คัดลอก URL แล้ว
ส.ส.เอกภพแนะรื้อมาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้า

ส.ส.เอกภพแนะรื้อมาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้า

ส.ส.เอกภพ เผยผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ายังคงถูกจับกุมดำเนินคดีโดยมิชอบด้วยการอ้างพรบ.ฉบับเก่า ชี้ให้เห็นว่าการแบนบุหรี่ไฟฟ้าที่ทำไม่ได้จริงมีผลเสียในทางปฏิบัติและกระทบสิทธิประชาชน เปิดหลักฐานใหม่ชี้ไม่มีความสัมพันธ์ของการเป็นโรคหัวใจกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ถามกลับฝ่ายคัดค้านบุหรี่ไฟฟ้าว่าอยากให้คนสูบบุหรี่ต่อไปหรือ ชี้ไทยจำเป็นต้องรื้อมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าและควรให้สิทธิคนไทยกว่า 10 ล้านคนที่สูบบุหรี่ได้มีทางเลือก

นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ หรือหมอเอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 1 จ.เชียงราย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับประเด็นการจับกุมบุหรี่ไฟฟ้าและมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบัน ระบุว่า “ช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา หลังจากที่กรรมาธิการการสาธารณสุขได้ตั้งอนุกรรมาธิการศึกษาเรื่องปัญหาควบคุมยาสูบ ผมได้รับเรื่องร้องเรียนจากหลากหลายกรณี หลายพื้นที่ว่าตัวเองหรือญาติพี่น้องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า จากบันทึกการจับกุมที่หลายคนส่งมาให้ดู พบว่าเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาโดยอ้างอิง พรบ.ศุลกากร ฉบับเก่า ยังมีการอ้างอิงมาตรา 27ทวิ ซึ่งไม่มีใน พรบ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และอ้างอิงมาตรา 242 กับ 246 ซึ่งได้มีเอกสารของสำนักงานตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค และ มีการตีความโดยตัวแทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด ว่า บุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็น “ของต้องห้ามนำเข้า” ไม่ได้อยู่ใน พรบ.ศุลกากรฉบับล่าสุดที่มาตรา 242 กับ 246 ตัดคำว่า ของต้องห้าม ออกไปจากมาตรานี้ต่างจากกฎหมายฉบับเดิม”
นพ.เอกภพยังได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีการจับกุมผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าอีกว่า ยังคงมีการจับกุมดำเนินคดีและแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ใช้ให้เห็นอยู่ รวมไปถึงการจับกุมเข้าห้องขัง ตั้งเงินประกันตัวสูง เป็นผลจากการที่มาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้านั้นใช้ไม่ได้จริง ส่งผลเสียและลิดรอนสิทธิของประชาชน

ส.ส.หมอเอกตั้งข้อสงสัยเพิ่มเติมในเรื่องที่มีโฆษณาต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้าออกมาให้เห็นกันได้ทั่วไปว่า สรุปแล้วบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายกว่าบุหรี่มวนหรือไม่ พร้อมยกตัวอย่างการศึกษาทางการแพทย์ที่มีข้อสรุประบุในเอกสารของ World Heart Federation ชี้ว่าอัตราความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจากคนไม่สูบบุหรี่ที่ 1.79 เท่า ขณะที่คนสูบบุหรี่มวนนั้นเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.72 เท่า ซึ่งสรุปได้ว่าคนสูบบุหรี่มวนนั้นเสี่ยงต่อการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจมากกว่า พร้อมย้ำว่าการไม่สูบบุหรี่เลยเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ควรให้สิทธิคนไทยที่สูบบุหรี่กว่า 10 ล้านคนได้มีทางเลือกด้วย

สำหรับประเด็นบุหรี่ไฟฟ้ากับเยาวชนที่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง นพ.เอกภพได้ยกเอกสารจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีการระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีผลดีต่อสาธารณสุขมากกว่าความเสี่ยงต่อการเข้าถึงของเยาวชน

“ผมย้ำเสมอว่าการไม่สูบบุหรี่เลยเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ในเมื่อมีข้อมูลว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน จึงต้องดูข้อมูลให้ครบถ้วน ประเทศไทยมีอัตราผู้สูบบุหรี่ลดลงดน้อยมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าเราจะใช้งบประมาณรณรงค์ไปหลายพันล้านบาท เราจึงจำเป็นต้องหาวิธีการใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ รื้อเครือข่ายความคิดเก่าที่เกาะกุมกันด้วยผลประโยชน์ เพื่อให้ได้แนวทางใหม่ในการจัดการควบคุมยาสูบของประเทศ แนวทางใหม่ที่คำนึงถึงสิทธิของผู้สูบและไม่สูบบุหรี่ ชีวิตชาวไร่ยาสูบ ความเป็นจริง ไม่อคติต่อข้อมูลทางวิชาการ และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน”

ที่มา: https://www.facebook.com/DoctorEkkapob/posts/pfbid0CX5mz8cWKV4Ttf7N8JcdvH1q4rtdj4BJkZEuuXo9KKi14DQ298YDpfdvhtZDVZ8fl