คัดลอก URL แล้ว
[FOLLOW UP] คาดปี 65 คนไทย “หย่าร้าง” ทะลุแสนคู่ ครึ่งปีพุ่งเกือบ 8 หมื่น เหตุโรคระบาด กระตุ้นความรุนแรงในครอบครัว!

[FOLLOW UP] คาดปี 65 คนไทย “หย่าร้าง” ทะลุแสนคู่ ครึ่งปีพุ่งเกือบ 8 หมื่น เหตุโรคระบาด กระตุ้นความรุนแรงในครอบครัว!

ปัญหาโรคระบาดไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และทำภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเท่านั้น แต่ยังสะเทือนถึงความสัมพันธ์ครอบครัวด้วย ล่าสุดจากการเปิดเผย “สถิติการหย่าร้าง” ประจำปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า รวมทั่วประเทศมากถึง 110,942 คู่ ขณะที่สถานการณ์ในปี 2565 ก็กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยผ่านไปเพียงครึ่งปี ตั้งแต่ ม.ค. – ส.ค. มีคู่รักตัดสินใจแยกทางแล้ว 78,995 คู่ จึงคาดว่าแนวโน้มการหย่าร้างในปีนี้จะสูงกว่าปีที่ผ่านมา

ชี้ตัวเลขหย่าร้างฟ้องสัมพันธภาพครอบครัว “มีปัญหา”

‘นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์’ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวกับสำนักข่าวมติชนว่า ตัวเลขข้างต้นสะท้อนถึงสัมพันธภาพครอบครัวที่มีปัญหา อันมีสาเหตุไม่ว่าจะความเครียดจากภาวะเศรษฐกิจ การทำงาน และโรคระบาด ซึ่งถูกระบายออกกับครอบครัวซึ่งเป็นด่านแรก เห็นได้จากการรายงานสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวสูงขึ้นในช่วงการระบาด ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับครอบครัวเปราะบาง และเสี่ยงเปราะบาง

“หากวิเคราะห์ตัวเลขหย่าร้าง ส่วนใหญ่น่าจะเป็นการหย่าร้าง เพื่อแยกออกจากกัน ซึ่งอัตราการหย่าร้างที่เพิ่มมากขึ้น ฟ้องว่าครอบครัวได้รับผลสะเทือน ควรให้ความช่วยเหลือกับครอบครัวที่เปราะบางมากขึ้น ทำอย่างไรทำให้มีทางออกมากกว่าการหย่าร้าง หรือใช้ความรุนแรงในครอบครัว ส่วนการหย่าร้างแล้วยังอยู่ด้วยกันเพียงไม่อยากมีพันธะทางกฎหมาย เช่น ไปลงทุนทำธุรกิจ แม้จะมีอยู่แต่คาดว่ามีเป็นส่วนน้อย” นพ.ยงยุทธ กล่าว

“เครียดสะสม” กระตุ้นความรุนแรงในครอบครัว – ภรรยาโดนทำร้ายพุ่ง!

สอดคล้องกับผลสำรวจช่วงกลางปี 2564 ที่สถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรง โดยสวนดุสิตโพลได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัว พบว่า นอกจากปัญหา อันดับ 1 หนี้สิน อันดับ 2 คนในครอบครัวตกงาน ที่เหลืออันดับ 3 – 5 ล้วนเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ในครอบครัวทั้งสิ้น ได้แก่ ความเครียด ทะเลาะเบาะแวง เลิกลา/หย่าร้าง ตามลำดับ

ขณะเดียวกัน ข้อมูลศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ที่ชี้ว่าโควิดเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ประกอบกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จนเกิดความเครียดสะสม เมื่อหาทางออกด้วยการดื่มสุรา หรือเสพยาเสพติด ยิ่งทำให้ความรุนแรงบานปลายมากขึ้น ระหว่างเดือน ต.ค. 2563 – พ.ค. 2564 มีผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 1,492 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง 81% ในจำนวนนี้ เป็นความสัมพันธ์สามี-ภรรยามากที่สุด 39%


ข่าวที่เกี่ยวข้อง