คัดลอก URL แล้ว
“มนัส” แนะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ควรยึดโยงเงินเฟ้อ-ค่าครองชีพโดยอัตโนมัติ

“มนัส” แนะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ควรยึดโยงเงินเฟ้อ-ค่าครองชีพโดยอัตโนมัติ

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.นายมนัส โกศล หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ ในฐานะประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนา แรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายหาเสียงจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นวันละ 600 บาทถ้าได้เป็นรัฐบาลว่า ความจริงค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยเริ่มมีการใช้งานครั้งแรกเมื่อปี 2516 ผู้ใช้แรงงานสมัยนั้นได้ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ12บาท ช่วงเวลานั้นตนทำงานอยู่โรงงานผลิตสบู่ เนยและครีม ประมาณปี 2517 ซึ่งค่าจ้างที่ตนได้รับคือวันละ20บาท แต่ตนมีวุฒิการศึกษามัธยมปลายทำให้ได้ค่าจ้างเป็นรายเดือน เดือนละ600บาท ซึ่งถึงวันนี้ผ่านมา47ปีก็ยังมีการพูดถึงค่าจ้างขั้นต่ำรายวันอยู่เลย ทั้งที่ถ้าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ยึดโยงโดยใช้เกณฑ์ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษกิจบวกอัตราเงินเฟ้อและดัชนีค่าครองชีพโดยอัตโนมัติ ป่านนี้ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยอาจจะมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นอยู่ปัจจุบันไปแล้วและไม่ต้องมาเรียกร้องกันทุกปี รวมทั้งพรรคการเมืองจะได้ไม่ต้องเอาหาโหยกระแสหาเสียง

นายมนัส กล่าวว่าเพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงานที่เป็นธรรม การปรับค่าจ้างขั้นต่ำจำเป็นต้องปรับตามอัตราเงินเฟ้อและดัชนีค่าครองชีพในปัจจุบัน ซึ่งเป็นตัวกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและมีโครงสร้างค่าจ้างประจำปีเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ระหว่างลูกจ้างที่เพิ่งเข้าทำงานวันแรกกับลูกจ้างที่เข้ามาทำงานมากกว่า 1ปี กรณีเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับแรงงานและมีการหารือในที่ประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากอัตราค่าแรงขั้นต่ำของประเทศในภูมิภาคอาเซียน แม้จะถูกปรับเพิ่มสูงขึ้นให้สอดคล้องกับสภาพค่าครองชีพที่สูงขึ้นและเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ แต่ก็ยังเป็นค่าแรงขั้นต่ำที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชีย และประเทศที่มีเศรษฐกิจพัฒนาแล้วในภูมิภาคอื่นของโลก ทั้งนี้ปัญหานี้จะยิ่งส่งอย่างมากกับประชาชนทั่วๆไปที่ไม่อยู่ในระบบการจ้างงานซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น.