คัดลอก URL แล้ว
คณบดีฮาร์วาร์ดพบผู้นำด้านสาธารณสุข ฮาร์วาร์ด หารือเรื่องพยาบาลผู้นำด้านสุขภาพ และความมั่นคงด้านสุขภาพของโลกและภูมิภาค

คณบดีฮาร์วาร์ดพบผู้นำด้านสาธารณสุข ฮาร์วาร์ด หารือเรื่องพยาบาลผู้นำด้านสุขภาพ และความมั่นคงด้านสุขภาพของโลกและภูมิภาค

วันที่ 6 ตุลาคม 2565 ณ โรงแรม Anantara Siam กรุงเทพ ศาสตราจารย์ Michelle A. Williams คณบดี โรงเรียนสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ นายเดวิด เคลลี่ ผู้อำนวยการอาวุโส Principal Gifts at Harvard T.H. Chan School of Public Health ได้พบปะหารือเรื่องโปรแกรมผู้นำพยาบาลระดับโลก( Harvard Global Nursing Leadership Program) และ ความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก(global health security) รวมทั้งแสดงความชื่นชมและส่งมอบรางวัลผู้นำด้านสาธารณสุข ให้นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท

ศาสตราจารย์ Michelle A. Williams ได้เล่าให้ฟังถึง การขับเคลื่อน โปรแกรมผู้นำพยาบาลระดับโลก โดยได้เริ่มแล้วในแอฟริกา และมีแผนดำเนินการในเอเชีย และทวีปอื่นๆ และกำลังระดมทุนเพื่อสนับสนุนการสร้างและพัฒนาผู้นำพยาบาล สำหรับในประเทศไทยได้เข้าพบหารือกับนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ แล้ว นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ได้แสดงความเห็นด้วยอย่างยิ่งและเชื่อว่านายศุภชัยฯ เห็นคุณค่าและความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้เพราะ พยาบาลเป็นบุคลากรด้านสุขภาพที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ทั้งในระดับพื้นที่จนถึงระบบบริการทางการแพทย์ขั้นสูงสุด เป็นบุคลากรสุขภาพที่อยู่ในระบบสุขภาพทุกระดับ ได้ยกตัวอย่างว่า สมเด็จย่าฯ ท่านเป็นพยาบาล เป็นผู้นำชาติบ้านเมืองที่เป็นแบบอย่างอันดียิ่ง ตนได้เคยปาฐกถาเรื่องนี้ในวันพยาบาลสากลประจำปี การประชุมวิชาการวันพยาบาลสากลประจำปี 2561 “พยาบาลเสียงแห่งพลัง: สุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชน” Nurse: A Voice to Lead – Health is a Human Right (อ่านรายละเอียดได้จาก https://www.facebook.com/344628519049864/posts/1795324307313604/)

สำหรับเรื่องความมั่นคงด้านสุขภาพของโลกและภูมิภาค ศาสตราจารย์ Michelle A. Williams ได้เล่าถึงประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ที่เธอได้มีโอกาส เรียนรู้และสนับสนุน เป็นแบบอย่างที่สามารถนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก สำหรับในภูมิภาคอาเซียน นั้น นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังดำเนินการปฏิรูประบบสุขภาพชุมชน หรือระบบสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งหากทำได้ผล จะทำให้ระบบสุขภาพของไทยโดยรวมมีความยั่งยืน และสามารถขยายผลนำไปปรับใช้ในภูมิภาคอาเซียนได้เพราะมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน

นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ กล่าวขอบคุณ คณบดีที่ให้เกียรติและเห็นคุณค่าของการดำเนินงานที่ผ่านมากว่าสี่ทศวรรษ ขอบคุณสำหรับรางวัลที่ได้รับ และเชื่อว่า รางวัลนี้ไม่เพียงสร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเท่านั้น หากแต่สร้างแรงบันดาลใจให้กับแพทย์ชนบท และบุคลากรสุขภาพ โดยเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุข ที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ชนบท ทั่วประเทศ และว่า การควบคุมป้องกันโรคระบาดโควิด ในไทย ได้ผลเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก ศิษย์เก่าฮาร์วาร์ดสองท่านมีส่วนสำคัญในการวางระบบควบคุมป้องกันโรคระบาด คือ ท่านอาจารย์หมออมร นนทสุต ที่ได้วางรากฐานระบบสาธารณสุขมูลฐาน ตั้งแต่ปี 1978 ปัจจุบันมีอาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศจำนวนหนึ่งล้านห้าหมื่นคน มีบทบาทสำคัญมากในการควบคุมป้องกันโรคระบาดในครั้งนี้ และท่านอาจารย์หมอสุชาติ เจตนเสน ศิษย์เก่าฮาร์วาร์ด ที่วางระบบการเฝ้าระวังโรค( Disease Surveillance) และวางระบบการฝึกอบรมนักระบาดวิทยาภาคสนาม (The Field Epidemiology Training Program (FETP))โดยการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก ตั้งแต่ปี 1980

ก่อนยุติการปรึกษาหารือ ศาสตราจารย์ Michelle A. Williams คณบดี กล่าวย้ำว่า “ขอให้ร่วมงานกันต่อไป”

“…คณบดีท่านนี้ เป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกที่ขึ้นมาเป็นผู้นำระดับคณบดีของมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมัยที่สองวาระห้าปี( 2021~2026) เป็นผู้หญิงเก่งและแกร่ง ฟังท่านพูดประสบการณ์ที่ผ่านมาและทิศทางการทำงานในอนาคต อดไม่ได้ที่ทำให้คิดถึง อดีตนายกรัฐมนตรี เยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล…” นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ กล่าวในที่สุด