คัดลอก URL แล้ว
สถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ ร่วมกับ สสส.-อว. หาทางออกด้านสุขภาวะนิสิตนักศึกษาไทย หลังพบความเครียดสะสม

สถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ ร่วมกับ สสส.-อว. หาทางออกด้านสุขภาวะนิสิตนักศึกษาไทย หลังพบความเครียดสะสม

จากตัวเลขการวิจัยขององค์การอนามัยโลกก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 พบคนทั่วโลก 300 ล้านคน เป็นโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่ามีสถิติการฆ่าตัวตายต่อประชากร 100,000 คน สูงเป็นอันดับที่สองของโลก รองจากภูมิภาคยุโรป ซึ่งในประเทศไทยติดอันดับต้นๆ การสูญเสียจากการฆ่าตัวตายเฉลี่ย 6 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน แน่นอนว่าหลังจากที่คนทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด ย่อมเกิดความเครียดสะสมจนทำให้ตัวเลขดังกล่าวถีบตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยยะ

สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเครือข่ายผู้แทนจากมหาวิทยาลัย 15 แห่ง ร่วมผนึกกำลังผ่าน “การประชุมแนวทางการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสุขภาวะในประเทศไทย” เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยเครือข่ายในการขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีในระดับมหาวิทยาลัยและประเทศไทย

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายใต้การสนับสนุนจาก สสส. ยังได้ทำ “โครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจสุขภาวะที่ดีสำหรับนิสิตนักศึกษาไทย ซึ่งถือเป็นเจนเนอเรชั่นสำคัญที่กำลังจะเข้าสู่วัยทำงานและเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศต่อไป และเป็นการยกระดับสุขภาพของประชาชนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของ สสส. ที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวมใน 4 มิติ ทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม

 ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน ที่ปรึกษาโครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงโครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยกล่าวว่าเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจากนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวนทั้งสิ้น 9,050 ชุด จากมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั่วประเทศ จำนวน 15 แห่ง จาก 5 ภูมิภาค ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เพื่อสำรวจพฤติกรรมสุขภาพที่ครอบคลุมในทุกด้าน อาทิ

ประเด็นสุขภาพจิต  พบว่ามีจำนวนนิสิตนักศึกษา ร้อยละ 30 รู้สึกเศร้าบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 4.3 ที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่ามีอาการทางจิตเวชอย่างโรคซึมเศร้า และโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar) เกือบร้อยละ 40 มีความเครียดบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา โดยกว่าร้อยละ 4 ของนิสิตนักศึกษาทั้งหมด เคยคิดฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้งถึงตลอดเวลา ร้อยละ 12 ได้เคยลงมือทำร้ายร่างกายตนเองแล้ว โดยในจำนวนนี้มีถึงร้อยละ 1.3 ที่ได้ลงมือทำร้ายร่างกายตนเองบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา

ประเด็นพฤติกรรมเนือยนิ่งและการบริโภคอาหาร พบว่ามีแนวโน้มรับประทานอาหารเช้าลดลง การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลาเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกันกับการรับประทานอาหารรสจัด และอาหารที่มีไขมันสูง ในขณะที่มีแนวโน้มพฤติกรรมการออกกำลังกายลดลงและมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับ 1 ใน 3 มีการใช้สื่อโซเชียลมีเดียมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้สัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งมีค่าดัชนีมวลกายไม่เหมาะสม โดย 1 ใน 4 เผชิญกับภาวะผอม และมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ส่งผลต่อการเจ็บป่วยหรือการเป็นโรคที่เกี่ยวกับออฟฟิศซินโดรมเพิ่มมากขึ้น

ประเด็นพฤติกรรมการใช้ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติดอื่นๆ พบการสูบบุหรี่ภายในมหาวิทยาลัยสูงกว่าร้อยละ 40 และร้อยละ 9 มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ่อยครั้ง ส่วนการใช้สารเสพติดอื่นๆ เช่น กัญชา กระท่อม พบได้น้อยร้อยละ 0.4 ที่ใช้บ่อยครั้ง และอีกร้อยละ 2 ที่ใช้บ้างนานๆ ครั้ง

ประเด็นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พบว่ามีพฤติกรรมการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งขณะใช้รถเพียงร้อยละ 60 ยิ่งไปกว่านั้นมีเพียง 1 ใน 3 ที่สวมหมวกนิรภัยขณะใช้จักรยานยนต์ ร้อยละ 15 เผยว่าเคยมีการขับขี่ยานพาหนะขณะมึนเมา เกือบครึ่งหนึ่งดื่มในปริมาณมาก นำไปสู่การบาดเจ็บและสูญเสียชีวิต

ประเด็นเพศสภาพและพฤติกรรมทางเพศ ปัจจุบันมีการเปิดกว้างทางเพศมากขึ้น พบว่าประมาณ 1 ใน 4 ที่เคยมีเพศสัมพันธ์ และพบมากในนิสิตนักศึกษาชาย ร้อยละ 33.4 นิสิตนักศึกษาหญิง ร้อยละ 27.9 และกลุ่ม LGBTQIA+ ร้อยละ 19.9 มีการคุมกำเนิดโดยใช้ถุงยางอนามัยเป็นหลักถึงร้อยละ 46.6 แต่ยังมีอีกร้อยละ 5 ที่ไม่ได้ป้องกัน

ประเด็นภาระทางการเงิน พบสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างแตกต่างกัน โดยครึ่งหนึ่งไม่มีหนี้สินทางการเงิน ส่วนมากอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อีกครึ่งหนึ่งมีภาระหนี้สิน พบมากในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ โดยเกือบร้อยละ 40 เป็นหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หนี้ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นหนี้ค่าเล่าเรียน รองลงมาคือ หนี้ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และหนี้ค่าที่พักอาศัย ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงที่พฤติกรรมการเป็นหนี้เป็นวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มหรือพื้นที่ ได้แก่ หนี้หวย หนี้พนันบอล ซึ่งมีการเล่นภายในครัวเรือนและมีอิทธิพลต่อวิถีการใช้จ่ายของนิสิตนักศึกษาด้วย

ประเด็นปัจจัยที่มีผลต่อการเรียน พบความเครียดเป็นสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 20 รองลงมาคือ ปัญหาทางการเงิน ร้อยละ 11.5 ความรู้สึกวิตกกังวล ร้อยละ 10.7 คิดถึงบ้าน ร้อยละ 9.3 ปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ ร้อยละ 7.9 และปัญหาเกี่ยวกับสมาธิ ร้อยละ 7.7 อีกร้อยละ 5 มีปัญหาการติดสื่อสังคมออนไลน์และเกม

ประเด็นความรุนแรงและการล่วงละเมิด พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.7 ไม่เคยโดนกระทำความรุนแรงหรือการถูกล่วงละเมิด ที่เหลือร้อยละ 10 เคยโดนกระทำแล้วด้วยการถูกทำร้ายจิตใจจากคนใกล้ชิด คิดเป็นร้อยละ 32.2 ถูกคุกคามทางวาจา ร้อยละ 32.0 และถูกลวนลาม ร้อยละ 8.9 โดยนิสิตนักศึกษาที่เป็น LGBTQIA+ และในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีสัดส่วนสูงสุด

ดร.ศิริเชษฐ์ ชี้ให้เห็นว่า แนวทางการขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาของประเทศไทยจำเป็นต้องได้รับการขับเคลื่อนในระดับนโยบายภายใต้ 2 แนวทาง เริ่มจากการพัฒนาฐานข้อมูลสถานการณ์ด้านสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในประเทศไทย เพื่อทำให้เกิดการรับรู้สถานการณ์ระดับประเทศหรือแนวทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยอื่นที่เป็นปัจจุบัน นำข้อมูลมาใช้เปรียบเทียบและขับเคลื่อนนโยบายที่เหมาะสมสำหรับมหาวิทยาลัยของตนในแต่ละแห่ง โดยเก็บข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแนวทางการเฝ้าระวังหรือป้องกันแบบ “เชิงรุก” ผ่านการตอบแบบสอบถาม “แบบประเมินสุขภาวะระดับมหาวิทยาลัย” ในรูปแบบออนไลน์ และสร้างกลไกเพื่อนช่วยเพื่อน (Health-me Buddy) เพื่อเสริมการทำงานของแต่ละมหาวิทยาลัยในการดูแลและเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตของเพื่อนร่วมชั้นเรียน ผ่านการอบรมและทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านร่างกายและจิตวิทยา และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ

นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สำนัก 8) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าแผนการพัฒนาประเทศ ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะในด้านการสาธารณสุขนั้น ได้มีการเน้นถึงความสำคัญของการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เด็กวัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน วัยสูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเรียนระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังจะเข้าสู่วัยทำงานในระยะเวลาต่อไป แนวโน้มพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับสุขภาพและสังคมปัจจุบันของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เช่น พฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พฤติกรรมทางเพศ ยาเสพติด การออกกำลังกาย สุขภาพจิต การกลั่นแกล้งที่แสดงออกด้วยคำพูด หรือพฤติกรรมที่ก้าวร้าวต่อผู้อื่น อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาทาง สังคมและสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การทำความเข้าใจพฤติกรรมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของนักศึกษามหาวิทยาลัย ในประเทศไทย รวมทั้งการศึกษาผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

“ผลสำรวจจากโครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยครั้งนี้ จะถูกนำไปเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ของ สสส. เพื่อนำไปสู่การผลักดันนโยบายสุขภาวะในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้จริงและมีประสิทธิภาพ” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

ด้าน ดร.ลัทธจิตร มีรักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวปิดท้ายว่า การประชุมในครั้งนี้จะทำให้เกิดการรับรู้ถึงกลไกในการขับเคลื่อนประเด็นสุขภาวะในมหาวิทยาลัยที่เหมาะสมตามแต่ละบริบทของมหาวิทยาลัย ซึ่งทางกระทรวงฯ จะนำผลการศึกษานี้ไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการดำเนินงานในอนาคตร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมพร้อมขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาวะที่เหมาะสมสำหรับนิสิตนักศึกษาในประเทศไทยต่อไป