คัดลอก URL แล้ว
ไทยส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้สหรัฐฯ หลังหลบหนีคดีสินบน และร่วมกันฟอกเงิน

ไทยส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้สหรัฐฯ หลังหลบหนีคดีสินบน และร่วมกันฟอกเงิน

KEY :

วันนี้ (2 กันยายน 2565) นายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายกุลชัย ทองลงยา พนักงานอัยการเจ้าของสำนวน ได้ร่วมกันแถลงความคืบหน้าคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนนักธุรกิจชาวสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ (Republic of the Marshall Islands) ให้แก่สหรัฐอเมริกาในข้อหาร่วมกันทุจริตให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐในต่างประเทศ และร่วมกันฟอกเงิน

โดยเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 เวลา 21.30 น. ทางการไทยได้ส่งมอบตัวนายแครี่ ยาน (Cary YAN) และนางสาวจีน่า ซู (Gina ZHOU) นักธุรกิจชาวสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ให้แก่ผู้แทนผู้ประสานงานกลางของสหรัฐอเมริกาและเจ้าหน้าที่ยูเอส มาแชล (US Marshal) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ
เพื่อเดินทางกลับไปดำเนินคดีที่สหรัฐอเมริกาแล้ว

คดีนี้อัยการสูงสุด ผู้ประสานงานกลางสหรัฐอเมริกามีคำร้องขอให้ผู้ประสานงานกลางของไทย ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนายแครี่ ยาน และนางสาวจีน่า ซู ให้แก่ทางการสหรัฐอเมริกาโดยผู้ต้องหาทั้งสองถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานร่วมกันทุจริตให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐในต่างประเทศ และร่วมกันฟอกเงินตามกฎหมายอาญาของสหรัฐอเมริกา

โดยพฤติการณ์การกระทำผิดของผู้ต้องหาทั้งสองคน คือ มีการจ่ายสินบนให้สมาชิกวุฒิสภาของประเทศหนึ่งในมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อให้ออกกฎหมายเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตน เหตุเกิดต่อเนื่องระหว่างสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลและนครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ทางการสหรัฐอเมริกาได้ออกหมายจับบุคคลทั้งสองแล้ว และบุคคลทั้งสองได้หลบหนีมายังประเทศไทย

อัยการสูงสุด ผู้ประสานงานกลางตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 พิจารณาคำร้องขอของสหรัฐอเมริกาแล้ว เห็นว่า กรณีเข้าหลักเกณฑ์การส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามกฎหมายไทย และสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2526 จึงสั่งการให้พนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศยื่นคำร้องขอออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งสอง

ต่อมาวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมบุคคลทั้งสองได้และนำตัวส่งพนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ พนักงานอัยการได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลขอให้ส่งตัวบุคคลทั้งสองเป็นผู้ร้ายข้ามแดน

ผู้ต้องหาทั้งสองต่อสู้คดีในประเด็นสำคัญว่า การกระทำของผู้ต้องหาเกิดขึ้นในต่างประเทศไม่เป็นความผิดตามกฎหมายไทย จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ความผิดสองรัฐที่จะส่งข้ามแดนได้

พนักงานอัยการได้เสนอพยานหลักฐานและข้อกฎหมายหักล้างตามพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 176 ซึ่งบัญญัติขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับหลักการตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตว่า การให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศก็เป็นความผิดตามกฎหมายไทย จนกระทั่งวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ศาลอาญาได้มีคำสั่งถึงที่สุดให้ส่งตัวบุคคลทั้งสองเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสหรัฐอเมริกา

การส่งผู้ร้ายข้ามแดนคดีนี้อยู่ในความสนใจของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นคดีแรกของสหรัฐอเมริกาและไทยที่มีการพิจารณาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในข้อหาทุจริตให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศในดินแดนต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามหลักการและเจตนารมณ์ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nations Convention against Corruption 2003 (UNCAC)) ที่ทั้งไทยและสหรัฐอเมริกาต่างก็เป็นรัฐภาคี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง