KEY :
- ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ปัญหาสำคัญมาจาก ‘ความยากจน’ ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ แม้กระทั่งพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร การขาดแคลนบุคคลากรที่การศึกษา เป็นส่วนสำคัญที่เกิดความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา
- ในปีการศึกษา 2561 พบจำนวนเด็กด้อยโอกาส/เด็กพิการ จำนวนรวมนักเรียนด้อยโอกาสทั้งหมด 3,625,048 คน
- 78 ตำบล ที่ไม่มีโรงเรียน มีจำนวนนักเรียนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 4,580 คน และเป็นเด็กที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาอีกกว่า 2,662 คน
ปัญหาด้านการศึกษาในบ้านเราฝังลึกมาทุกยุคทุกสมัย ในแต่ละปีมักจะมีเด็ก เยาวชน ต้องพลาดโอกาสทางการศึกษา ซึ่งปัญหาสำคัญมาจาก ‘ความยากจน’ ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่ทำให้แต่ละครอบครัวมีภาระค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไป หรือ แม้กระทั่งพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร การขาดแคลนบุคคลากรที่การศึกษา
ปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่ ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ตัดโอกาสของเด็กหลาย ๆ คน ที่มีความฝันแต่มิอาจทำความฝันให้เป็นจริงได้ อันเนื่องมาจากปัญหาดังกล่าว
เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ‘การศึกษา’ เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งนอกจากจะสร้างโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนแล้ว ยังเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในอนาคต จะเห็นได้ว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว มักจะลงทุนทางด้านการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อให้คนในประเทศได้รับการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ สร้างคน สร้างงาน และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในภายภาคหน้า
ข้อมูลจำนวนนักเรียนทั้งหมดในประเทศไทย ปี 2564
จากข้อมูลระบบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (iSEE) โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ได้ทำการรวบรวมข้อมูลสถิติจำนวนนักเรียนทั้งหมดที่ศึกษาในประเทศไทย โดยข้อมูลในปี 2564 มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 7,315,617 คน แบ่งเป็นนักเรียนชาย 3,634,606 คน และ นักเรียนหญิง 3,681,011 คน
โดยแบ่งเป็นระดับชั้นการศึกษา ดังนี้
- ระดับชั้นอนุบาล 1.02 ล้านคน
- ระดับชั้นประถมศึกษา 3.36 ล้านคน
- ระดับชั้นมัธยมต้น 1.85 ล้านคน
- ระดับชั้นมัธยมปลาย 1.09 ล้านคน
ซึ่งจำนวนโรงเรียนทั้งหมดในประเทศมีทั้งสิ้น 31,477 โรงเรียน โดยจังหวัดที่มีจำนวนโรงเรียนมากที่สุด 3 จังหวัด อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ 1. นครราชสีมา 1,436 แห่ง 2. อุบลราชธานี 1,183 แห่ง และ 3. ขอนแก่น 1,135 แห่ง
นอกจากนี้ยังพบว่ามีจำนวน 78 ตำบล ที่ไม่มีโรงเรียน มีจำนวนนักเรียนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 4,580 คน และเป็นเด็กที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาอีกกว่า 2,662 คน
ทั้งนี้จากข้อมูลในปีการศึกษา 2561 พบจำนวนเด็กด้อยโอกาส/เด็กพิการ ไม่ว่าจะเป็นเด็กยากจน เด็กกำพร้า ชนกลุ่มน้อย และอื่น ๆ จำนวนรวมนักเรียนด้อยโอกาสทั้งหมด 3,625,048 คน
สภาพความพร้อมของโรงเรียน อีกหนึ่งปัจจัยความไม่เท่าเทียม
จากข้อมูลโรงเรียนที่มีไฟฟ้าใช้มี 29,998 แห่ง และ โรงเรียนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ 15 แห่ง โดยแบ่งเป็นในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน 9 แห่ง / กรุงเทพฯ 1 แห่ง / กาฬสินธุ์ 1 แห่ง / ตาก 1 แห่ง / มหาสารคาม 1 แห่ง / เชียงใหม่ 1 แห่ง / แลพเพชรบุรี 1 แห่ง
การใช้งานคอมพิวเตอร์ของแต่ละโรงเรียนนั้น ย่อมมีแหล่งที่มาของคอมพิวเตอร์ที่แตกต่างกัน เช่น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือ NOTEBOOK ที่มาจากงบประมาณหรือการบริจาคเข้ามายังโรงเรียน ซึ่งการใช้งานคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือ NOTEBOOK เหล่านี้มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไปไม่ว่าจะเป็นเพื่อการบริหารจัดการ หรือ เพื่อการเรียนการสอน
โดยจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมดในโรงเรียน 426,055 เครื่อง จำแนกเป็น เครื่องคอมตั้งโต๊ะ จำนวน 356,564 เครื่อง และ NOTEBOOK จำนวน 69,491 เครื่อง
ในขณะที่ อินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นมากที่สุดอย่างหนึ่งในแต่ละโรงเรียน แต่ก็ยังมีบางโรงเรียนที่ไม่มีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ซึ่งโรงเรียนที่ใช้งานอินเตอร์เน็ตนั้นจะถูกจำแนกออกตามประเภทของอินเตอร์เน็ต เช่น IPSTAR ADSL LEASEDLINE และอื่น ๆ โดยมีจำนวนโรงเรียน 255 แห่ง ที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้
***ข้อมูลโรงเรียน DMC ปีการศึกษา 2561
เด็กกว่า 8 แสนคนเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา
จากข้อมูลปีการศึกษา 2562 โดยทาง กสศ. ระบุว่า มีเด็กถึง 8 แสนคนที่มาจากครอบครัวยากจนที่รายได้เฉลี่ยไม่ถึง 3,000 บาท/คน/เดือน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้คือ “เด็กนักเรียนยากจนพิเศษ” ที่มีความเสี่ยงและต้องช่วยเหลือเป็นพิเศษ ซึ่งในจำนวนนี้อาจกำลังเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาส่วนหนึ่งเพราะต้องดูแลคนในครอบครัวและหารายได้เลี้ยงครอบครัว
โดยมี 4 ปัญหาหลัก ๆ ที่ทำให้เด็ก 8 แสนคน ได้แก่ 1. ปัญหาภาระพึ่งพิงต้องดูแล พบ 262,496 คน หรือ 72 % ครัวเรือนที่มีปัญหา / 2.ปัญหาสภาพการอยู่อาศัย พบ 299,082 คน หรือ 82 % / 3.ปัญหาทรัพย์สินถือครอง อาทิ ที่ดินทำการเกษตร ยานพาหนะ ของใช้ในครัวเรือนสะท้อนทรัพย์สินของครัวเรือน พบ 361,153 หรือ 100 %
และ 4.ปัญหาการเข้าถึงสาธารณูปโภค โดยการเข้าไม่ถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอาจส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในการหาแหล่งสาธารณูปโภคทดแทนอื่น ๆ พบ 171,636 หรือ 47 % ครัวเรือนที่มีปัญหา
นอกจากนี้ยังพบว่า ในกลุ่มเด็กยากจน / เด็กยากจนพิเศษ รายได้เฉลี่ยของสมาชิกในครัวเรือน เฉลี่ยเพียงเดือนละ 1,298.69 บาท
***ข้อมูลปีการศึกษา 2562
มาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 รับทราบ “มาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา” ตามที่คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนเสนอ พร้อมให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยเป้าหมายสำคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของรัฐบาลที่ต้องจัดให้ประชาชนไทยได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ สนับสนุนการจัดการศึกษาที่ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งต้องดำเนินการให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษา
สำหรับมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา แบ่งเป็น
1.มาตรการสนับสนุนอินเทอร์เน็ต ระยะเร่งด่วน ให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาต่ออายุมาตรการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตให้กับนักเรียนออกไปอีกเป็น 1ปี สำหรับระยะกลาง ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พิจารณาขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน USO)
และในระยะยาว กระทรวงศึกษาร่วมกลุ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวง ดีอีเอส ศึกษามาตรการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตในระยะยาว เพื่อใช้ในการเรียนออนไลน์สำหรับนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ มาตรการนี้ คาดว่าจะใช้วงเงินงบประมาณประมาณ 126 ล้านบาทต่อเดือนหรือ 1,512 ล้านบาทต่อปี
2.มาตรการสนับสนุนคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาเพื่อการศึกษา ระยะเร่งด่วน สนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุนเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ขนาดพกพาเพื่อใช้ในการเรียนออนไลน์สำหรับเด็กนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ โดยอาจมีการพิจารณาสิทธิประโยชน์ด้านอื่น ๆ ให้กับภาคเอกชน เพื่อสร้างแรงจูงใจ ระยะกลางให้ กสศ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการสนับสนุนเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ขนาดพกพา และให้ สพฐ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานตามพื้นที่ที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ
รวมทั้ง กระทรวงมหาดไทย อาจพิจารณาออกระเบียบเพื่อกำหนดให้สามารถนำเงินสะสมมาใช้ในการดำเนินการเฉพาะกรณีดังกล่าวได้ ระยะยาว ศธ. พิจารณาแนวทางการขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อเป็นหลักประกันในการจัดให้มีอุปกรณ์ให้แก่นักเรียนยากจนและยากจนพิเศษในการเรียนการสอนออนไลน์อย่างยั่งยืน
โดยควรให้สิทธิ์แก่นักเรียนทุกคนในระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ป.1 – ม.6) และเทียบเท่าที่มีฐานะยากจนและยากจนพิเศษที่เป็นการให้เงินอุดหนุนแก่นักเรียนโดยตรง อาจลักษณะ Voucher ผ่าน e-voucher ผ่านแอพพลิเคชันของรัฐเพื่อให้ผู้ปกครองและนักเรียนนำไปซื้อคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาเพื่อการศึกษาได้โดยตรงตามความความต้องการของนักเรียนแต่ละคนในแต่ละดับชั้น ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้วงเงินประมาณ 8,000 ถึง10,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียนตั้งแต่ป.1 – ม.6 และเทียบเท่าที่มีฐานะยากจนและยากจนพิเศษประมาณ 1.6 ล้านคน ตามหลักเกณฑ์ กสศ.
มาตรการเพิ่มเติมสำหรับครู ศธ.
สำหรับมาตรการเพิ่มเติมสำหรับครู ศธ. สนับสนุนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ขนาดพกพาเพื่อการศึกษาให้กับครูผู้สอน เพื่อทำให้ครูผู้สอนเข้าถึงการเรียนการสอนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยเฉพาะในต่างจังหวัดหรือโรงเรียนในชนบทที่มีความขาดแคนทั้งบุคลากรงบประมาณและการเข้าถึงเทคโนโลยี
มาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา มุ่งกลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนยากจนและยากจนพิเศษทั่วประเทศ 1.8 ล้านคน ตั้งแต่ชั้นก่อนประถมศึกษา – มัธยมศึกษาตอนต้น หรือปลายเทียบเท่า ตามที่คณะกรรมการฯ ได้ศึกษาข้อเท็จจริง (ปีการศึกษา 2564) ซึ่งมีเพียงร้อยละ 20 ที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ในการเรียนและร้อยละ 61 มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน
สะท้อนให้เห็นว่านักเรียนจำนวนมากไม่มีความพร้อมด้านฐานะทางการเงิน ขาดแคนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในการเรียนและมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่บ้านต่ำมาก สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และป้องกันนักเรียนไทยหลุดออกจากระบบการศึกษาอีกด้วย
…
ข้อมูล :
- กสศ.
- iSee