คัดลอก URL แล้ว
โอเปคพลัส ยังคงนโยบายเดิมตามแผนลดกำลังการผลิตลง 2 ล้านบาเรล/วัน

โอเปคพลัส ยังคงนโยบายเดิมตามแผนลดกำลังการผลิตลง 2 ล้านบาเรล/วัน

KEY :

ในการประชุมของกลุ่มประเทศส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร หรือ โอเปกพลัส ยังคงกรอบในการส่งออกน้ำมันในแนวทางเดิม นั่นคือยังคงเดินหน้าในแผนลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 2 ล้านบาเรลต่อวัน หรือราว 2% ของความต้องการในตลาดโลกตั้งแต่พ.ย. ไปจนถึงสิ้นปี 2023

ทางด้านของสหรัฐฯ มองว่า การตัดสินใจของกลุ่มรวมถึงซาอุดิอาระเบียนั้น เป็นการตัดสินใจที่เข้าข้างรัสเซีย แต่ทางด้านของกลุ่มโอเปคพลัส ระบุว่า สถานการณ์ของราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงได้รับผลกระทบจากสภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงในจีนด้วย ควบคู่กับอัตราดอกเบี้ยที่มีการปรับเพิ่มสูงขึ้น

ทำให้กลุ่มโอเปคพลัส จะยังคงนโยบายเดิมต่อไป ไม่เปลี่ยนแปลง โดยจะมีการประชุมในครั้งถัดไปในวันที่ 1 ก.พ. 2023

รัสเซียยืนยัน จะไม่ขายน้ำมันให้ชาติที่กำหนดเพดาน

จากมาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียที่ 60 ดอลลาร์/บาเรล ที่เกิดขึ้นของกลุ่มจี-7 สหภาพยุโรป และออสเตรเลียได้ประกาศไว้ จะเริ่มต้นในวันที่ 5 ธ.ค. นี้ รัสเซียยังคงยืนยันชัดเจนว่า จะไม่ขายน้ำมันให้กับชาติที่กำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบของรัสเซีย

และรัสเซียจะขายน้ำมันดิบให้กับประเทศที่พร้อมจะซื้อน้ำมันดิบรัสเซียในสภาวะตลาดค้าน้ำมันตามปรกติ แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้รัสเซียต้องลดกำลังการผลิตก็ตาม รวมถึงรัสเซียยังคงอยู่ในระหว่างการมองหาแนวทางในการตอบโต้ต่อมาตรการที่เกิดขึ้นนี้ และรัสเซียยังได้เตือนว่า การกำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซียนั้น จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี

ราคาน้ำมันดิบจะกลับมาผันผวน

สำหรับการกำหนดราคาน้ำมันดิบรัสเซียที่ 60 ดอลลาร์/บาเรลนั้น ทางด้านสหภาพยุโรประบุว่า ทุก ๆ 1 ดอลลาร์ที่ถูกกำหนดเพดาน จะทำให้รัสเซียนั้นสูญเสียรายได้ราว 2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งในขณะนี้ ราคาน้ำมันดิบรัสเซียมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ราว 64-65 ดอลลาร์/บาเรล เท่านั้น จะทำให้รัสเซียสูญเสียรายได้ราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์

ในขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า การกำหนดเพดานราคาที่เกิดขึ้นนี้ จะทำให้ราคาน้ำมันดิบเกิดความผันผวน เนื่องจากที่ผ่านมารัสเซียได้ปรับมาหาตลาดในฝั่งเอเซียมากขึ้น โดยเฉพาะจีน และ อินเดีย ซึ่งไม่ได้ร่วมกับมาตรการคว่ำบาตรที่เกิดขึ้นด้วย

นอกจากนี้ การกำหนดเพดานราคาที่เกิดขึ้น ยังสร้างความขุ่นเคืองให้กับประเทศผู้ผลิตน้ำมันในหลายประเทศด้วย เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับรัสเซีย อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศผู้ผลิตรายอื่น ๆ ได้เช่นกัน

ซึ่งที่ผ่านมา รอยร้าวระหว่างสหรัฐฯ กับซาอุดิอาระเบีย เกิดขึ้นบ่อยครั้งในระยะหลังนี้ ทั้งจากการที่สหรัฐฯ ต้องการให้ซาอุฯ เพิ่มกำลังการผลิต แต่ได้รับการปฏิเสธ ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่า อาจจะเป็นผลมาจากการที่ซาอุฯ ถูกโจมตีที่คลังน้ำมันหลายแห่ง และไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างที่คาดหวังไว้จากสหรัฐฯ

แนวโน้มราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น

ภายหลังจากแนวนโยบายของกลุ่มโอเปกพลัส ยืนยันจะยังคงลดกำลังการผลิตลง ทำให้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) ของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น 37 เซนต์ ไปอยู่ที่ 80.35 ดอลลาร์/บาเรล ในขณะที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวสูงขึ้น 39 เซนต์ ไปอยู่ที่ 85.96 ดอลลาร์/บาเรล

โดยนักวิเคราะห์มองว่า แนวโน้มความต้องการน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเพิ่มสูงขึ้น จากการกำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซียที่เกิดขึ้น ร่วมกับแนวโน้มของการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของจีน

นอกจากนี้ หลายฝ่ายคาดว่า ราคาน้ำมันดิบอาจจะกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง หากรัสเซียดำเนินมาตรการตอบโต้ที่ส่งผลกระทบต่อตลาด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง