KEY :
- ญี่ปุ่นเร่งพิจารณาแนวทางการหารายได้เพิ่ม หลังเดินหน้าเพิ่มงบประมาณกลาโหมเป็น 2% ของจีดีพี ภายในปี 2027
- เบื้องต้น พิจารณาแนวทางการรัดเข็มขัด ลดรายจ่ายภาครัฐ ร่วมกับการขึ้นภาษีบางชนิด เช่น ภาษียาสูบ
…
รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาในการจัดหารายได้เพิ่มเติม เพื่อใช้ในการอุดหนุนงบประมาณทางทหารตามแผนที่จะเพิ่มงบกลาโหมให้อยู่ที่ 2% ของจีดีพี ตามนโยบายของนาย นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น
โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มงบประมาณด้านการทหารให้ได้ 2% ของจีดีพีภายในปีงบประมาณ 2027 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 315,000 ล้านดอลลาร์ (กว่า 10 ล้านล้านบาท) เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ด้านความมั่นคงของประเทศในอนาคต จากจีน เกาหลีเหนือ และรัสเซีย ที่มีแนวโน้มตึงเครียดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังเป็นไปตามกรอบงบประมาณของชาติในกลุ่ม NATO ที่กำหนดให้ชาติพันธมิตรควรเพิ่มงบประมาณทางทหารให้ได้ 2% ของจีดีพี โดยนโยบายการป้องกันประเทศของญี่ปุ่นนั้น กำหนดงบประมาณด้านการทหารไว้ที่ราว 1% ของจีดีพี
และการเพิ่มงบประมาณกลาโหมในครั้งนี้ ได้รับเสียงคัดค้านจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะจากส.ส.ในพรรคฝ่ายค้าน เนื่องจากเป็นการปรับเพิ่มงบประมาณที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบต่อประชาชน
ปรับขึ้นภาษี – รัดเข็มขัด
เบื้องต้นแนวทางของการหารายได้ เพื่อนำมาใช้อุดหนุนงบกลาโหมของญี่ปุ่นมีในหลายแนวทางด้วยกัน โดย แนวทางแรกคือการรัดเข็มขัด หน่วยงานของรัฐ เพื่อลดรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นอนาคต
อีกหนึ่งแนวทางคือการปรับขึ้นภาษี โดยหลายฝ่ายต่างกังวลต่อมาตรการที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนจากการขึ้นภาษี จึงมีข้อเสนอให้มีการปรับขึ้นภาษียาสูบ รวมถึงการขึ้นภาษีมรดก ตลอดจนแนวทางของการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลที่สูงขึ้น ควบคู่กับมาตรการช่วยเหลือและลดหย่อนอื่น ๆ แต่จะเลี่ยงการขึ้นภาษีที่กระทบต่อประชาชนโดยตรง
ทางด้านของพรรคฝ่ายค้าน ได้เสนอให้มีการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อนำรายได้ไปเพิ่มในงบประมาณทางทหารแทน นโยบายด้านภาษี เนื่องจากรายได้จากการจัดเก็บภาษีนั้น ไม่ได้มีระบุถึงรายละเอียดในการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง หรือแนวทางในการจัดเก็บภาษี และนั่นทำให้ประชาชนกังวลว่า ท้ายที่สุดแล้ว มันก็เป็นการปรับขึ้นภาษีนั่นเอง
แต่ทางด้านของนายคิชิดะ ระบุว่า การออกพันธบัตริไม่ใช่ทางเลือก เมื่อเราต้องคิดถึงความรับผิดชอบในอนาคตที่จะเป็นภาระในคนรุ่นต่อไป