คัดลอก URL แล้ว
คณะบริหารวิทยาลัยนานาชาตอิสลามกรุงเทพเข้าพบรมต.กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ฯ

คณะบริหารวิทยาลัยนานาชาตอิสลามกรุงเทพเข้าพบรมต.กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ฯ

คณะผู้บริหารวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพได้เข้าพบ ศาสตราจารย์พิเศษ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อแนะนำวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก โดยมี ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม คณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ พร้อมด้วย          อ.กับตันอำพล ขำวิลัย รองคณบดีฝ่ายวิชาการ อ.สราวุธ และซัน รองคณบดีฝ่ายบริหาร ดร.บัณฑิต อารอมัน ผู้ช่วยคณบดี ดร.สมีธ อีซอ ผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจอิสลาม และคุณกุณภาณัฏฐ์  สุวรรณนุรักษ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาหลักสูตร

          ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม คณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพได้กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันสำคัญของวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ซึ่งมีโอกาสได้เข้าพบท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อแนะนำวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ และรับฟังข้อเสนอแนะจากท่านรัฐมนตรีฯ โดย ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม ได้รายงานว่า วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 และเป็นวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่มีการเรียนการสอนที่ใช้หลักการบูรณาการของศาสตร์ด้านธุรกิจและศาสตร์ของศาสนาเข้าด้วยกัน

ปัจจุบันวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก มีการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลามใน 3 กลุ่มวิชา 1) กลุ่มการจัดการบริการฮัจย์และอุมเราะห์ 2) กลุ่มอุตสาหกรรมฮาลาล และ 3) กลุ่มการเงินอิสลาม ล่าสุดวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ ได้เปิดหลักสูตรปรัญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาบริหารธุรกิจอิสลาม โดยมีวิชาเอก 5 กลุ่ม 1) กลุ่มอุตสาหกรรมฮาลาล 2) กลุ่มการจัดการบริการฮัจย์และอุมเราะห์ 3) กลุ่มการเงินอิสลาม 4) กลุ่มวิชานวัตกรรมธุรกิจไทย ตะวันออกกลาง และ 5) กลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและสุขภาพเชิงฮาลาล ทั้ง 3 ระดับนี้วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพมีศึกษาทั้งหมด 215 คน และมีนักศึกษาต่างชาติจากประเทศซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ และซูดาน เข้ามาเรียนกว่า 70 คน

ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ข้อแนะนำและข้อแสนอแนะกับคณะผู้บริหารวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริกว่า เมื่อเรามองมุสลิม เราอาจต้องมองมุสลิมทั่วโลกที่มีจำนวนประมาณ 2,000 ล้านคน ซึ่งจากประสบการณ์ที่ได้เยี่ยมเยือนประเทศมุสลิมทั้งในตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และอาเซียน ทำให้ทราบถึงความเก่งของบรรพบุรุษมุสลิมทั่วโลกที่มีทั้งวิชาความรู้ด้านทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไปอย่างลงตัว รวมทั้งได้มีโอกาสเรียนรู้อารยธรรมมุสลิมที่ยังคงความงดงามทางสถาปัตยกรรมอิสลามในประเทศอินเดียด้วย เหล่านี้เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่ส่งผลให้มุสลิมในยุคก่อน มีความเข้มแข็งสามารถปกครองอาณาจักรของมุสลิมให้มีความรุ่งเรืองได้หลายศตวรรษในอดีต การที่จะทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าได้นั้นต้องมาจากความรู้ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ ด้านการแพทย์ นวัตกรรม การทำการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้กลุ่มชนนั้น ๆ มีความรุ่งเรื่อง มีความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาการ และศาสตร์ต่าง ๆ และชาวมุสลิมก็เคยมีอาณาจักรที่รุ่งเรืองถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งนี้ หากจะเพิ่มศักยภาพของมุสลิมไทย ดังนั้น “มุสลิมไทยต้องดี ต้องเก่ง และมีคุณธรรมให้เหมือนกับอารยธรรมอิสลามที่เคยรุ่งเรืองในอดีต”

นอกจากนี้ท่านรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวชื่นชมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกริกว่า มีวิสัยทัศน์ที่เปิดกกว้างและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาของมุสลิมไทย ซึ่งการเปิดวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพนั้น เป็นทิศทางที่ถูกต้องแล้ว และเราอาจได้เห็นมิติใหม่ ๆ เกิดขึ้นในสังคมไทยหลังจากนี้ ทำให้กลุ่มมุสลิมไทยต้องเร่งพัฒนาศักยภาพ แสวงหาความรู้ เป็นผู้มีความสามารถ เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยกำลังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับโลกอาหรับอย่างต่อเนื่อง หลังจากการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดิอาระเบีย ดังนั้นการรองรับตลาดแรงงานในด้านอุตสาหกรรมฮาลาล และด้านอื่น ๆ จึงเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในระยะยาว

ที่สำคัญสถาบันการศึกษามีส่วนสำคัญที่จะเป็นสะพานเชื่อมมิติทางการศึกษาและเป็นกุญแจกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตลอดจนเสริมสร้างโอกาสด้านความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาไทยและประเทศอาหรับ ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอาจมีกำหนดเดินทางไปเยือนประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านการศึกษากับมหาวิทยาลัยชั้นนำในระยะต่อไป