คัดลอก URL แล้ว
[FOLLOW UP] เร่งเก็บ “ภาษีความเค็ม” เหตุคนไทยกินเกิน 2 เท่า! นำร่อง บะหมี่กึ่ง-อาหารแช่-ขนมขบเคี้ยว

[FOLLOW UP] เร่งเก็บ “ภาษีความเค็ม” เหตุคนไทยกินเกิน 2 เท่า! นำร่อง บะหมี่กึ่ง-อาหารแช่-ขนมขบเคี้ยว

จากข้อมูลผลสำรวจปริมาณการบริโภคเกลือโซเดียมของคนไทยในปี 2563 พบว่า มีอัตราการบริโภคเฉลี่ย 3,636 มก./วัน เทียบเท่ากับการบริโภคเกลือ 1.8 ช้อนชา เกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำเกือบ 2 เท่า ทำให้ภาครัฐอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการจัดเก็บ “ภาษีความเค็ม” ตามปริมาณโซเดียมในอาหาร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้คาดว่าอาจประกาศแนวทางปฏิบัติในปี 2565 เพื่อหวังลดปริมาณความเค็มและโซเดียม จากการบริโภคของคนไทย ซึ่งมีการประเมินว่าหากมาตราการนี้บังคับใช้ จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มสินค้าโซเดียมสูง ที่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดประมาณ 88,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18% ของมูลค่าตลาดอาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปทั้งหมดในประเทศ

ชี้ “กินเค็ม” มากเกิน เสี่ยงสารพัดโรคเรื้อรัง ความดัน – โรคหัวใจและหลอดเลือด

‘ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์’ ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ปัญหาการกินเค็มที่มากเกิน ส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายหนา เกิดการสะสมของพังผืดในกล้ามเนื้อหัวใจ ไต และหลอดเลือด อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

การมุ่งเป้าปรับลดพฤติกรรมการบริโภคโซเดียมของคนไทยลง 30% ภายในปี 2568 หรือบริโภคไม่เกิน 700-800 มก./มื้ออาหาร จะช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้ถึง 20% รวมทั้งยังช่วยลดอัตราการตายจากโรคดังกล่าวได้ 5-7%

ที่ผ่านมา สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ จัดสภาพแวดล้อมด้านอาหารเพื่อสุขภาวะ ที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การผลักดันให้เกิดมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรค NCDs การพัฒนาสารทดแทนความเค็ม การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารลดโซเดียม รวมถึงการขับเคลื่อนมาตรการภาษีโซเดียม เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงสูตรลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นต้น

ดันรัฐฟื้น “ภาษีความเค็ม” เล็งหารือกรมสรรพสามิต สู่เป้าหมายลดเค็ม 30%

“ในปี 2568 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า สสส. ตั้งเป้าเรื่องการบริโภคเค็มของคนไทยไว้ว่าต้องลดลง 30% จึงเตรียมฟื้นเรื่องภาษีความเค็ม เข้ามากำกับดูแลผลิตภัณฑ์อาหาร ทั้งในส่วนของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ เนื่องจากมีการบริโภคมากและมีความเค็มสูง โดยจะมีการหารือกับกรมสรรพสามิตเพื่อทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง หลังจากมีการชะลอไปเมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาด” ทพญ.จันทนา กล่าว

ขณะที่ในด้านตัวเลขทางเศรษฐกิจนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินว่า กลุ่มสินค้าที่อาจเข้าข่ายมีปริมาณโซเดียมสูง ซึ่งวัดจากปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งบรรจุภัณฑ์ จากการสำรวจสุ่มตัวอย่างสินค้าในตลาด ประเมินว่าในปี 2565 มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 88,000 ล้านบาท คิดเป็น 18% ของมูลค่าตลาดอาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด โดยคาดว่ากลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็น/แช่แข็ง โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป อาหารปรุงสำเร็จ ปลากระป๋อง และขนมขบเคี้ยว

คาดไทยใช้อัตราภาษีแบบขั้นบันได “เค็มมากจ่ายมาก”

สำหรับแนวทางการจัดเก็บภาษี คาดว่าจะเก็บจากผู้ผลิตอาหารโดยตรง และใช้อัตราภาษีแบบขั้นบันได “เค็มมากจ่ายมาก” เช่น ในฮังการี ที่จัดเก็บภาษีจากอาหารที่มีปริมาณเกลือสูง ในอัตรา 0.8 ยูโรต่อกิโลกรัม หากมีปริมาณเกลือเกินกว่า 1 กรัมต่ออาหาร 100 กรัม ส่งผลให้ผู้ผลิตอาหารในฮังการีกว่า 40% ปรับเปลี่ยนสูตรอาหารลดโซเดียมลง ส่วนผู้บริโภคอย่างน้อย 14% เปลี่ยนไปเลือกซื้ออาหารสุขภาพ ทดแทนอาหารที่มีโซเดียมสูง

ส่วนในประเทศไทยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่น่าจะมุ่งเน้น ที่การปรับสูตรอาหารให้มีปริมาณโซเดียมลดลง หรือการใช้เกลือโซเดียมต่ำทดแทน โดยเฉพาะกลุ่มอาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่เป็นอาหารพื้นฐาน และมีข้อจำกัดในการปรับเพิ่มราคาสินค้า เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่มีแนวโน้ม ที่จะเลือกซื้อสินค้าตามปัจจัยด้านราคาเป็นหลัก 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง