คัดลอก URL แล้ว
นักวิทย์ญี่ปุ่นพบ ‘ก๊าซ’ หลายชนิดในตัวอย่าง ‘ดาวเคราะห์น้อยริวกุ’

นักวิทย์ญี่ปุ่นพบ ‘ก๊าซ’ หลายชนิดในตัวอย่าง ‘ดาวเคราะห์น้อยริวกุ’

KEY :

บทความวิจัยจากคณะนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นในวารสารไซแอนซ์ แอดวานซ์ (Science Advances) ของสหรัฐฯ เปิดเผยการค้นพบก๊าซในตัวอย่างที่เก็บจากพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยริวกุ (Ryugu) โดยยานอวกาศฮายาบุสะ2 (Hayabusa2) ของญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการนำก๊าซหลายชนิดจากดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกกลับมายังโลกสำเร็จเป็นครั้งแรก

ก๊าซในตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยประกอบด้วยฮีเลียมและนีออน เช่นเดียวกับก๊าซที่ปนเปื้อนบางส่วนจากชั้นบรรยากาศโลก บ่งชี้ว่าตัวอย่างนี้ประกอบด้วยส่วนผสมของก๊าซจากดวงอาทิตย์และชั้นบรรยากาศโลก

แถลงการณ์ร่วมจากสถาบันหลายแห่ง ได้แก่ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) มหาวิทยาลัยคิวชู และมหาวิทยาลัยโตเกียว เมื่อวันศุกร์ (21 ต.ค.) ระบุว่าทีมวิจัยหลายทีมทำการวัดองค์ประกอบไอโซโทปของก๊าซมีตระกูล (noble gas) หลายชนิด และก๊าซไนโตรเจนในวัสดุพื้นผิวและใต้พื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยริวกุ ซึ่งนำกลับมายังโลกโดยฮายาบุสะ2 เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2020

ผลการวิจัยทำการตรวจสอบก๊าซมีตระกูลและก๊าซไนโตรเจนในตัวอย่างของริวกุเพื่อหาที่มาและวิวัฒนาการของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ ตั้งแต่การเริ่มก่อตัวจนถึงกระบวนการทางธรณีวิทยาของพื้นผิวในปัจจุบัน

ทีมวิจัยพบตัวอย่างดังกล่าวมีก๊าซมีตระกูลดึกดำบรรพ์จากระบบสุริยะยุคแรกในปริมาณมากกว่าที่พบในอุกกาบาตดวงอื่นๆ ที่มีรายงานจนถึงปัจจุบัน และเชื่อว่าวัสดุซึ่งประกอบด้วยไนโตรเจนหลายชนิดที่ถูกเก็บรักษาภายในตัวอย่างจะมอบเบาะแสสำหรับการศึกษาระบบสุริยะยุคแรก

อนึ่ง ยานอวกาศฮายาบุสะ2 น้ำหนัก 600 กิโลกรัม ถูกปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศจากศูนย์อวกาศทาเนกาชิมะทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น เมื่อเดือนธันวาคม 2014 และเดินทางไกลเป็นระยะทางมากกว่า 3.2 พันล้านกิโลเมตร


ที่มา – Xinhua


ข่าวที่เกี่ยวข้อง