คัดลอก URL แล้ว
ผลศึกษายืนยัน “เมากัญชา” ทำขับขี่แย่ขึ้น! เทียบกฎหมายประเทศเสพเสรี – คุมอุบัติเหตุสายเขียว

ผลศึกษายืนยัน “เมากัญชา” ทำขับขี่แย่ขึ้น! เทียบกฎหมายประเทศเสพเสรี – คุมอุบัติเหตุสายเขียว

ขณะนี้กัญชาเสรีถูกชี้ว่า กำลังส่งผลกระทบอย่างหนัก จากการนำไปใช้นอกเหนือประโยชน์ทางการแพทย์ โดยยังเชื่อมโยงไปถึงประเด็นปัญหาต่างๆ หนึ่งในนั้นคือข้อเรียกร้อง ให้มีการเฝ้าระวังอุบัติเหตุจราจร “จากการเมากัญชาแล้วขับ” จะยิ่งซ้ำเติมอุบัติเหตุทางถนน ให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น

หลังการ “ปลดล็อกกัญชา” ออกจากยาเสพติดประเภท 5 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 จนถึงตอนนี้ผ่านไปกว่า 3 เดือน สถานะกัญชาในบ้านเรายังคงเรียกได้ว่า อยู่ใน “ภาวะสุญญากาศ” ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ…. ได้ถูกถอนออกจากวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา ตามมติเสียงข้ามมาก ให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ กลับไปทบทวนดูใหม่

กัญชาส่งผลกระทบต่อ ‘การตอบโต้-สมาธิในการขับขี่’

ด้านหนึ่ง แม้ว่าจะมีการหยิบยกผลศึกษา Safety Administration หน่วยงานของสหรัฐอเมริกา ที่ชี้ว่าความสามารถในการขับขี่ อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณความเข้มข้นของสาร THC ในเลือด และอาจไม่สร้างความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ มากไปกว่าผู้ขับขี่ทั่วไป

แต่ทีมนักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้หยิบยกข้อมูลอีกด้าน เช่น ผลการศึกษาของ Godfrey D. Pearlson และคณะ แสดงให้เห็นว่าการใช้กัญชา ส่งผลกระทบต่อความสามารถบางอย่าง ที่สำคัญต่อการขับขี่ได้อย่างชัดเจน แม้ว่าจะน้อยกว่าแอลกอฮอล์ โดยพบว่าการใช้กัญชาอาจกระทบต่อ “ความว่องไวต่อปฏิกิริยาการตอบโต้” และ “การใช้สมาธิในการขับขี่” หรือ “ความสามารถในการรับรู้” เป็นต้น

50 เขตในสหรัฐฯ “เมากัญชาขับรถ” ใช้กฎหมายเดียวกับดื่มแล้วขับ

ปัจจุบันหลายประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาได้อย่างเสรี ได้ออกมาตรการอย่างเข้มข้น ในป้องกันอุบัติเหตุจากการใช้กัญชา อาทิ

– อุรุกวัย ถือว่าผู้ขับขี่ที่ตรวจเลือดและพบว่ามีสาร THC มีความบกพร่องในการขับขี่

– สหรัฐอเมริกา ทั้ง 50 รัฐ ใช้วิธีเดียวกับการจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ คือ นำกรณีเมากัญชาแล้วขับ เข้าสู่ระบบกฎหมายว่าด้วยขับรถ ภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์หรือสารเสพติด (Driving under the influence: DUI)

– สหราชอาณาจักร และแคนาดา กำหนดความเข้มข้นของสาร THC ในเลือดของผู้ขับขี่ มีได้ไม่เกินกว่า 2 ng/mL

– เยอรมนี กำหนดให้ผู้ขับขี่ตรวจพบสาร THC ได้ไม่เกิน1 ng/mL แต่จะตรวจเฉพาะในเลือดส่วนเซรั่ม (Blood Serum) เท่านั้น

เตือนไม่ควร ‘ขับรถ – ทำงานกับเครื่องจักร’ ในระยะ 6 ชั่วโมงหลังใช้กัญชา

สำหรับประเทศไทยปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนด ปริมาณกัญชาในการขับขี่และบทลงโทษเฉพาะ มีเพียงคำแนะนำจากมหาวิทยาลัยมหิดล เน้นย้ำว่า “ผู้ที่ใช้กัญชา ไม่ควรขับรถ หรือทำงานกับเครื่องจักร ในระยะ 6 ชั่วโมงหลังใช้กัญชา เพราะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้สูง”

ผลกระทบของการใช้กัญชาต่อความสามารถในการขับขี่ สำหรับประเทศที่ปลดล็อกพ้นยาเสพติดไปแล้ว อย่างในบ้านเรา นับเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม แม้ยังไม่มีการเก็บสถิติอุบัติเหตุอย่างเป็นทางการ แต่ผลวิจัยชี้ชัดว่ากัญชาสามารถส่งผล ต่อความสามารถบางอย่างที่สำคัญต่อการขับขี่ได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง