ประเทศไทยผ่านการรณรงค์ “สวมหมวกกันน็อค” มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ค่าเฉลี่ยอัตราสวมใส่หมวกทั้งคนขับและซ้อนท้าย ยังคงไม่เกิน 60% ในขณะที่ตัวเลขอุบัติเหตุบนถนน หลังสถานการณ์แพร่ระบาดคลี่คลาย ได้กลับมาเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยในปีนี้ 2565 กลับมาพุ่งสูงขึ้น โดยปัจจุบันผ่านไปเพียงครึ่งปี ได้แซงหน้าปี 2564 ไปแล้ว
…
วิจัยยืนยันสวมหมวกกันน็อค ลดตายได้ถึง 40%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลศึกษาวิจัยยืนยันว่า การสวมหมวกกันน็อคเพียงอย่างเดียว สามารถลดการตายได้ถึง 40% โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2565 กระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้ออกสั่งการให้ทุกจังหวัด เร่งดำเนินมาตรการ “สวมหมวกกันน็อค 100% ทั้งจังหวัด”
โดยเน้นย้ำทุกส่วนราชการ, สถานศึกษา, สถานพยาบาล, อปท., ศูนย์เด็กเล็ก, สถานประกอบการ, นิคมอุตสาหกรรม จะต้องมีมาตรการองค์กร ให้เป็นพื้นที่สวมหมวกนิรภัย 100% และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง โดยนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการทำงาน ควบคู่ไปกับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์
“เชียงใหม่” ต้นแบบความสำเร็จ เพิ่มอัตราสวมหมวกกันน็อก ด้วยกล้องตรวจจับ AI
“ทุกคนรู้ว่าการป้องกันดีกว่ารักษา” – ‘นพ.ธีรวุฒิ โกมุทบุตร’ ที่ปรึกษา สอจร. ภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า ข้อมูลการตายกลุ่มผู้ขับขี่ จยย. ชี้ชัดว่าส่วนใหญ่ กระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองและพื้นที่รอบๆ ประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 200 ราย เรียกว่าเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของทั้งจังหวัด คณะทำงานจึงตั้งเป้าว่าจะต้องเพิ่มอัตราการสวมหมวก เพื่อลดการตายลงให้ได้อย่างน้อย 50% โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังเชียงใหม่ นำเอาเทคโนโลยีกล้องและระบบ AI ตรวจจับผู้ไม่สวมหมวกกันน็อค นำร่อง 5 อำเภอ รวม 13 จุด ทำให้สัดส่วนการสวมหมวกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
“ปัจจุบันสถิติการสวมหมวกเพิ่มขึ้นมาก ค่าเฉลี่ยใส่อยู่ 80-90% การนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ หากเราทำกันอย่างจริงจัง จะช่วยเพิ่มอัตราการใส่หมวกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เชียงใหม่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การติดตั้งกล้องและระบบตรวจจับอัตโนมัติ ทำให้อัตราสวมหมวกทุกจุดที่ติดตั้ง เพิ่มเป็น 80% ในตอนกลางวัน และมากว่า 60% ในตอนกลางคืน นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก ในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี”
ขอนแก่น ชี้เทคโนโลยีควบคู่บังคับใช้กฎหมาย เพิ่มอัตราสวมหมวกได้ยั่งยืน
‘ดร.เจษฎา คำผอง’ อาจารย์ประจำ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น กล่าวว่า ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น พบว่าการบังคับใช้กฎหมาย มีส่วนทำให้การสวมหมวกกันน็อคเพิ่มขึ้น โดยงานวิจัย 4-5 ปีที่ทำต่อเนื่อง ทั้งในด้านการบังคับใช้กฎหมาย และข้อกำหนดมาตรการองค์กร อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริม ก็ถือว่ามีความคัญไม่แพ้ 2 มาตรการข้างต้น สะท้อนจากหลังนำกล้องระบบ AI เข้ามาตรวจับผู้ขับขี่ไม่สวมหมวก ทำให้ปริมาณการใส่หมวกกันน็อค เพิ่มขึ้นสูงมาก
แต่สิ่งที่จะทำให้การสวมหมวกต่อเนื่อง คือ “การบังคับใช้กฎหมาย” ซึ่งผลการศึกษาชี้ชัดว่าสองมาตรการนี้ จำเป็นต้องทำควบคู่กันไป เพื่อควบคุมพฤติกรรม ภายใต้ระบบติดตามผลเป็นระยะ 6 เดือน 9 เดือน 1 ปี จุดสังเกตที่น่าสนใจคือ ถ้ามีการดำเนินมาตรการ และประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง เรื่อยๆ เกิน 6 เดือน พฤติกรรมคนจะปรับเปลี่ยน รวมถึงบอกต่อคนรอบข้างด้วย เพื่อให้คนใกล้ตัวปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน