คัดลอก URL แล้ว

นายกฯ โปรยยาหอม ย้ำสัมพันธ์ใกล้ชิด ไทย-จีน

วันนี้ ( 3 พฤศจิกายน 65) ที่ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแชงกรี-ลา ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนา “Thailand – China Investment Forum” โดยมีนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ต้อนรับ

โดยนายกฯ กล่าวยินดีต่อการจัดงาน Thailand-China Investment Forum ว่าเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน โดยในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านนโยบายการเปิดประเทศ ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการค้า การลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของตัวเลขลงทุนจากต่างประเทศในปีนี้

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน ว่ามีความแน่นแฟ้นมีพลวัตทุกระดับ จีนถือเป็นคู่ค้าและคู่มิตรที่สำคัญของไทย และในปี 2565 นี้ ถือเป็นปีครบรอบหนึ่งทศวรรษของความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างกัน ยืนยันว่า รัฐบาลไทยพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลจีน เพื่อพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนสู่ทศวรรษหน้าในทุกมิติ อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ดังคำกล่าวที่ว่า จีน – ไทย ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน นอกจากนี้ไทยได้สนับสนุนบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของรัฐบาลจีน ตามแผนริเริ่มการพัฒนาโลก (Global Development Initiative: GDI) ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย ที่มุ่งเน้นความเจริญรุ่งเรือง โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง นำไปสู่การเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุมในทุกมิติ


รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งยกระดับความเชื่อมโยงทางด้านโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ เชื่อมโยงกับภูมิภาคและโลก รวมถึงการพัฒนา EEC เชื่อมโยงกับข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) รวมทั้งพัฒนาปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุน การปรับปรุงร่างข้อเสนอยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อดึงดูดกิจการใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพมาลงทุนในไทย

นอกจากนี้ ไทยถือเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ในภูมิภาค รัฐบาลพร้อมผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นจุดยุทธศาสตร์การคมนาคมไร้รอยต่อ สอดคล้องกับการยกระดับการพัฒนา EEC เชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) ของจีน แสดงให้เห็นความพร้อมของไทยในการรองรับการลงทุนจากจีน ในสาขาที่จีนมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและดิจิทัล

ทั้งนี้ การเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานของการลงทุนระหว่างไทยกับจีนนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงโครงการรถไฟจีน – ลาว กับระบบรางของไทย จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ การขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยว ทำให้เกิดประโยชน์นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ภูมิภาค

“นอกจากนี้ ไทยและจีนยังมีความร่วมมืออื่น ๆ ทั้งในกรอบทวิภาคี กรอบอนุภูมิภาค อย่างแม่โขง – ล้านช้าง ACMECS GMS และระดับภูมิภาค อย่างอาเซียน – จีน การขยายความร่วมมือภายใต้ BRICS Plus ที่จีนริเริ่ม รวมถึงการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปีนี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากจีนเป็นอย่างดี และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมกลางเดือนนี้ด้วยตนเอง แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และความเป็นหุ้นส่วนที่แนบแน่นของทั้งสองประเทศอย่างแท้จริง”

ช่วงท้ายของการปาฐกถาพิเศษ นายกฯ ได้กล่าวเน้นย้ำความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับจีน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต เสถียรภาพ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่มั่งคงและยั่งยืน ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน ควบคู่ไปกับการรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนของโลก โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ที่ร่วมกันจัดงานในวันนี้ขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจในอนาคต และอวยพรให้งานในวันนี้สำเร็จตามวัตถุประสงค์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง