คัดลอก URL แล้ว
“ก้าวไกล” ฟ้องศาลปกครอง สั่ง “ระงับเซ็นสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้ม” ชี้ อาจทำให้เกิดค่าโง่รอบใหม่ 6.8 หมื่นล้าน สร้างภาระปชช.

“ก้าวไกล” ฟ้องศาลปกครอง สั่ง “ระงับเซ็นสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้ม” ชี้ อาจทำให้เกิดค่าโง่รอบใหม่ 6.8 หมื่นล้าน สร้างภาระปชช.

วันนี้ 14 พฤศจิกายน 2565 นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล เป็นผู้ฟ้องที่ 1 -2 เข้ายื่นฟ้อง

  1. รมว. กระทรวงคมนาคม
  2. คณะกรรมการการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
  3. คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางแค- มีนบุรี
  4. กระทรวงคมนาคมเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้มีคำพิพากษาสั่งยกเลิกการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) และสั่งให้มีการประมูลรอบใหม่โดยให้มีการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรมอย่างน้อย บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯจำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัทบริษัททางด่วนทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพฯจำกัด (มหาชน) หรือ BEM 2 เจ้าใหญ่ต้องเข้าร่วมได้

อีกทั้งสั่งรฟม. ต้องชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐ สภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ปฏิเสธอ้างว่าอยู่ในกระบวนการของศาล เพราะมีเรื่องจำเป็นหลายประเด็นที่ประชาชนควรรู้ก่อนมีการเซ็นสัญญา และขอให้เปลี่ยนคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการประมูลรอบใหม่ นอกจากนี้ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน และกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาโดยมีคำสั่งระงับการเซ็นสัญญาไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีข้อเคลือบแคลงหลายประเด็น ทั้ง การเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลกลางอากาศ การยกเลิกการประมูลครั้งก่อน ทั้งที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาไปแล้วว่าการยกเลิกการประมูลดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายการกีดกัน BTS ไม่ให้มีสิทธิ์เข้าประมูลรอบใหม่ ทำให้เกิดคำถามว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พยายามรักษาผลประโยชน์ของรัฐจริงหรือไม่ และเหตุใดจึงปล่อยให้เกิดเรื่องอย่างนี้ ที่สำคัญตอนประมูลรอบแรกหาก BTS ชนะรัฐจะต้องจ่ายอุดหนุนเพียง 9,675 ล้านบาท

แต่การประมูลรอบ2 ที่ BEM ชนะรัฐต้องจ่ายอุดหนุนมากถึง 78,288 ล้านบาท ทั้งที่ในทางเทคนิคเป็นเรื่องการสร้างสิ่งเดียวกัน ขนาดและและระยะทางเท่ากัน แต่ราคากับมีส่วนต่างถึง 6.8 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านมาในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐ สภาผู้แทนราษฎร เคยให้โอกาสรฟม.มาชี้แจง 2 ครั้งแต่ก็จงใจเบี้ยว เท่ากับปฏิเสธอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ จึงจำเป็นต้องมาพึ่งกระบวนการของศาลปกครอง

นอกจากนี้ ยังเห็นว่า รมว. คมนาคมต้องออกมาชี้แจงเรื่องนี้ไม่ควรโบ้ยให้คนอื่นชี้แจงแทน ซึ่งต้องตอบให้ได้ว่าส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้านหายไปไหนเหตุใด BTS จึงถูกกีดกันทั้งที่รู้กันอยู่ว่าเมืองไทยมีแค่ 2 เจ้าใหญ่เท่านั้น

“ขณะนี้กำลังจะมีการปันผลประโยชน์สำเร็จ หากศาลปกครองไม่ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เร็วๆนี้เรื่องจะถึงคณะรัฐมนตรีและก็คงจะอนุมัติเมกะดีลในตำนานนี้ไปอย่างน่ากังขา แล้วรัฐบาลหน้าจะตามไปแก้ไข ก็ทำได้ลำบาก จึงอาจกลายเป็นค่าโง่ก้อนใหม่ที่เป็นภาระให้ประชาชนต้องรับภาระจ่ายภาษีถึง 6.8 หมื่นล้าน”


ข่าวที่เกี่ยวข้อง