คัดลอก URL แล้ว
สสส. – สสดย. เผย 10 ปีข้างหน้า เด็ก-เยาวชน เสี่ยง ปัญหาสุขภาพ เจอภัยคุกคามออนไลน์ แนะ รัฐ สร้างพื้นที่สื่อสร้างสรรค์ คุมเข้มจริยธรรม

สสส. – สสดย. เผย 10 ปีข้างหน้า เด็ก-เยาวชน เสี่ยง ปัญหาสุขภาพ เจอภัยคุกคามออนไลน์ แนะ รัฐ สร้างพื้นที่สื่อสร้างสรรค์ คุมเข้มจริยธรรม

ที่ ห้องประชุมไฮเดรนเยีย 3 อาคารแกรนด์คอนเวนชั่น โรงแรม TK. PALACE HOTEL & CONVENTION ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) จัดเสวนานำเสนอผลการวิจัยเรื่อง “การพัฒนานโยบายการจัดการการสื่อสารสำหรับเด็กและเยาวชนไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า” ตั้งเป้าผลักดันให้ภาครัฐส่งเสริมพื้นที่สื่อสร้างสรรค์ที่หลากหลาย คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

นางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า เด็กและเยาวชนผู้อยู่ในระบบนิเวศสื่อซึ่งเป็นปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญในการดำเนินชีวิต มีบทบาทในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว และสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในตัวบุคคล โดยเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มวัยที่ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งด้านการเรียนรู้และความบันเทิง แต่ขณะเดียวกันการเข้าถึงสื่อได้ง่ายทุกที่ทุกเวลาและขาดกลไกกำกับควบคุมที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เนื้อหาบางส่วนสร้างผลกระทบเชิงลบกับเด็กและเยาวชน สสส.และภาคีเครือข่าย ให้ความสำคัญต่อการศึกษาวิจัยเพื่อนำข้อค้นพบทุกมิติจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยร่วมกันหาแนวทางกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ในการส่งเสริมการพัฒนาทักษะเท่าทันสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัลของเด็กและเยาวชน ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีความผันผวนอย่างรวดเร็ว ควบคู่กับการสนับสนุนให้กลไกและนโยบายในการปกป้องคุ้มครองเด็กและเอื้อต่อการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน

นางญาณี กล่าวต่อว่า การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย สสส. พบพฤติกรรมการใช้สื่อของเด็กและเยาวชนที่น่าเป็นห่วง 1.ปัญหาสุขภาพจิตจะทวีความรุนแรงขึ้น เช่น ภาวะซึมเศร้า โรคทางจิตเวช 2.ปัญหาสุขภาพกายที่เป็นผลจากการใช้สื่ออย่างไม่เหมาะสมหรือมากเกินไป เช่น โรคอ้วน โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ภาวะขาดน้ำ ขาดอาหาร ขาดการออกกำลังกาย ภาวะน้ำหนักเกิน 3.เด็กและเยาวชนเผชิญกับเนื้อหาสื่อที่ไม่เหมาะสม จากการเข้าถึงสื่อที่หลากหลาย เช่น การพนันออนไลน์ สื่อลามกอนาจาร การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่ขาดข้อมูลครบถ้วน 4.เด็กและเยาวชนบางส่วนยังขาดทักษะในการรับมือกับภัยออนไลน์ที่เข้าถึงตัวได้หลายช่องทาง เช่น การระรานทางออนไลน์ การล่อลวง การติดตามคุกคาม การล่อลวงเด็กเพื่อละเมิดทางเพศ สื่อลามกอนาจารเด็ก  การพูดคุยเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสม การหลอกให้ทำผิดกฎหมายผ่านออนไลน์ งานวิจัยชิ้นนี้จะทำให้เห็นทางออกในการดูแลสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน

“สสส. คาดการณ์ว่าในอนาคตจะมีแพลตฟอร์มสื่อสารที่หลากหลาย เพื่อให้ตอบสนองผู้ใช้สื่อทุกช่วงวัย ซึ่งอาจทำให้เด็กและเยาวชนมีวิถีชีวิตที่ใช้เวลากับสื่อในโลกออนไลน์มากขึ้นและมีรูปแบบการใช้สื่อที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ เพราะพวกเขาสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้มากขึ้น อาจส่งต่อข้อมูลจาการรับรู้ที่บิดเบือนจากแหล่งข้อมูลที่ผิดและมีอยู่ด้านเดียวได้ง่าย การผลักดันกลไกและนโยบายเพื่อรองรับการรูปแบบการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนในอนาคตจึงมีความจำเป็นและต้องดำเนินการเชิงรุกตั้งแต่วันนี้ นางญาณี กล่าว
 
รองศาสตราจารย์จุมพล รอดคำดี  นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ และกรรมการกำกับทิศ สสส. กล่าวว่า เด็กและเยาวชนเป็นกำลังสำคัญของชาติ การสื่อสารเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างสุขภาวะทางปัญญาในสังคมไทย ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมออกแบบและวางแผน เพื่อให้เกิดการจัดการการสื่อสารในอนาคต ที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชน โดยต้องเริ่มตั้งแต่การเข้าใจสถานการณ์การใช้สื่อของเด็กและเยาวชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งศึกษาแนวทางการปรับพฤติกรรม เมื่อเทคโนโลยีและบริบทของสังคมเปลี่ยนแปลงไป  ตลอดจนต้องร่วมกันพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการสื่อสารในอนาคต เพื่อให้ทุกภาคส่วนนำนโยบายไปใช้ให้เกิดผลทางปฏิบัติได้จริง
 
ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก หัวหน้าคณะนักวิจัยฯ ในฐานะนายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.)  กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยเชิงอนาคตโดยใช้เทคนิคเดลฟาย (Delphi Future Research: DFR) เป็นวิธีคาดการณ์ผลลัพธ์โดยการออกความเห็นจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน 4 กลุ่ม 1.กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ 2.กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น 3.กลุ่มผู้เชี่ยวชาญเชิงนโยบาย 4.กลุ่มเด็กและเยาวชนที่สนใจด้านสื่อและเทคโนโลยี เป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีประสบการณ์ด้านการทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ซึ่งงานวิจัยฯ มี 3 ส่วนสำคัญ 1.ศึกษาพฤติกรรมการใช้สื่อของเด็กและเยาวชนไทยในทศวรรษหน้า 2.กำหนดแนวทางการปรับตัวเพื่อรองรับการใช้สื่อของเด็กและเยาวชนไทยในทศวรรษหน้า 3.พัฒนานโยบายในการจัดการการสื่อสารของเด็กและเยาวชนไทยในทศวรรษหน้า มีภาครัฐ ภาคการศึกษา  พ่อแม่ ผู้ปกครอง โรงเรียนหรือสถานศึกษา  ภาคประชาสังคม  และภาคเอกชน มาร่วมกันขับเคลื่อนเชิงนโยบาย

“ข้อเสนอเหล่านี้มุ่งส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียม และความรู้ให้เท่าทันสื่อเด็กและเยาวชน ทั้งในและนอกระบบ ผ่านวิธีที่หลากหลายและเหมาะสมกับวิถีชีวิต ภาษา และศักยภาพ โดยส่งเสริมให้เกิดกำกับดูแลสื่อออนไลน์ ปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และสิทธิด้านต่าง ๆ ของผู้ใช้สื่อออนไลน์อย่างครบถ้วน และมีจริยธรรม ที่สำคัญคือส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน มีพื้นที่สื่อที่ดี สร้างสรรค์ สามารถแสดงศักยภาพและพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่สังคม และการแบ่งปันประสบการณ์หรือ พฤติกรรมเชิงบวกระหว่างกัน”

ดร.ธีรารัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการจัดการการสื่อสารในอนาคต ผู้เชี่ยวชาญยังนำเสนอมิติเกี่ยวกับภาษี เพื่อจัดสรรให้เกิดโครงการสร้างการรู้เท่าทันสื่อในเด็กและเยาวชน   มีมาตรการปกป้องคุ้มครอง และช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบทางลบจากการใช้สื่อ อย่างครอบคลุมและทันต่อสถานการณ์ โดยนำบทเรียนความสำเร็จ และความล้มเหลวของต่างประเทศ มาเป็นข้อมูลประกอบด้วย    ข้อเสนอต่างๆเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญในการทำให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อนเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดนโยบายในการจัดการการสื่อสารสำหรับเด็กและเยาวชนไทยในอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง