คัดลอก URL แล้ว
อีลอน มัสก์ไล่ผู้บริหารระดับสูงออก หลังปิดดีล Twitter

อีลอน มัสก์ไล่ผู้บริหารระดับสูงออก หลังปิดดีล Twitter

KEY :

หลังจากที่อีลอน มัสก์ได้เจรจาที่จะดำเนินการเข้าซื้อบริษัท Twitter แพลตฟอร์มโซเซียลมีเดียชื่อดัง ซึ่งได้บรรลุข้อตกลงการการซื้อขายกิจการมูลกว่า 4.4 หมื่นล้าน ทำให้อีลอน มัสก์กลายเป็นเจ้าของ Twitter แล้ว และทันทีที่อีลอน มัสก์เข้านั่งเก้าอี้ในฐานะเจ้าของ Twitter ก็มีข่าวการไล่ผู้บริหารระดับสูงออกอย่างน้อย 4 รายแล้วในขณะนี้

โดยรายงานระบุว่า อีลอน มัสก์ได้ มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง 2 ราย นั่นคือ Parag Agrawal ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และ Ned Segal ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน ซึ่งในรายงานระบุว่า ทั้งสองรายนี้ ถูกมัสก์ไล่ออกจากตำแหน่ง

นอกจากผู้บริหารระดับสูงทั้ง 2 รายแล้ว ยังคงมีรายชื่อผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น Sean Edgett ที่ปรึกษาทั่วไป, Vijaya Gadde หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย นโยบาย ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ที่มีรายชื่อว่า ถูกอีลอน มัสก์ไล่ออกนั้น ถือเป็นไม้เบื่อไม้เมากับมัสก์ ตั้งแต่ในช่วงที่มีการเจรจาเข้าซื้อกิจการมาเป็นระยะ ๆ จึงทำให้หลายฝ่ายมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นการ “ล้างไพ่” เพื่อเตรียมนำ Twitter ไปสู่แนวทางใหม่ตามสไตล์ของอีลอน มัสก์ นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวที่อ้างว่า อีลอน มัสก์ มีแผนจะปรับลดพนักงานจำนวนมากอีกด้วย แต่ยังคงเป็นเพียงกระแสข่าวที่เกิดขึ้นเท่านั้น

ทางด้านของผู้บริหารระดับสูงทั้ง 4 รายที่มีรายชื่อออกมานั้น ยังคงไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ ในขณะนี้ รวมถึงโฆษกของทางฝั่ง Twitter ด้วย

ปิดดีลในโค้งสุดท้าย

สำหรับการเข้าซื้อกิจกการของ Twitter ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนที่ผ่านมา ถือเป็นโค้งสุดท้ายก่อนถึงเส้นตายในที่ 28 ต.ค. ที่อีลอน มัสก์ จะต้องเข้าซื้อกิจการของ Twitter โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 ต.ค. 2565 มัสก์ได้ทวีตข้อความระบุว่า กำลังเข้าสำนักงานใหญ่ของ Twitter, จำเอาไว้! พร้อมกับอ่างล้างหน้า ซึ่งเป็นมุกที่พ้องกับคำว่า let that sink in! ที่หมายถึง “จำเอามันไว้ให้ดีล่ะ”

โดยที่ผ่านมา หลังจากที่อีลอน มัสก์ได้ประกาศมีแผนที่จะเข้าซื้อกิจการ Twitter เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา และทาง Twitter ได้มีการตอบรับข้อตกลงเมื่อปลายเดือนเมษายน 2565 ที่จะขายกิจการทั้งหมดให้อีลอน มัสก์ในราคา 54.20 ดอลลาร์ต่อหุ้น รวมเป็นมูลค่าราว 44,000 ล้านดอลลาร์

ซึ่งก่อนหน้านั้น อีลอน มัสก์ได้ทำการซื้อหุ้นของ Twitter กว่า 73 ล้านหุ้น คิดเป็น 9.2% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดและกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด มูลค่ากว่า 9.7 หมื่นล้านบาท พร้อมกับระบุว่า มีแผนที่จะพัฒนา Twitter ให้ดีขึ้น และหลังจากนั้น ก็ได้ประกาศว่า จะเข้าซื้อกิจการทั้งหมดของ Twitter โดยจะทำการซื้อหุ้นทั้งหมดที่เหลืออยู่ ในราคา 54.20 ดอลลาร์/หุ้น โดยถือว่า เป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดที่อีลอน มัสก์ได้ซื้อมาถึง 38%

โดยมัสก์ ได้ระบุเหตุผลเพิ่มเติมว่า การที่จะพัฒนา Twitter ไปให้ถึงจุดที่ตั้งเป้าหมายนั้น จำเป็นต้องนำ Twitter ออกจากตลาดหุ้น เพื่อความคล่องตัวในการพัฒนาต่อยอดแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งหากยังคงอยู่ในตลาด ก็จะยังทำให้ไม่สามารถพัฒนาอะไรเพิ่มเติม เพื่อนำ Twitter ไปยังเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

เปลี่ยนใจไม่ซื้อ – Twitter ฟ้องศาล

แต่ข่าวคราวการซื้อกิจการของ Twitter ก็เงียบหายไปพักใหญ่ ก่อนที่จะมีข่าวการยื่นหนังสือว่า “จะยกเลิกสัญญา” ที่จะเข้าซื้อกิจการของ Twitter โดยอ้างว่า Twitter ได้ให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งมัสก์หยิบยกรายงานPeiter Zatko อดีตผู้บริหารฝ่ายความปลอดภัยของ Twitter เรื่องของบัญชีสแปมของ Twitter ในระบบที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงขึ้นมา

จากการยื่นหนังสือยกเลิกการซื้อกิจการดังกล่าว นำไปสู่การฟ้องร้องคดีระหว่าง Twitter และ Elon Musk และมีข่าวออกมาอีกครั้งในหลักฐานที่ทาง Twitter ได้อ้างถึงในชั้นศาลว่า อีลอน มัสก์จะเลื่อนการซื้อกิจการของ Twitter โดยอ้างเหตุการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่เกิดขึ้นว่า “มันดูจะไม่สมเหตุสมผลที่จะซื้อ Twitter ถ้าเรากำลังเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 3” ไม่ใช่เรื่องของบัญชีสแปมตามที่อ้างก่อนหน้านี้ เพื่อยกเลิกการซื้อกิจการแต่อย่างใด

มัสก์กลับลำ – ศาลขีดเส้นตาย

ต่อมาในช่วงต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ได้เปลี่ยนใจอีกครั้ง มีรายงานระบุว่า จะยื่นข้อเสนอในการซื้อ Twitter อีกครั้งตามราคาเดิมที่ระบุไว้ ก่อนที่จะถึงกำหนดขึ้นไต่สวนคดีที่ Twitter ฟ้องต่อศาลรัฐเดลาแวร์ เพียงไม่กี่วันเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้คดีดังกล่าวต้องหยุดการไต่สวนออกไป

ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า จากข้อมูลและหลักฐานต่าง ๆ นั้น มีแนวโน้มที่จะเป็นผลลบต่ออีลอน มัสก์เอง การเข้าซื้อกิจการ Twitter เป็นความตั้งใจของมัสก์ แต่สิ่งที่เป็นประเด็นนั่นคือ ราคาที่ 54.20 ดอลล่าร์/หุ้น ที่สูงเกินไป

ในขณะเดียวกัน จากคำร้องที่ระบุว่า อีลอน มัสก์เปลี่ยนใจกลับมาซื้อกิจการอีกครั้ง ทำให้ ผู้พิพากษาแห่งศาลรัฐเดลาแวร์ ได้กำหนดเส้นตายของการซื้อกิจการจะต้องเสร็จสิ้นก่อน 17.00 น. ของวันที่ 28 ต.ค. (วันนี้) และหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ก็จะมีการเปิดการไต่สวนต่อไปในเดือนพฤศจิกายน 2565 แม้ทางทนายของ Twitter ต้องการให้มีการไต่สวนตามกำหนดเดิมก็ตาม

เป้าหมายของมัสก์

หลังจากที่บรรลุข้อตกลงในการเข้าซื้อกิจการของ Twitter แล้ว อีลอน มัสก์ได้ทวีตข้อความที่กำหนดเป้าหมายของ Twitter โดยระบุถึงเป้าหมายในอนาคตไว้ว่า

การที่ตนเองเข้าซื้อ Twitter นั้น เพื่อต้องการพัฒนาสร้างพื้นที่ของคนบนโลกดิจิทัล ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้มาพูดคุยและถกเถียงกันในพื้นที่แห่งนี้ ด้วยไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง ซึ่งในขณะนี้ ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ๆ เมื่อโซเซียลมีเดียต่างแบ่งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาออกจากกัน ภายใต้ห้องสะท้อนเสียง (echo chamber) ของแต่ละฝ่ายที่สร้างความเกลียดชังซึ่งกันและกันในสังคม

ดังนั้นการซื้อกิจการของ Twitter ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรทางการค้า หรือเพราะมันง่าย แต่เป็นการช่วยเหลือมนุษยชาติในเรื่องดังกล่าว ให้ได้มีพื้นที่ที่สามารถพูดถึงได้อย่างอิสระ ภายใต้กฎหมาย และไม่ให้มันกลายเป็นพื้นที่ที่มีความรุนแรง หรือ เป็นสถานที่ที่ไม่พึงประสงค์

อย่างก็ตาม ในขณะนี้ ยังคงไม่ชัดเจนว่า อีลอน มัสก์จะมีแนวทางในกการพัฒนา Twitter จะเป็นไปในทิศทางใด หรือมีลูกเล่นอะไรเพิ่มเติม


ข้อมูล :


ข่าวที่เกี่ยวข้อง