เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2565 ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ พร้อมด้วยตัวแทน 17 เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ร่วม 10 คน ได้ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการจริยธรรม และประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ร้องเรียน นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.เชียงราย มีพฤติกรรมที่ขัดต่อจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎร ให้ข้อมูลสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า โจมตีการทำงานของนักวิชาการและเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบ มีความผิดหลายข้อกฎหมาย 1.ผิดข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 มาตรา 4, 12 2.ผิดมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 8, 15, 16 ซึ่งใช้บังคับส.ส. ด้วยตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 219 และประพฤติตนขัดต่อประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2564 ข้อ 10 (5) และ (9)
ศ.นพ.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า ส.ส.เอกภพ มีพฤติกรรมที่ขัดต่อจริยธรรมชัดเจนคือ 1.ให้ข้อมูลบิดเบือน เกินจริง เป็นเท็จ เช่น การให้สถิติคนใช้บุหรี่ไฟฟ้าของไทยโตขึ้น 4,500% ซึ่งเป็นข้อมูลเท็จ ทำให้เกิดการเข้าใจผิดและมีผลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้คือธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า 2.แสดงความคิดเห็นในเชิงกล่าวหา หมิ่นประมาท เสียดสี ไม่เคารพสิทธิ เสรีภาพของผู้อื่น โดยกระทำต่อตัวแทนราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ที่เข้าให้ข้อมูลการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพและติดตามการบังคับใช้กฎหมายด้านการสาธารณสุข ที่ส.ส.เอกภพ เป็นรองประธานอนุกรรมาธิการฯ ว่านำเสนอข้อมูลแบบมีอคติ จับแพะชนแกะ และมีผลประโยชน์ทับซ้อน 3.รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่ซื่อสัตย์ สุจริต โดยส.ส.เอกภพ ให้กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) เข้าร่วมฟัง และซักถามผู้เข้าให้ข้อมูลในอนุกรรมาธิการฯ หลายครั้ง และโพสต์รูปภาพที่ตนเองและอนุกรรมาธิการฯ ถ่ายร่วมกับกลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งควรรู้หรือรู้อยู่แล้วว่ามีความสัมพันธ์กับกลุ่มอุตสาหกรรมยาสูบ และถือเป็นการกระทำผิดต่ออนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกมาตรา 5.3 ที่ไทยได้ลงนามสัตยาบรรณไว้
“ขอให้ประธานคณะกรรมการจริยธรรม เร่งพิจารณาและสอบสวนความผิดของ ส.ส.เอกภพ เพื่อไม่ให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติของสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.เอกภาพ เป็นแพทย์ที่ควรมีความรู้ด้านระบาดวิทยาทางการแพทย์ โทษอันตรายของบุหรี่ทุกชนิดพอสมควร จึงควรที่จะรู้หลักการทางสถิติพื้นฐาน และปกป้องสุขภาพของประชาชน แต่กลับจงใจบิดเบือนเพื่อให้ข้อมูลเท็จ โดยใช้ช่องทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ใส่ร้ายเสียดสี หน่วยงาน อาจารย์แพทย์ ราชวิทยาลัยฯ ที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 นอกจากนี้ พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่สุดของการเป็น ส.ส. คือการสนับสนุนผู้ทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า โดยโพสต์ยินดีให้คำปรึกษาแก่ผู้ถูกดำเนินคดีตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้าในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557” ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าว
ด้าน นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส ผู้อำนวยการสำนักงานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มลาขาดควันยาสูบ เป็นสมาชิกขององค์กรเครือข่ายผู้บริโภคนิโคตินนานาชาติ (International Network of Nicotine Consumer Organizations: INNCO) และแกนนำของกลุ่ม ECST เคยเป็นกรรมการบริหารของ INNCO ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก Foundation for a Smoke Free World (FSFW) ซึ่งเป็นมูลนิธิที่จัดตั้งและได้รับเงินทุนสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ฟิลลิป มอร์ริส ที่มีผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าที่กฎหมายประเทศไทยห้ามขาย แต่คณะอนุกรรมาธิการฯ ที่มี ส.ส.เอกภพ เป็นรองประธานอนุกรรมาธิการฯ กลับให้คนกลุ่มนี้เข้าร่วมประชุม และซักถาม ถือว่าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการฯ ไม่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ มุ่งเน้นการศึกษาประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าอย่างไม่เป็นธรรม ไม่คำนึงถึงผลกระทบสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่อาจตกเป็นเหยื่อธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า
“สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ รู้สึกเป็นกังวลในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ต้องการเห็นสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะกรรมาธิการการสาธารณสุข ซึ่งเป็นเสาหลักด้านนิติบัญญัติ และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดและติดตามนโยบายด้านการสาธารณสุขของประเทศไทย มีการดำเนินการที่ขัดต่อจรรยาปฏิบัติที่ผู้แทนราษฎร พึงกระทำ และดำเนินการที่ขัดต่อพันธกรณีในฐานะรัฐภาคี ภายใต้กรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก อันจะนำไปสู่ความเสื่อมเสียชื่อเสียงของสภาผู้แทนราษฎร เป็นที่ครหาของนานาประเทศ” นพ.วันชาติ กล่าว