คัดลอก URL แล้ว
[FOLLOW UP] ปี’73 กรุงเทพเสี่ยงจมน้ำ! “คนจนกระทบหนัก” ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางวิกฤติน้ำท่วม

[FOLLOW UP] ปี’73 กรุงเทพเสี่ยงจมน้ำ! “คนจนกระทบหนัก” ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางวิกฤติน้ำท่วม

สถานการณ์ฝนตกหนักหลายวันติดต่อกันใน กทม. และพื้นที่ใกล้เคียง ตั้งแต่วันที่ 6-8 ก.ย. ที่ผ่านมา และยังต้องเฝ้าระวังต่อไปอีก 4 วัน ในช่วง 9-12 ก.ย.นี้ ถูกชี้ว่าเป็นเรื่องผิดปกติที่เกิดฝนตกหนัก มากกว่า 100 มม. ต่อเนื่องยาวนานในพื้นที่เดิมๆ จนไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน เพราะระดับน้ำในคลองสายต่างๆ ก็เอ่อล้น เกิดศักยภาพรองรับมวลน้ำเช่นกัน

‘ชัชชาติ’ ย้ำลงพื้นที่ดูปัญหาน้ำท่วม ดีกว่ามัวนั่งในห้องแอร์

วานนี้ (8 ก.ย. 2565) ‘นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ว่าฯ กทม. เน้นย้ำว่า วันนี้ น้ำเต็มทุกคลองหลักแล้ว การทำงานน้ำท่วมเป็นงานบูรณาการไม่ใช่แค่เรื่องระบายน้ำ เป็นเรื่องของการดูแลคน วางแผนจัดการจราจร การประชาสัมพันธ์ ให้รองปลัดดูแลกำกับหน้างานช่วยเขตต่างๆ และขอบคุณ ผอ.เขต ที่ลงพื้นที่ไปช่วยประชาชน และไม่ใช่แค่เฉพาะสำนักงานเขต แต่ทุกสำนักต้องร่วมมือกันทุกคน

“ถามว่าผมลงพื้นที่ไปทำไม ไม่ได้ลงไปบัญชาการเหตุการณ์นะ แต่ลงไปดูปัญหา สุดท้ายงบประมาณทั้งหลาย จะต้องสอดคล้องกับปัญหาที่เจอ ถ้านั่งอยู่ในห้องแอร์จะไม่รู้หรอกว่าปัญหาคืออะไร ไม่มีทางเห็นหรอกว่าชาวบ้านเขาด่าเรื่องอะไร ไม่ได้ลงไปจับผิด ผอ.เขต แต่ลงไปเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ จะได้นำงบประมาณจัดสรรลงในพื้นที่ให้ถูกต้อง” ชัชชาติ กล่าว

ย้อนคำเตือน “กรุงเทพจมน้ำ” ท่ามกลางปัญหาดินทรุด 1-2 เซนติเมตรต่อปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมขังใน กทม. ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ทำให้มีการหยิบยกคำเตือนของกรีนพีซ เอเชียตะวันออก ตามรายงานความเสียหายทางเศรษฐกิจ ที่คาดการณ์จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลแบบสภาวะสุดขีด ที่ระบุว่าภายในปี พ.ศ. 2573 หรือ ค.ศ. 2030 มากกว่า 96% ของพื้นที่กรุงเทพฯ อาจถูกน้ำท่วมหากเกิดอุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี (ten-year flood) ซึ่งรวมถึงพื้นที่พักอาศัยและพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่มีความหนาแน่นสูงใจกลางเมือง

ขณะที่ Climate Central องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ประเทศสหรัฐฯ เผยข้อมูลผลกระทบของสภาวะโลกร้อน เตือนว่า กทม. และพื้นที่บริเวณใกล้ชายฝั่ง จะได้รับความเสี่ยงจากระดับน้ำทะเลขึ้นสูง ภายในปี พ.ศ. 2593 เนื่องจาก กทม. ได้ทรุดตัวลง 1-2 เซนติเมตรต่อปี ซึ่งก่อนหน้านี้สถาบันวิจัยเดลตาเรส ของเนเธอร์แลนด์ ได้เผยข้อ มูลว่า กรุงเทพฯ เวนิส และนิวออร์ลีนส์ คือเมืองหลวงที่ทรุดตัวเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเลถึง 3 เท่า

คาดการณ์อนาคตคนกรุง ต้องใช้ชีวิตอยู่กับ “มลพิษ – วิกฤติน้ำท่วม”

สอดคล้องกับเมื่อเร็วๆ นี้ ในงานเสวนา “เมืองเปลี่ยน คนต้องปรับ รับมือวิกฤติอย่างไร” ได้มีการนำเสนอคาดการณ์อนาคตของเมืองปี 2050 โดย ‘ดร.การดี เลียวไพโรจน์’ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ชี้ว่า “โลกในอนาคตจะเต็มไปด้วยมลภาวะ ที่ทำให้การอยู่อาศัยของมนุษย์ กลายเป็นเรื่องที่ยากกว่าในปัจจุบันอย่างเทียบไม่ติด” ตามการพิจารณาจากข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยอุณหภูมิทุกแห่งจะสูงขึ้นเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียส ทำให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นมากกว่า 1 เมตร ซึ่งส่งผลทำให้มีผู้คนต้องย้ายถิ่นฐานมากถึง 200 กว่าล้านคน และประสบภัยพิบัติกว่า 400 ล้านคน ซึ่งประเทศไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น โดยฉากทัศน์ กทม. ในอนาคตนั้น ชุมชนส่วนใหญ่ที่ไม่มีต้นทุนและโอกาสทางสังคม จะต้องใช้ชีวิตเผชิญกลุ่มหมอกควันและมลพิษ และวิกฤติน้ำท่วมอยู่เสมอ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง