KEY :
- รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แจง กรณียังไม่มีการลงนามหลักเกณฑ์จัดสรรงบบัตรทอง ปี 2566 วงเงิน 2 แสนล้านบาท
- เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในทางกฎหมายเกี่ยวกับงบส่วนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 2.1 หมื่นล้านบาท
- กำชับสสจ.และผู้ตรวจราชการฯ ช่วยดูแล พร้อมหารือร่วมกับ สปสช. เร่งแก้ปัญหา โดยให้แยกจัดสรรงบบริการผู้ป่วยซึ่งเป็นก้อนใหญ่ก่อน ระหว่างรอคำตอบที่ชัดเจนจาก ครม. และคณะกรรมการกฤษฎีกา
วันนี้ (12 ธ.ค.65) นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงข้อห่วงใยกรณี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ยังไม่ลงนามในหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2566 ทำให้ยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรืองบบัตรทองลงไปยังหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลต่าง ๆ
โดยสาเหตุจากการนำงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) ไปใช้ให้บริการนอกเหนือจากสิทธิบัตรทอง คือสิทธิสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม อาจไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่และภารกิจตามที่ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2545 กำหนดไว้ในมาตรา 5 ประกอบมาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 9 และ มาตรา 10 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สปสช.ได้ดำเนินการหารือคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาให้มีความชัดเจน
นพ.พงศ์เกษม กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ได้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยคำนึงถึง 3 เรื่องหลัก คือ 1.ประชาชนต้องไม่ได้รับผลกระทบ โดยให้หน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง จัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ตามปกติ 2.โรงพยาบาลไม่เดือดร้อน และ 3.ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่
งจากการหารือนอกรอบเมื่อสัปดาห์ก่อน ท่านเลขาฯสปสช. ได้เห็นชอบตรงกันเรื่องข้อเสนอให้แยกจัดสรรเงินบริการประเภทผู้ป่วยนอก (OP) และผู้ป่วยใน (IP) และรายการอื่น ๆ ไปให้หน่วยบริการก่อน เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อหน่วยบริการ เนื่องจากงบบัตรทองปีงบประมาณ 2566 วงเงินทั้งหมด 204,140.03 ล้านบาท เป็นงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่รอการพิจารณาทางข้อกฎหมายเพียง 21,381.11 ล้านบาท หรือประมาณ 10% เท่านั้น งบส่วนอื่น ๆ ที่ขอให้แยกจัดสรรเป็นงบส่วนใหญ่ เช่น งบเหมาจ่ายรายหัว 161,602.67 ล้านบาท ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 3,978.48 ล้านบาท ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 9,952.18 ล้านบาท เป็นต้น
“เรื่องการจัดบริการประชาชน ขณะนี้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขยังดำเนินการตามปกติ ส่วนใหญ่มีงบประมาณพอรองรับการดำเนินงาน ระหว่างนี้หากโรงพยาบาลใดมีข้อติดขัดขอให้แจ้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัด และรายงานผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำเขตสุขภาพ แก้ไขปัญหาในระดับเขตสุขภาพ โดย บอร์ด สปสช. จะมีการประชุมในวันที่ 14 ธันวาคม นี้ หากมีมติให้แยกจัดสรรงบตามที่กระทรวงเสนอ คาดว่าหน่วยบริการจะได้รับจัดสรรงบส่วนใหญ่สำหรับดูแลประชาชนภายในปลายเดือนธันวาคม 2565”
นพ.พงศ์เกษม กล่าว