KEY :
- คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการด้านสื่อ คัดค้าน กสทช. นำเงินจากกองทุน กทปส. 1,600 ล้านบาท สนับสนุนซื้อค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022
- เสนอให้การกีฬาแห่งประเทศไทยพิจารณาหาแนวทางความร่วมมืออื่นที่ไม่กระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ
- เรียกร้องให้คณะกรรมการ กสทช.และ กทปส.ชี้แจงสถานะทางการเงินล่าสุดของกองทุน
วันนี้ (8 พ.ย. 65) ที่ หอประชุมคณะนิเทศศาสตร์ ชั้น 11 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กทม. รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จะมีวาระการประชุมพิจารณาสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 เป็นเงินจำนวน 1,600 ล้านบาท ตามข้อเสนอของกีฬาแห่งประเทศไทยนั้น เห็นว่าการจะนำเงินจากบัญชีของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส.
ซึ่งเป็นเงินส่วนกลางเพื่อประโยชน์สาธารณะไปใช้สนับสนุนการถ่ายทอดสดการแข่งขันบอลโลกรอบสุดท้าย ถือเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกองทุน และมีโอกาสที่จะกระทบต่อสภาพคล่องของเงินทุนในกองทุน เพราะแหล่งเงินที่ กสทช.จะนำมาใช้ในกรณีนี้คือเงินจากบัญชีที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์บัญชีที่ 1 ซึ่งเป็นบัญชีหลักของกองทุนที่ต้องสนองตอบวัตถุประสงค์ของกองทุนทุกข้อ และบัญชีที่ 2 เป็นเงินสำหรับแผนงาน USO วัตถุประสงค์หลักคือการสนับสนุนให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีความต้องการหลากหลายในสังคมได้เข้าถึงบริการด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ที่ผ่านมา กสทช.เคยให้การสนับสนุนเงินจากกองทุนจำนวน 240 ล้านบาท เพื่อให้การกีฬาแห่งประเทศไทยซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการกีฬาโอลิมปิกจำนวน 5 รายการ โดยให้เหตุผลว่าเป็นรายการที่มีความหลากหลายของชนิดกีฬาและมีกีฬาหลายชนิดที่คนไทยเข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งเข้าข่ายตรงตามวัตถุประสงค์ของกองทุน แต่กรณีการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายนี้ แม้จะมีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกระจายเสียงและโทรทัศน์ แต่เป็นประเภทกีฬาเฉพาะกลุ่มที่มีคนให้ความสนใจจำนวนหนึ่งเท่านั้น และคนไทยไม่ได้มีส่วนร่วมแข่งขันด้วย จึงมองว่าไม่ได้เข้าข่ายตรงตามวัตถุประสงค์ของกองทุนทั้งบัญชีที่ 1 และบัญชีที่ 2 ซึ่งนับว่าเป็นการสูญเสียเงินจำนวนมากที่ควรใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะไปกับการถ่ายทอดสดเฉพาะฟุตบอลโลกในระยเวลา 1 เดือนเท่านั้น
ดังนั้น ทางคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,คณะวารสารศาสตร์ และสื่อมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการด้านสื่อ จึงขอคัดค้านการนำเงินจากกองทุน กทปส.ไปใช้ในกรณีดังกล่าว พร้อมเสนอให้การกีฬาแห่งประเทศไทยพิจารณาหาแนวทางความร่วมมืออื่นที่ไม่กระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ และเรียกร้องให้คณะกรรมการ กสทช.และ กทปส.ชี้แจงสถานะทางการเงินล่าสุดของกองทุน เนื่องจากเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา เว็บไซต์กองทุน กทปส. ได้เผยแพร่มติที่ประชุม
โดยได้ระบุสถานะเงินคงเหลือของกองทุนบัญชีที่ 1 จำนวน 3,435 ล้านบาท และบัญชีที่ 2 คงเหลือ 804 ล้านบาท แต่เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีรายงานข่าวจากสำนักข่าวอิศรา ระบุข้อมูลจากวงใน กสทช.ว่า ปัจจุบันสถานะเงินคงเหลือของกองทุนที่สามารถนำมาใช้กับกรณีนี้ได้ ประมาณกว่า 2,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเห็นได้ว่างบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์คงเหลือไม่มาก ขณะที่ปัจจุบันยังมีประชาชนและผู้ด้อยโอกาสจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ จึงกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อโอกาสในการเข้าถึงบริการของกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของคนไทยในวงกว้าง รวมถึงต้องการให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องนี้อย่างโปร่งใส่ เป็นธรรม เพื่อหาทางออกของปัญหานี้โดยไม่กระทบผลประโยชน์สาธารณะ
รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดา กล่าวว่า เข้าใจว่าเป็นรายการแข่งขันที่สำคัญ แต่ กสทช. ไม่ควรที่จะนำงบประมาณของกองทุนมาซื้อลิขสิทธิ์ โดยในระยะสั้น เสนอว่าควรเจรจากับองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพิจารณาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดิน หรือมัสต์แฮฟและมัสต์แครี่ คือหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สําคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะทางฟรีทีวี และหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป โดยการหารือกับเอกชน เพื่อให้เอกชนสามารถเข้าร่วมประมูลลิขสิทธิ์ได้ ส่วนในระยะยาวควรจะต้องนำกฎมัสต์แฮฟและมัสต์แครี่มาพิจารณาปรับหลักเกณฑ์ในอนาคต
โดยหากในวันพรุ่งนี้ กสทช.ยืนยันว่าจะใช้แหล่งเงินจากกองทุนดังกล่าว กสทช.จะต้องชีแจงเงินคงเหลือของกองทุนและแผนงานว่สมีโครงการใดบ้างที่ได้รับผลกระทบจนถึงปีหน้า
ทั้งนี้เมื่อถามถึงกรณีที่หากแลกงบประมาณจำนวน 1,600 ล้านบาทกับการที่จะได้เม็ดเงินหมุนเวียนกลับมาจากการรับชมหรือไม่นั้น มองว่า ที่ผ่านมาเอกชนยังไม่กล้าลงทุน เพราะลงทุนไปแล้วไม่ได้รายได้กลับมา เนื่องจากเศรษฐกิจในขณะนี้ยังคงวิกฤต จึงยังไม่มีใครกล้าลงทุน จึงมองว่าไม่คุ้มกับการที่จะใช้เงินของกองทุนลงทุนซึ่งหากลงทุนไปแล้วอาจทำให้เศรษฐกิจนำไปสู่ความย่ำแย่ได้
อย่างไรก็ตาม จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยขอให้มติที่ประชุมออกมาเป็นไปอย่างชัดเจน พร้อมเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบต่อไป ยืนยันว่า เห็นด้วยที่จะให้มีการถ่ายทอดสด เพราะคนควรได้ดูถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก แต่ไม่ควรใช้งบของ กสทช. ควรใช้งบประมาณในส่วนอื่น และพิจารณาถ่ายทอดเพียงบางแมตเท่านั้น เพื่อลดต้นทุนในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่านทอดสด
ภาพ – วิชาญ โพธิ