คัดลอก URL แล้ว
‘เภสัชกรแขวนป้าย’ กับความไม่ถูกต้อง ส่งต่อความเสี่ยงให้คนไข้

‘เภสัชกรแขวนป้าย’ กับความไม่ถูกต้อง ส่งต่อความเสี่ยงให้คนไข้

KEY :

เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องพึ่ง ‘หมอ’ และ ‘ยา’ และคนส่วนใหญ่เมื่อรู้สึกป่วยเพียงเล็กน้อย มักจะเลือกที่จะเข้าร้านขายยา ซื้อยามารับประทานเองเพื่อรักษา บรรเทาอาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ ซึ่งบุคคลที่สำคัญในการจ่ายยา คือ ‘เภสัชกร’ ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เกี่ยวกับตัวยาแบบเฉพาะทางนั้นเอง

โดยในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ตามร้านขายยาโดยทั่วไป จะเป็นการจำหน่ายยาแผนปัจจุบัน ‘เภสัชกร’ จึงเป็นบุคคลสำคัญ ต้องคอยให้คำแนะนำ เพื่อจ่ายยาให้ถูกโรค รักษาให้ถูกจุด

แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรามักจะเห็นตามข่าว หรือ การแชร์ข้อมูลในโซเชียลเกี่ยวกับเรื่องการ ‘แขวนป้าย’ ของเภสัชกร หากอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ มีเภสัชกร (บางราย) หรือ ร้านขายยา (บางร้าน) นำใบประกอบวิชาชีพเภสัชกร มาแขวนไว้ แต่แท้จริงแล้วไม่ได้มีเภสัชกรในบริการตามวันและเวลาที่กำหนดไว้ โดยใช้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่เภสัชกรมาจ่ายยาให้กับลูกค้า

ภัยจากการ ‘แขวนป้าย’ ของเภสัชกร ในร้านขายยานั้น นอกจากความไม่มีจรรยาบรรณของตัวเภสัชกรและร้านขายยาแล้ว มันกลับส่งความเสี่ยงต่อผู้บริโภคที่เข้าไปใช้บริการ จนนำไปสู่การรณรงค์ และการเพิ่มบทลงโทษของพฤติกรรมดังกล่าว ทั้งตัว เภสัชกร และ ร้านขายยา

ปัญหาร้านยากับการหาเภสัชกร ‘แขวนป้าย’

หากสืบค้นข้อมูลในโลกออนไลน์สมัยนี้ เรายังสามารถพบเห็นร้านยา หรือ เภสัชกร ประกาศรับจ้างแขวนป้ายอยู่ต่อเนื่อง ปัญหาดังกล่าวแท้จริงแล้วมันขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและผู้ประกอบการ

ในมุมของผู้ประกอบการร้านยาก็ต้องการลดค่าใช้จ่าย การแขวนป้ายจึงเป็นอีกทางเลือกที่ไม่จำเป็นต้องจ่ายเป็นค่าจ้างให้กับเภสัชกร แต่เป็นค่าแขวนป้าย แล้วให้บุคคลอื่นมาจำหน่ายยาในร้านแทน

ทางฝั่งของเภสัชกรส่วนตัวใหญ่แล้วจะมีงานประจำอยู่แล้ว ทั้งในโรงพยาบาล หรือแยกย่อยไปตามสาขาที่เรียนจบมา การรับจ้างแขวนป้ายจึงเป็นอีกช่องทางในการหารายได้

ปัญหาที่ตามมาคือเมื่อร้านยาใช้วิธีแขวนป้าย มันย่อมส่งผลไปถึงตัวผู้บริโภค หากได้รับคำแนะนำจากบุคคลที่ไม่ใช่เภสัชกร ไม่มีความรู้เรื่องยาโดยตรง อาจเกิดการจ่ายยาที่ผิดพลาด เพราะยาทั้งมีทั้งคุณและโทษ บางรายมีการแพ้ตัวยาบางชนิด แต่หากได้รับคำแนะนำที่ผิด หรือ จ่ายยาผิด ย่อมเกิดผลเสียต่อตัวผู้บริโภคเองเช่นกัน

ซึ่งตาม พ.ร.บ.ยา กำหนดว่า ร้านขายยาแผนปัจจุบัน ต้องมีเภสัชกรเป็นผู้ปฎิบัติการ ประจําอยู่ ณ สถานที่ขายยาแผนปัจจุบัน ตลอดเวลาที่เปิดทําการ

การเพิ่มบทลงโทษของ ‘สภาเภสัชกรรม’ เพื่อตัดปัญหาการแขวนป้าย

เมื่อไม่นานมานี้ทาง’สภาเภสัชกรรม’ ได้เห็นชอบและมีมติให้เพิ่มโทษพักใช้ใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม กรณี เจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (แขวนป้าย) ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณ

โดยมติของสภาเภสัชกรรม กำหนดให้เพิ่มบทลงโทษสูงสุดคือ การพักใช้ใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม เป็นเวลา 2 ปี พร้อมแจ้งไปยังหน่วยงานต้นสังกัด ส่งผลให้ไม่สามารถทำงานในหน้าที่เภสัชกรได้ ซึ่งมีการบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565

พร้อมกันนี้หากพบเห็นร้านยาที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ สามารถแจ้งสายด่วน ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เบอร์โทร 1556

ไปร้านขายยาต้องถาม ‘เภสัชกร’

หากเราเกิดเจ็บป่วยในรายที่เจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย การเข้าร้านขายยาตามชุมชน จึงเป็นอีกทางเลือกที่เข้าถึงได้ง่าย ประหยัดเวลากว่าการเข้าโรงพยาบาล เพื่อรอคิวในการเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ

เภสัชกรชุมชน หรือ เภสัชกร ตามร้านขายยา จึงเป็นบุคคลากรสำคัญ ที่จะค่อยให้คำแนะนำต่าง ๆ แก่คนไข้ ทั้งการอธิบายชื่อยา ความจำเป็นในการทานยา ปริมาณ ช่วงเวลา และจำนวนวันตามที่กำหนดไว้ จากการพิจารณาของเภสัชกร ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการเจ็บป่วยของคนไข้เอง

ยังรวมไปถึงการสักถามประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ หรือไม่ เพื่อที่เภสัชกร จะได้สั่งจ่ายยาได้ถูกต้องแต่โรคและอาการที่คนไข้มาเลือกซื้อยา

นอกจากนี้หากเภสัชกรประเมินแล้วพบว่า โรคดังกล่าวไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาในร้านยาจะต้องทำการส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อไปยังโรงพยาบาล ฉะนั้นความสำคัญของ เภสัชกรชุมชน ตามร้านขายยาต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ร้านขายยาทุกร้านควรมีและปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะนอกจากจะคำนึงถึงจรรยาบรรณวิชาชีพแล้ว ยังส่งผลดีต่อผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการเลือกซื้อยาอีกด้วย


ข้อมูล :


ข่าวที่เกี่ยวข้อง