พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาเครื่องยนต์ที่จะใส่ในเรือดำน้ำไทย โดยย้ำว่า กองทัพเรือยังมีความต้องการเรือดำน้ำในปัจจุบัน เนื่องจากสถานการณ์โดยรอบในภูมิภาคยังมีความขัดแย้งและมีความจำเป็นที่ต้องมีกำลังของกองทัพเรือเพียงพอในการป้องปรามหรือสนับสนุนรัฐบาล แก้ปัญหาหากมีเหตุการณ์หรือสถานการณ์วิกฤต
สำหรับโครงการเรือดำน้ำปัจจุบันอยู่ในขั้นการพิจารณาเครื่องยนต์ที่ทาง csoc นำเสนอขึ้นมา (เครื่องยนต์ chd 620 ที่จีนผลิตเอง) กองทัพเรือได้ตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการเรือดำน้ำ โดยมีเสนาธิการทหารเรือเป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการก็ได้เชิญผู้แทน csoc ผู้ช่วยทูตทหารเรือจีนประจำประเทศไทย มาเจรจาและกำหนดที่จะประชุมร่วมกันระหว่างกองทัพเรือกับตัวแทน csoc จากจีน ซึ่งเดิมจะประชุมกลางเดือนพฤศจิกายน แต่เนื่องจากติดสถานการณ์โควิดจึงขอเลื่อนไปปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม
ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้จัดตั้งคณะทำงานพิจารณาด้านเทคนิค ขึ้นมา ซึ่งมีผู้แทนจากกรมอู่ทหาร เรือกองเรือดำน้ำ สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ และเจ้าหน้าที่เทคนิค เพื่อพิจารณาข้อมูลทางเทคนิคตามที่กองทัพเรือต้องการ
ประเด็นที่ 1 คือ คุณลักษณะสำคัญของเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเรือดำน้ำ
ประเด็นที่ 2 ความปลอดภัยของเครื่องยนต์ที่นำเสนอให้กองทัพเรือ
ประเด็นที่ 3 ขีดความสามารถของเครื่องยนต์ที่จีนเสนอติดตั้งต้องไม่ด้อยกว่าเครื่องยนต์ mtu 396 ของเยอรมัน ที่เสนอไว้แต่แรก
ประการที่ 4 การสนับสนุนด้านการรับประกัน การซ่อมบำรุง และอะไหล่ของเครื่องยนต์ดังกล่าว ต้องเป็นไปตามข้อกำหนด ซึ่งฝ่ายจีนต้องนำข้อพิจารณานี้มานำเสนอให้กองทัพเรือ ในการประชุมครั้งนั้น นอกจากนี้ยังขอให้ส่งผู้แทนด้านเทคนิคของกองทัพเรือ ไปดูการทดสอบเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของจีนที่จะเอามาติดตั้งให้เรือดำน้ำไทย เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเครื่องยนต์มีขีดความสามารถพอที่จะทดแทน mtu 396 ได้หรือไม่
ส่วนจะใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะตัดสินใจนั้น ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ต่อเรือดำน้ำจากจีน โดยกองทัพเรือปากีสถาน ก็สั่งต่อเรือดำน้ำรุ่นเดียวกับกองทัพเรือไทย และมีการประสานงานกับกองทัพเรือปากีสถาน ขณะเดียวกันทราบว่าจีนมีการทดสอบเครื่องยนต์เสร็จในระยะที่ 1 แล้ว และมีข้อมูลเพียงพอที่จะนำเสนอให้ทั้ง ทร.ปากีสถาน และ ทร.ไทย หลังจากนั้นจะมีการทดสอบในขั้นต่อไป
ซึ่งการทดสอบของจีนจะต้องทดสอบทุกระบบจนได้ข้อมูลที่ชัดเจน มีการเดินเครื่องในจำนวนชั่วโมงตามข้อกำหนด และนำมาซึ่งข้อมูลนำเสนอให้ทั้ง ทร.ไทย และ ทร.ปากีสถาน เรื่องนี้พยายามติดตามประสานงานทั้ง ทร.ปากีสถาน และทางบริษัทด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องยนต์นี้สามารถทดแทนได้จริงหรือไม่ โดยกองทัพเรือจะกำหนดให้กองทัพเรือจีนต้องเป็นผู้รับประกันเครื่องยนต์ดังกล่าวจากบริษัท ว่ามีขีดความสามารถเพียงพอที่จะใช้งาน และติดตั้งให้กับเรือดำน้ำของไทย ซึ่งเป็นข้อรับประกันที่สำคัญ