คัดลอก URL แล้ว
เครือข่ายทวงคืนชายหาด 91 องค์กร ร้องนายกฯ คัดค้านการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น

เครือข่ายทวงคืนชายหาด 91 องค์กร ร้องนายกฯ คัดค้านการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น

KEY :

วันนี้ ( 25 พฤศจิกายน 2565) ที่ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล อาคารสำนักงาน ก.พ. (เดิม) ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กทม. ตัวแทนเครือข่าย กลุ่ม บีช ฟอร์ ไลฟ์ (Beach for life) และตัวแทนเครือข่ายขบวนการภาคประชาชน ทวงคืนชายหาด 91 องค์กรทั่วประเทศ ได้เดินทางมายื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล เพื่อทวงคืนชายหาดจากการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น

โดย นาง กรรณิการ์ แพแก้ว ตัวแทนเครือข่ายทวงคืนชายหาด 91 องค์กรฯ กล่าวว่า การเดินทางมายื่นหนังสือเพื่อทวงคืนชายหาดและคัดค้านการกำเเพงกันคลื่นนี้ เนื่องจากองค์กรที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ 91 องค์กรเห็นพ้องร่วมกันว่า การดำเนินการในการป้องกันชายฝั่งที่ผ่านมาของรัฐบาลนั้น สร้างปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลโดยหน่วยงานต่างๆที่มีอำนาจนั้น เลือกใช้มาตรการป้องกันชายฝั่งด้วยโครงสร้างทางวิศวกรรม โดยเฉพาะการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น และได้ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แต่ถึงอย่างไรก็ตามปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทยกลับทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และในขณะเดียวกันนั้น ได้เกิดกระแสการคัดค้านโครงการของรัฐในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากภาคประชาชนและชุมชนในหลายพื้นที่

ทั้งนี้ “ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและความขัดแย้งภายในชุมชนจากการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่ผ่านมา ล้วนเป็นผลพวงจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล กล่าวคือ การให้กรมโยธาธิการและผังเมือง มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 กรกฎาคม 2534 และ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2539 ทำให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กลายเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการป้องกันชายฝั่ง “

อีกทั้งการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจาก โครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศแนบท้ายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2556 ทำให้หลักประกันสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชนและชุนชนนั้นหายไป ทำให้โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขาดการตรวจสอบความโปร่งใสและความถูกต้องของโครงการ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กรมโยธาธิการและผังเมือง อาศัยช่องว่างทางกฎหมายดังกล่าวดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นบนชายหาดในประเทศไทย จนเกิดการระบาดของกำแพงกันคลื่น อันเป็นเหตุให้ชายหาดไทยถูกทำลายจนอยู่ในภาวะวิกฤต

ข้อมูลงบประมาณในการป้องกันชายฝั่ง ด้วยการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น

จากข้อมูลการใช้งบประมาณในการป้องกันชายฝั่ง ด้วยการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมเจ้าท่า และกรมโยธาธิการและผังเมือง พบว่าหลังการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) มีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้น 125 โครงการทั่วทุกชายหาดในประเทศไทย ใช้งบประมาณในการดำเนินการรวม 8,487,071,100 บาท โดยกรมเจ้าท่า ดำเนินการโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น จำนวน 18 โครงการ งบประมาณ 1,792,171,000 บาท

ในส่วนกรมโยธาธิการฯ ดำเนินการโครงการกำแพงกันคลื่น 107 โครงการ ใช้งบประมาณ 6,694,899,400 บาท รวมระยะทางการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเฉพาะของกรมโยธาธิการ 70.413 กิโลเมตรตลอดแนวชายฝั่ง จากตัวเลขการใช้จ่ายงบประมาณนี้ สะท้อนให้เห็นว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กลายเป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นมากที่สุดต่อเนื่องทุกปี แต่ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นต้นเหตุในการทำให้เกิดความขัดแย้งในหมู่พี่น้องประชาชนภายในชุมชนที่กรมโยธาธิการฯ เข้าไปดำเนินโครงการ

ผลกระทบจากโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น

โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการฯ ที่ผ่านมานั้น ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชายหาด ทำให้ชายหาดนั้นหายไปอย่างถาวร ดังที่เกิดขึ้นกับชายหาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี หาดปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หาดแหลมเสด็จ จังหวัดจันทบุรี หาดทรายแก้ว จังหวัดสงขลา หาดหน้าสตน จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น

ชายหาดเหล่านี้ได้รับความเสียหายจากโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการฯ ทั้งสิ้น และเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างต่อเนื่องเป็นเหตุให้ต้องก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งในหลายพื้นที่ที่มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในพื้นที่ชายหาดท่องเที่ยว เช่น หาดชะอำ หาดปราณบุรี ได้สร้างความเสียหายให้การท่องเที่ยวริมชายฝั่งทะเล ส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลงเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการร้านค้าในแถบหาดท่องเที่ยวนั้นรายได้สูญลงอย่างชัดเจน

จากปัญหาที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า การเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการให้อำนาจกรมโยธาธิการฯ ซึ่งไม่มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาชายฝั่งทะเลที่มีความซับซ้อนและเป็นพลวัตินั้น ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรหาดทราย ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรสำคัญของชุมชน ในฐานะเป็นพื้นที่แห่งชีวิต เป็นพื้นที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และพื้นที่แห่งความสุขของประชาชนที่ใช้ประโยชน์ทรัพยากรหาดทราย เมื่อหาดทรายถูกทำลายด้วยกำแพงกันคลื่นจากกรมโยธาธิการฯ วิถีวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าและมูลค่าที่เกิดขึ้นจากการมีหาดทรายได้ถูกทำลายไปด้วย

3 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล

กลุ่ม Beach for life และ ภาคีเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด 91 องค์กร ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ดำเนินการ 3 ข้อเรียกร้องสำคัญนี้ เพื่อคุ้มครองและปกป้องชายหาดจากการถูกทำลายด้วยกำแพงกันคลื่นและกรมโยธาธิการและผังเมือง

  1. ขอให้คณะรัฐมนตรี มีคำสั่งยกเลิกมติคณะที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 กรกฎาคม 2534 และ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2539 ที่ให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมือง ในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า กรมโยธาธิการฯไม่มีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันและจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า กรมโยธาธิการฯ สร้างความเสียชายหาดต่อทรัพยากรชายหาด แม้ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการสร้างกำแพงกันคลื่น เพื่อทำลายชายหาด
  2. ขอให้คณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเอาโครงการกำแพงกันคลื่นกลับมา เป็นโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ดังเดิม
  3. ขอให้คณะรัฐมนตรี มีคำสั่งฟื้นฟูสภาพชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น โดยเฉพาะหาดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย เพื่อฟื้นฟูชายหาดให้กลับมาดังเดิม และส่งเสริมการท่องเที่ยว

กลุ่ม Beach for life และ ภาคีเครือข่ายทวงคืนชายหาด ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตามข้อเสนอที่ทางกลุ่ม Beach for life และเครือข่ายฯ เรียกร้องโดยเร็วที่สุด พร้อมได้เรียกร้องให้ภาคประชาชนช่วยกันจับตาการเรียกร้องในเรื่องดังกล่าวนี้ เนื่องจากทางกลุ่มเคยยื่น 8 ข้อเรียกร้องคัดค้านโครงการนี้ต่อ ครม.สัญจรที่ จ.กระบี่ มาแล้วแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง วันนี้จึงเดินทางมากรุงเทพฯ แต่ยื่นเพียง 3 ข้อง ซึ่งประกาศว่า หลังจากนี้ภายใน 10 วันถ้าไม่มีคำตอบจากรัฐบาลจะกลับมาอีกครั้ง โดยพาประชาชนที่รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวขึ้นมาด้วย


ภาพ – วิชาญ โพธิ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง