่ายคาดว่า ยอดขายในปีนี้จะลดต่ำกว่าปี 2564 ที่ผ่านมา ราว 4% จากผลกระทบจากความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ของค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผลสำรวจเมื่อช่วงวันที่ 7 ถึง 18 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนราว 60% มีแผนที่จะลดค่าใช้จ่ายในช่วงคริสต์มาสนี้ โดย
- 79% ระบุว่า จะลดการซื้อของขวัญให้น้อยลง
- 73% จะเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูกลง
- 62% จะเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มราคาไม่แพง
- 58% จะลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน
- 56% จะซื้ออาหารและเครื่องดื่มน้อยลง
และสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ในสหราชอาณาจักรมีความกังวลคือ ราว 6 ใน 10 รายที่ให้ข้อมูลระบุว่า มีความกังวลค่อนข้างมาก ถึง กังวลมาก ต่อการสร้างความอบอุ่นภายในบ้าน ซึ่งเป็นผลมาจากราคาก๊าซและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น
ค่าใช้จ่ายพลังงานที่สูงขึ้นกระทบบ้านพักคนชรา
นอกเหนือจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคครัวเรือนแล้ว องค์กรการกุศลต่าง ๆ กำลังเผชิญกับปัญหาเช่นกัน โดยเครือข่ายบ้านพักคนชรา และสถานพักฟื้นต่าง ๆ จำเป็นต้องแบกภาระของค่าพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยผลการสำรวจของ Pro Bono Economics และ Nottingham Trent University ระบุว่า
เกินครึ่งขององค์กรการกุศลเผชิยค่าพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น และราว 1 ใน 3 ต้องเผชิญกับค่าพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าเท่าตัว ทำให้ต้องลดการบริการ หรือลดการพนักงาน ควบคู่กับการลดการใช้พลังงาน และลดชั่วโมงการทำงาน กว่าครึ่งหนึ่งขององค์กรเหล่านี้ ต้องใช้เงินสำรองเพื่อดำเนินงานต่อไป ซึ่งมีถึง 1 ใน 5 ที่จะมีเงินสำรองเพียงพอสำหรับในช่วงฤดูหนาวนี้เท่านั้น
“องค์กรการกุศลกำลังเผชิญกับความต้องการใช้บริการเพิมขึ้น ท่ามกลางทรัพยากรที่ร่อยหรอลงไปอย่างรวดเร็ว”
…
ผู้คนพึ่งพา “ธนาคารอาหาร” มากขึ้น
Trussell Trust ซึ่งเป็นหนึ่งในกองทุนการกุศลทางด้านอาหารเพื่อสังคมของอังกฤษ เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ในอังกฤษระบุว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา กว่า 320,000 คนที่ต้องมาพึ่งพาธนาคารอาหาร (Food bank) ของ Trussell Trust เป็นครั้งแรก เพิ่มขึ้นเกือบ 40% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ผ่านมา และราว 1 ใน 5 ของคนที่หันมาพึ่งพาธนาคารอาหารเป็นครั้งแรกเหล่านี้ เป็นคนที่มีงานทำ
โดยในช่วง เมษายนถึงกันยายน 2565 Trussell Trust ได้มีการแจกจ่ายอาหารช่วยเหลือฉุกเฉินไปแล้วกว่า 1.3 ล้านชิ้น และในขณะนี้แม้ว่าการบริจาคอาหารให้กับธนาคารอาหารยังคงมีจำนวนที่อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงปรกติ แต่ความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น จึงเริ่มส่งผลกระทบต่อการแจกจ่ายอาหารให้กับผู้ที่ต้องการ
“ธนาคารความอบอุ่น”
จากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น และทำให้ค่าใช้จ่ายในภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลายครอบครัวในอังกฤษต้องเลือกระหว่าง การประหยัดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร เพื่อนำเงินมาจ่ายค่าพลังงานสำหรับให้ความอบอุ่นภายในบ้าน นั่นจึงเป็นที่มาของแคมเปญ “Warm Banks” หรือ “ธนาคารความอบอุ่น” ในอังกฤษ ซึ่งในขณะนี้ มีพื้นที่ที่เข้าร่วมแล้วมากกว่า 3 พันแห่งในประเทศ
ซึ่งการเปิดธนาคารความอบอุ่นนี้ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพและค่าพลังงานที่สูงขึ้น มีทางเลือกในการประหยัดเงินค่าพลังงานที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น เพื่อนำเงินเหล่านั้นไปจ่ายค่าอาหาร หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นแทน
จากการสำรวจพบว่า “ความยากจนด้านเชื้อเพลิง” (fuel poverty) ในอังกฤษมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยผลการสำรวจล่าสุดพบว่า มี 7 ล้านครัวเรือนในอังกฤษที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่เผชิญ ความยากจนด้านเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2563 ที่มีเพียง 3.2 ล้านครัวเรือน
“คาดว่า ในวันที่ 1 เม.ย. 2566 จะมีราว 8.6 ล้านครัวเรือนที่จัดอยู่ในกลุ่มที่เผชิญความยากจนด้านเชื้อเพลิง เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลสิ้นสุดลง”
โดยในงานวิจัยของ University of York จะมีชาวอังกฤษราว 53 ล้านคนที่จะเผชิญกับความยากจนด้านเชื้อเพลิง ในเดือนมกราคม 2566 นี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยากจนที่สุด และหนาวที่สุดของสหราชอาณาจักร จะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นครอบครัวใหญ่ และผู้รับบำนาญ
ข้อมูล :
- https://commonslibrary.parliament.uk/research-briefings/cbp-9428/
- https://www.ons.gov.uk/peoplepopulationandcommunity/wellbeing/bulletins/publicopinionsandsocialtrendsgreatbritain/latest
- https://commonslibrary.parliament.uk/research-briefings/cbp-9491/
- https://www.probonoeconomics.com/news/charities-struggling-with-energy-bill-hikes-of-50-and-more-amid-soaring-demand-survey-finds
- https://assets.publishing.service.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/1126144/quarterly-energy-prices-december-2022.pdf
- https://www.endfuelpoverty.org.uk/about-fuel-poverty/
- https://www.york.ac.uk/news-and-events/news/2022/research/fuel-poverty-uk/