KEY :
- ออกซ์ฟอร์ดดิกชันนารี ประกาศผลโหวตศัพท์แห่งปี 2022 เป็นคำว่า “ก๊อบลิน โหมด” (goblin mode)
- ซึ่งหมายถึงพฤติกรรมการทำตามใจตัวเองอย่างไร้ยางอาย ขี้เกียจ สกปรก และละโมบ ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐาน หรือความคาดหวังของสังคม
- โดยคำว่า ก๊อบลิน โหมด นี้พบครั้งแรกเมื่อปี 2009 แต่กลับมาแพร่หลายอีกครั้งในปี 2022 นี้ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ท่ามกลางมาตรการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้น
- ส่วนอันดับที่ 2 เป็นคำว่า “Metaverse” และอันดับที่ 3 คือ แฮชแท็ก “#IStandWith”
…
ออกซ์ฟอร์ดดิกชันนารี ได้ประกาศผลการโหวต Oxford Word of the Year ปี 2022 ภายหลังมีการเปิดโหวตให้ลงคะแนนในคำศัพท์ต่าง ๆ เป็นครั้งแรก โดยมีตัวเลือกประกอบไปด้วย ‘metaverse’, ‘#IStandWith’ และ ‘goblin mode’
ซึ่งภายหลังจากการเปิดการลงคะแนนโหวตเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ทางด้านของออกซ์ฟอร์ดดิกชันนารี ได้รายงาผลการโหวตในครั้งนี้ โดยมีผู้ลงคะแนนโหวตมากกว่า 3 แสนคน ซึ่งกว่า 90% ลงคะแนนให้กับคำว่า “goblin mode” (ก๊อบลิน โหมด)
ซึ่งคำว่า “goblin mode” (ก๊อบลิน โหมด) นี้ ออกซ์ฟอร์ดดิกชันนารีได้ให้นิยามไว้ว่า หมายถึงลักษณะพฤติกรรมประเภทหนึ่งที่ตามใจตัวอย่างไร้ยางอาย รวมทั้งยังขี้เกียจ สกปรก และละโมบ ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานหรือความคาดหวังของสังคม
โดยคำว่า ก๊อบลิน โหมด มีการพบเห็นเป็นครั้งแรกบน Twitter ในช่วงปี 2009 แต่กลับมาแพร่หลายอีกครั้งในโซเซียลมีเดียในช่วงเดือน ก.พ. 2022 ที่ผ่านมานี้ และแพร่กระจายเข้าสู่หนังสือพิมพ์ – นิตยสาร อย่างรวดเร็ว และถูกใช้ในการรายงาน รวมถึงพาดหัวข่าวต่าง ๆ ด้วย
นอกจากนี้ คำว่า ก๊อบลิน โหมด ยังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นด้วย ในช่วงที่มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จากการระบาดของโควิด-19 และผู้คนส่วนใหญ่กลับมาใช้ชีวิตอีกครั้ง ซึ่งคาดว่า เป็นการหมายถึงบุคคลที่ปฏิเสธต่อกลับมาใช้ชีวิตตามปรกติ หรือ ออกมาต่อต้านมาตรการหรือข้อกำหนดต่าง ๆ
โดย Ben Zimmer นักภาษาศาสตร์และนักพจนานุกรมชาวอเมริกันกล่าวว่า ก๊อบลิน โหมด นั้นได้ถือเป็นตัวอย่างของการพูดที่แสดงออกถึงช่วงเวลาและวัฒนธรรมของยุคสมัยอย่างแท้จริง และมันเป็นการแสดงออกของผู้คนในปี 2022 ที่คนส่วนใหญ่กำลังมองหาบรรทัดฐานใหม่ทางสังคมในรูปแบบใหม่ มันทำให้หลายคนต้องทิ้งบรรทัดฐานเดิมและยอมรับกับสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น
สำหรับคำที่ได้รับเลือกเป็นอันดับที่ 2 คือ เมตาเวิร์ส (metaverse) ซึ่งออกซ์ฟอร์ดดิกชันนารี อธิบายไว้ว่า หมายถึงสภาพแวดล้อมเสมือนจริงที่ถูกสร้างขึ้น โดยมีผู้ใช้งานตอบโต้-สื่อสารกันผ่านอวาตาร์ของพวกเขา และเข้าสู่สัมผัสของสภาพแวดล้อมเหล่านั้น ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มเติมประสบการณ์ หรืออาจจะมาแทนที่เว็บไซต์ โซเซียลมีเดีย
ซึ่งคำว่า Metaverse ได้ถูกบันทึกลงออกซ์ฟอร์ดดิกชันนารี ตั้งแต่เมื่อปี 1992 ในนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Snow Crash โดย Neal Stephenson. ก่อนที่คำว่า Metaverse จะกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งเมื่อเฟซบุ๊ก ได้ประกาศแนวคิดในการก้าวเข้าสู่โลกเมตาเวิร์ส โดยมักจะพบอื่นๆ เช่น Web3, virtual, NFT, crypto ประกอบอยู่ด้วยในการกล่าวถึงคำว่า เมตาเวิร์ส
ส่วนคำว่า “#IStandWith” มาเป็นอันดับที่ 3 หมายถึงบริบทของการสนับสนุนหรือเข้าข้างใครสักคนหนึ่ง โดยคำนี้มีอายุย้อนไปถึงช่วงศตวรรษที่ 14 ก่อนที่จะกลับมากลายเป็น แฮชแท็ก#IStandWith ที่พบได้บนโซเซียลมีเดีย เพื่อสื่อถึงแนวคิดของกลุ่ม หรือการยืนอยู่ฝ่ายเดียวกันในเหตุการณ์เฉพาะเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง และเป็นหนึ่งในการแสดงออกถึงการร่วมกลุ่มเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ และพูดถึงแนวคิดที่ตนเองเชื่อเหล่านั้น
โดยคำที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งอย่างมากในช่วงหลังจากเดือนมี.ค. 2022 ที่ผ่านมาได้แก่ IStandWithUkraine และ #StandWithUkraine นอกจากนี้ #IStandWith ยังพบการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2021
ศัพท์แห่งปีที่ผ่านมา
เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ออกซ์ฟอร์ดดิกชันนารี ได้ประกาศให้คำว่า “เเว็กซ์” (vax) เป็น Word of the Year ซึ่งคำว่า Vax มาจากตัวย่อของคำว่า Vaccine นั่นเอง ส่วนในปี 2020 ไม่มีการประกาศ คำศัพท์แห่งปี และสำหรับในปีก่อนหน้าเช่น
- 2019 Climate Emergency
- 2018 Toxic
- 2017 Youthquake
- 2016 Post-truth
- 2015 Emoji tears of joy
ที่มา – https://languages.oup.com/word-of-the-year/2022/