คัดลอก URL แล้ว
เกาหลีใต้ประเมิน ขาดดุลการค้าสูงเป็นประวัติการณ์เกือบ 5 หมื่นล้านเหรียญฯ

เกาหลีใต้ประเมิน ขาดดุลการค้าสูงเป็นประวัติการณ์เกือบ 5 หมื่นล้านเหรียญฯ

KEY :

เกาหลีใต้ได้คาดการณ์ สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ โดยคาดว่า ภาพรวมของทั้งปี 2022 นี้ เกาหลีใต้จะขาดดุลการค้า เกือบ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นตัวเลขการขาดดุลการค้าที่มากที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศ

โดยกรมศุลกากรของเกาหลีใต้ระบุว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าที่เกิดขึ้นในปีนี้อยู่ที่ราว 4.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เมื่อปี 1996 โดยในปีนั้น เกาหลีใต้ขาดดุลการค้าอยู่ที่ราว 2.06 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

ในขณะที่ภาคธุรกิจคาดการณ์ว่า ในปีนี้ ตัวเลขการขาดดุลการค้าจะอยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนคาดว่า ตัวเลขที่แท้จริง น่าจะทะลุไปสูงกว่า 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

ซึ่งสาเหตุหลักของการขาดดุลการค้าที่เกิดขึ้นนั้น มาจากการส่งออกที่ โดยเฉพาะการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ที่ชะลอตัวลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ตัวเลขการส่งออกของเกาหลีใต้ลดลง 14% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ในขณะที่ราคาพลังงานทั้งน้ำมันดิบ ก๊าซ และถ่านหินมีราคาพุ่งสูงขึ้น โดยเกาหลีใต้นำเข้าน้ำมันดิบ ก๊าซ และถ่านหิน เป็นมูลค่ากว่า 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนถึง 72.2% เนื่องจากเกาหลีใต้พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเป็นหลัก

รวมถึงการที่เงินวอนของเกาหลีใต้อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา และอ่อนค่าลงอย่างมากในช่วงเดือน กันยายน – พฤศจิกายน ท่ามกลางวิกฤติพลังงานที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น โดยขณะนี้ค่าเงินวอนอยู่ที่ราว 1,300 วอน/เหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมปี 2021 ค่าเงินวอนอยู่ที่ราว 1,100 – 1,200 วอน/เหรียญสหรัฐฯ

10 วันแรกของ ธ.ค. ลดลง 20%

สำหรับในเดือนธันวาคมนี้ หลังเริ่มต้นเดือนสุดท้ายของปีมาได้ 10 วัน ตัวเลขการส่งออกของเกาหลีใต้ ยังคงอยู่ในทิศทางขาลงต่อเนื่อง โดยลดลง 20.8% เมื่อเทียบกับ 10 วันแรกของเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และยังคงเป็นสินค้าในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์มือถือ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ชิ้นส่วนเหล็ก, ยานยนต์ ก็ลดลงเช่นกัน

ซึ่งการส่งออกนั้น ส่วนใหญ่ยังคงลดลงโดยเฉพาะจีนที่ลดลงกว่า 34% ในขณะที่การจัดส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ และยุโรปก็ลดลงเช่นกัน รวมถึงคู่ค้ารายใหม่อย่างเวียดนาม

คาด ปีหน้าดีขึ้น แต่ไม่มาก

หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า สถานการณ์การส่งออกของเกาหลีใต้ในปี 2023 จะดีขึ้นกว่าในปีนี้ แต่ก็จะไม่มากนัก เนื่องจากความต้องการที่ยังคงไม่มากนัก เนื่องจากปัจจัยลบต่าง ๆ ที่มีโดยเฉพาะในสินค้าอย่างเซมิคอนดักเตอร์ ที่มีแนวโน้มส่งออกไปยังประเทศจีนลดลง

ในขณะที่ราคาพลังงาน ยังคงมีทิศทางที่ผันผวน และอาจจะสูงขึ้นอีก หากรัสเซียเลือกตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของยุโรปต่อมาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมันของรัสเซีย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง