เหตุสลดลืมเด็กไว้ในรถรับส่งนักเรียนจนเสียชีวิต เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทย โดยสถิติในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุเด็กติดในรถกว่า 130 เหตุการณ์ และกรณีล่าสุดจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย หากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในการยกระดับแนวทางป้องกัน และข้อปฏิบัติให้เป็นมาตรฐาน
…
สถิติเด็ก 2-6 ขวบ ถูกทิ้งติดในรถยนต์มากที่สุด 7 ปี รวมเสียชีวิตมากกว่า 12 ราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค รวบรวมจากข่าวที่เผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ตั้งแต่ปี 2557-2563 พบว่า มีเหตุการณ์เด็กที่ถูกลืมและทิ้งให้อยู่ในรถตามลำพังมากถึง 129 เหตุการณ์ ในจำนวนนี้มากที่สุดเป็นเด็กอายุ 2 ปี รองลงมาคือเด็กอายุ 1 ปี และอายุ 3 ปี ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในรถยนต์ส่วนบุคคลมากที่สุด ถึงขั้นเสียชีวิต 6 ราย เป็นเพศหญิง 3 ราย เพศชาย 3 ราย ทั้งหมดอายุระหว่าง 2- 6 ปี
ที่น่าสนใจคือ แม้เหตุการณ์เด็กติดในรถรับส่งนักเรียนจะมีสัดส่วนที่น้อยกว่ารถยนต์ส่วนบุคคล แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว แล้วมักนำไปสู่การเสียชีวิต เพราะถูกลืมทิ้งไว้นานกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไป โดยจากตัวเลขข้างต้นพบว่า มีเด็กเสียชีวิตจากการติดในรถนักเรียน 5 ราย และติดในรถยนต์ส่วนบุคคลของครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เสียชีวิตอีก 1 ราย
เน้นย้ำห้ามทิ้งเด็กไว้ในรถ โดยลำพังเด็ดขาด!
‘รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์’ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ชี้ว่ากรณีเด็กติดอยู่ในรถแล้วเสียชีวิต คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นเพราะขาดอากาศหายใจ เนื่องจากประตูหน้าต่างปิดสนิท แต่ความจริงแล้วอากาศภายในรถสามารถนอนได้นานเป็นชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่ที่เด็กจะเสียชีวิตเป็นเพราะความร้อนภายในที่สูงขึ้น
รศ.นพ.อดิศักดิ์ เน้นย้ำว่า ผู้ปกครองห้ามทิ้งเด็กไว้ในรถโดยลำพังเด็ดขาด ไม่ว่าจะต้องไปทำธุระนอกรถเร็วหรือช้า แต่ควรนำเด็กลงจากรถไปด้วยทุกครั้ง แม้เด็กจะหลับอยู่อย่ากังวลว่าจะเป็นการปลุกลูก กลัวลูกงอแง ไม่ใช่เพียงความปลอดภัยเท่านั้น แต่เป็นการฝึกให้ลูกได้เรียนรู้ว่าทุกครั้งที่จอดรถต้องลงจากรถ ที่สำคัญการเปิดแง้มหน้าต่างไว้แล้วปล่อยให้เด็กอยู่ภายใน ไม่ได้ช่วยลดอุณหภูมิภายในรถลดลง
ศธ. ตั้งคณะสอบข้อเท็จจริง เป็นความบกพร่องของใคร
สำหรับกรณีที่เป็นรถโรงเรียน ความจริงไม่อยากแนะนำให้ลูกวัยเด็กเล็กใช้บริการรถโรงเรียน แต่ด้วยสภาพการจราจรและวิถีชีวิตอาจทำให้พ่อแม่ต้องตัดสินใจใช้บริการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถตู้ทึบ ฉะนั้น พ่อแม่ต้องดูถึงมาตรการความปลอดภัย ทั้งสภาพรถ พนักงานขับรถ และคนไปรับส่งลูกว่ามีใครบ้าง มีความเข้าใจเรื่องเด็กเล็กหรือไม่ เวลารับส่งเด็กขึ้นรถลงรถมีการเช็คชื่อเด็กหรือไม่ แล้วมาตรการของโรงเรียนเป็นอย่างไร เมื่อเด็กถึงโรงเรียนแล้วมีการดับเบิ้ลเช็คอีกครั้งหรือเปล่า เป็นต้น
ส่วนกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับเด็กอายุ 7 ขวบ โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี นั้น ‘น.ส.ตรีนุช เทียนทอง’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความบกพร่องของใคร พร้อมยืนยันว่ามีระเบียบกระทรวง ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ.2562 ดังนั้น จะบอกว่าไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องใช้ผลการสอบสวนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิตของนักเรียนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
กางระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน
ทั้งนี้ ในข้อ 11 ของระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562 ได้มีการกำหนดให้ผู้ควบคุมดูแลนักเรียนมีหน้าที่ ดังนี้
1. ตรวจสอบจำนวนนักเรียนที่รับ-ส่ง แต่ละเที่ยวให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามบัญชีรายชื่อนักเรียน พร้อมทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อนักเรียนที่ใช้บริการ
2. ประจำอยู่กับรถโรงเรียนตลอดเวลาที่รับ-ส่งนักเรียน เพื่อควบคุมดูแล และช่วยเหลือนักเรียนให้เกิดความปลอดภัยตลอดการเดินทาง
3. รายงานให้ทางโรงเรียนทราบทันทีที่เกิดอุบัติเหตุหรือมีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้น เข้ารับการอบรมตามที่โรงเรียนหรือผู้ดำเนินกิจการรถโรงเรียนกำหนด