คัดลอก URL แล้ว
‘ส.อ.ท.’ เตรียมดัน MSMEs สู่อุตฯ เทคโนโลยีสีเขียว

‘ส.อ.ท.’ เตรียมดัน MSMEs สู่อุตฯ เทคโนโลยีสีเขียว

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกแล้ว ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อยและรายย่อย หรือ MSMEs

ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าธุรกิจขนาดเล็กแบบ MSMEs มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ เช่น โควิด-19 การก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้น้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะธุรกิจแบบ MSMEs มีทรัพยากรจำกัดและไม่มากพอที่จะลงทุนเพื่อหาโอกาสในการปรับตัวและรับมือกับความท้าทาย

จากการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค หรือ APEC Business Advisory Council (ABAC) ซึ่งเป็นเวทีคู่ขนานกับการประชุมเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมที่ผ่านมาได้ตระหนักถึงการช่วยเหลือและพัฒนากลุ่ม MSMEs ของประเทศสมาชิก จึงได้มีการรวมประเด็นเรื่อง MSMEs ไว้ในข้อเสนอแนะต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุน MSMEs ให้มีโอกาสทางธุรกิจและสามารถฟื้นตัวได้เร็ว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะเป็นประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 (APEC Business Advisory Council-ABAC) กล่าวว่า “MSMEs ถือเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากคิดสัดส่วนเป็น 97% ของภาคธุรกิจทั้งหมด อุปสรรคที่แท้จริงที่ทำให้ MSMEs ไม่สามารถสร้างธุรกิจได้อย่างเต็มที่ คือ การเข้าไม่ถึงโอกาสในการรับบริการทางการเงินและการขาดความพร้อมในการปรับตัวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เราจึงต้องส่งเสริมให้ MSMEs ปรับตัวและเข้าถึงเทคโนโลยี ก้าวทันยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เร่งให้เกิดการเติบโตและสามารถสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด”

ภาครัฐ แรงขับเคลื่อน MSMEs ที่สำคัญ

การสร้างความเข้มแข็งให้กับ MSMEs จะสำเร็จไม่ได้ หากขาดการสนับสนุนและช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญ และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการส่งเสริมกลุ่ม MSMEs ให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ MSMEs สามารถเข้าถึงข้อมูลและเข้าถึงตลาด เช่น การเข้าสู่ระบบและการใช้ดิจิทัลในการออกสู่ตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ ภาครัฐควรอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ MSMEs ในการเข้าถึงแหล่งเงิน ซึ่งจะช่วยให้สามารถสร้างการแข่งขันและมีความมั่นคงมากขึ้น

“การพัฒนาทักษะความรู้เป็นสิ่งสำคัญ กลุ่ม MSMEs จะเดินหน้าต่อไม่ได้ หากไม่มีองค์ความรู้ที่จะนำไปพัฒนาธุรกิจ เพราะความรู้ คือ รากฐานสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ ดังนั้น ภาครัฐจึงควรส่งเสริมการพัฒนาทักษะและความรู้ให้แก่ กลุ่ม MSMEs ในการใช้ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือดิจิทัลและบริการดิจิทัลในสังคม ผู้ประกอบการ MSMEs เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และกระจายตัวกันอยู่ทั่วทุกภูมิภาค หากรัฐบาลสามารถพยุงกลุ่มผู้ประกอบการ MSMEs นี้ได้ ก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ อันเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิกลงได้มาก” นายเกรียงไกร  กล่าวเสริม

ภาคเอกชน พร้อมหนุน MSMEs เดินหน้า

การแก้ปัญหาและการส่งเสริมกลุ่ม MSMEs เป็นเรื่องที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องดำเนินการร่วมกัน ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนา MSMEs อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การร่วมมือกันของภาคเอกชน จะเป็นกลไกสำคัญให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว เพื่อประโยชน์ของภูมิภาคที่จะเดินไปข้างหน้าร่วมกัน

นอกเหนือจากที่ภาครัฐสามารถส่งเสริมการพัฒนาทักษะและความรู้ให้แก่กลุ่ม MSMEs ในการใช้เครื่องมือดิจิทัลและบริการดิจิทัลในสังคมแล้ว ในส่วนของภาคเอกชน จะสามารถเข้ามาช่วยสนับสนุนในเรื่องของการระบุปัญหาในการดำเนินธุรกิจ การถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ การให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางในการปรับตัว ตลอดจนการแนะนำการใช้ดิจิทัลโซลูชันที่เหมาะสมให้แก่ MSMEs โดยผู้เชี่ยวชาญ

“ข้อสรุปของข้อเสนอแนะในการประชุม ABAC สะท้อนถึงเป้าหมายใหญ่ 2 แนวทาง นั่นคือ “การส่งเสริมการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและยั่งยืน” และ “การกลับมาสร้างแรงกระตุ้นสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั่วถึง และมีความยืดหยุ่น” โดยเราเชื่อมั่นว่าหลังจากนี้กลุ่ม MSMEs จะสามารถก้าวข้ามผ่านความท้าทาย เพื่อก้าวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายเกรียงไกร กล่าว

หนุนและนำวิสัยทัศน์ทางการตลาดที่เน้นเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

MSMEs จะเดินได้อย่างยั่งยืน ก็ต่อเมื่อมีการปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องความก้าวหน้าทางดิจิทัล แต่รวมถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

การแสวงหาโอกาสทางธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ท่ามกลางสถานการณ์โลกเช่นนี้

ภาคธุรกิจ MSMEs ต้องมีความพยายามให้การดำเนินธุรกิจเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจในภาคของการผลิตหรือการให้บริการ เช่น ธุรกิจที่ปรึกษาหรือธุรกิจให้บริการด้านการป้องกันและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ธุรกิจการเกษตรสมัยใหม่และเกษตรอินทรีย์  ธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ หรือแม้แต่ธุรกิจบริการ เช่น การท่องเที่ยว ที่สามารถคว้าโอกาสในการนำแนวคิดสีเขียวเข้ามาสร้างความแตกต่างให้กับการบริการที่มีอยู่เดิม

“สัดส่วนของ MSMEs  ไม่ใช่น้อยๆ หากเราผลักดัน MSMEs ให้ก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ก็จะส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” นายเกรียงไกร กล่าวทิ้งท้าย