KEY :
- ค่าเงินเยนร่วงลงมาแตะระดับ 149 เยน/ดอลลาร์ อ่อนค่าหนักที่สุดในรอบ 32 ปี
- ในขณะที่เมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโรอยู่ที่ 146 เยนต่อยูโรเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 8 ปี
- รัฐบาล-ธนาคารแห่งชาติของญี่ปุ่นกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ระบุ พร้อมดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้ค่าเงินเยนผันผวนจนเกินไป
- ด้านบริษัทผู้ผลิตแป้งสาลีประกาศจะขึ้นราคาสินค้า 2-25% หลังค่าเงินเยนอ่อนค่าลงและราคาข้าวสาลีเพิ่มสูงขึ้น
…
สถานการณ์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 32 ปี โดยอ่อนค่าลงมาแตะระดับ 149 เยนต่อดอลลาร์แล้ว นอกจากนี้ค่าเงินเยนก็ลงมาอยู่ที่ 146 เยนต่อยูโร เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 8 ปี
โดยที่ผ่านมาทางด้านของรัฐบาลญี่ปุ่น และธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงค่าเงินเยนเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา เพื่อจะช่วยพยุงค่าเงินเยน ไม่ให้อ่อนค่าลงไป ผ่านการเทขายเงินในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นตอบสนองมาตรการดังกล่าว
แต่ก็เป็นในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่ค่าเงินเยนจะค่อย ๆ ปรับตัวอ่อนค่าลงอีกครั้ง ทำให้สถานการณ์ในขณะนี้ นักลงทุนจึงยังคงเฝ้าจับตามาตรการที่จะเกิดขึ้นต่อไปว่า รัฐบาลและธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่นจะมีการเข้าแทรกแซงค่าเงินอีกครั้งหนึ่งหรือไม่
ทางด้านของรัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่น ได้กล่าวว่า ในขณะนี้กำลังติดตามสถานการณ์ของค่าเงินเยนอย่างใกล้ชิด ซึ่งทางการญี่ปุ่นก็พร้อมที่จะใช้มาตรการตอบสนองสิ่งที่เกิดขึ้นเท่าที่จำเป็น รวมถึงการแทรกแซงตลาดด้วย เพื่อไม่ให้ค่าเงินเยนนั้นผันผวนเกินไป
สินค้าจำพวกแป้งสาลีเริ่มประกาศขึ้นราคา
Nisshin Seiko Verna บริษัทผู้ผลิตแป้งสาลีรายใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ประกาศจะขึ้นราคาสินค้าในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ โดยมีสินค้ากว่า 130 รายการที่จะทยอยปรับขึ้นราคา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มที่ต้องใช้แป้งสาลีเป็นวัตถุดิบ
เนื่องจากข้าวสาลีในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น และญี่ปุ่นต้องพึ่งพาการนำเข้าจำนวนมาก ที่ผ่านมาจากสถานการณ์ของการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาข้าวสาลีปรับตัวสูงขึ้น เมื่อรวมกับค่าเงินเยนที่อ่รบอนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าจำพวกแป้ง และวัตถุดิบนำเข้าอีกหลายอย่าง มีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งทางบริษัท Nisshin Seiko Verna ระบุว่า ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นจะมีการปรับราคาขึ้นตั้งแต่ 2% ไปจนถึงที่ 25%
ทำให้สถานการณ์ราคาสินค้าบริโภคในครัวเรือนของญี่ปุ่นจะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นไปอีก
เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
นักวิเคราะห์ยังคงมุ่งเป้าไปที่การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อตอบสนองต่ออัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น และอยู่ในระดับที่สูง ทำให้กระทบต่อค่าเงินอื่น ๆ รวมถึงญี่ปุ่นด้วย ซึ่งทำให้ระยะห่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่น และสหรัฐฯ มีความแตกต่างกันมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังคาดว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยของ FED นั้นจะมีการปรับเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังพุ่งสูงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเงินเดือนในกันยายนที่ผ่านมาของสหรัฐฯ อยุ่ที่ 8.2%
ซึ่งจากราคาสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องนำเข้า มีราคาที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
แรงงานต่างชาติ เริ่มวิตก
จากค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลง ส่งผลให้แรงงานต่างชาติที่เข้าไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น เริ่มติดตามสถานการณ์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากค่าแรงที่ลดลงจาก หากเปรียบเทียบกับค่าเงินในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อต้องส่งเงินกลับประเทศบ้านเกิด
ทำให้แรงงานบางส่วน แรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ มองหาลู่ทางในการย้ายที่ทำงานไปยังประเทศอื่นที่ใช้ภาษาอังกฤษและมีอัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพมากกว่าแทน
ที่มา – https://www3.nhk.or.jp/news/html/20221018/k10013862241000.html