นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเปิดงานการประชุมใหญ่สหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก สมัยที่ 13 (13th APPU Congress) ณ โรงแรมแชงกรี-ล่า กรุงเทพฯ ว่า รัฐบาลไทยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับผู้แทนและแขกผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมการประชุมใหญ่สหภาพไปรณษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก สมัยที่ ๑๓ และในฐานะประเทศผู้ก่อตั้งสหภาพฯ ประเทศไทยรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มีส่วนร่วม ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลกิจกการไปรษณีย์และผู้ให้บริการที่ได้รับมอบหมายของภูมิภาคนี้ รวมทั้งผู้สังเกตการณ์จากผู้ให้บริการที่ได้รับมอบหมายจากภูมิภาคอื่นมาร่วมประชุมในครั้งนี้
.
กิจการไปรษณีย์นับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ที่ประสบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในด้านการสื่อสาร ขนส่งโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีด้านการสื่อสารในยุคดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อการลดลงของจดหมาย การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ และการเติบโตของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดน
.
สำหรับการเปลี่ยนแปลงข้างต้นไม่ใช่ความท้าทายของกิจการไปรษณีย์เพียงประการเดียว เนื่องจากทั่วโลกกำลังเผชิญสถานการณ์ต่างๆ เช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ความไม่สงบทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงสภาวะสิ่งแวดล้อม และการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นต้น ในการนี้ เพื่อให้สามารถพร้อมรับกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น ประเทศสมาชิกสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก (APPU) ต้องเตรียมพร้อมต่อการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการจัดการ ระบบปฏิบัติการ กลยุทธ์การตลาด และการพัฒนาบริการ รวมทั้งต้องกระตุ้นความร่วมระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งรวมถึง Strategic partners และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งผู้ให้บริการรายอื่นๆ ในตลาด
.
ดังนั้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านกิจการไปรษณีย์ดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากเกี่ยวของกับการกำกับดูแล เช่น การดำเนินพิธีการศุลกากร และความปลอดภัยด้านการบิน และที่สำคัญมากไปกว่านั้น ในยุคดิจิทัลนี้ เราต้องใช้เครือข่ายของการไปรษณีย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่าน IoT และ Big Data โดยต้องเน้นความสำคัญในเรื่อง Cyber Security และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy Protection)
.
ที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทย ได้ปรับปรุงการปฏิบัติการให้สามารถก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี มีการพัฒนาจุดแข็งและบริการไปรษณีย์ที่สำคัญ เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น การพัฒนาช่องทางจำหน่ายสินค้าอีคอมเมิร์ซผ่านเว็บไซต์ thailandpostmart.com ทำให้เกษตรกรหรือผู้ผลิตในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงเครือข่ายของไปรษณีย์ไทยทั้งที่เป็นที่ทำการไปรษณีย์และช่องทางจำหน่ายทางออนไลน์ อีกตัวอย่างที่สำคัญคือการพัฒนาระบบการจัดการเอกสารแบบเบ็ดเสร็จ (TDH – Total Document Handling System) ซึ่งเป็นช่องทางในการส่งต่อข้อมูล/ข่าวสารผ่านแพลตฟอร์มที่เชื่อถือได้ แทนการนำจ่ายเอกสารทางกายภาพ
.
“Digital Post ID” เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมซึ่งปรับเปลี่ยนรหัสไปรษณีย์ 5 หน่วย ไปสู่บริการ Digital ID ที่เน้นการระบุสถานที่นำจ่าย ระบบจ่าหน้าดิจิทัลสามารถเชื่อมต่อกับระบบ GPS เพื่อให้สามารถระบุสถานที่และที่อยู่ได้ทันที ทำให้การนำจ่ายสามารถทำได้รวดเร็วและถูกต้องมากขึ้น ระบบนี้จะเชื่อมต่อกับข้อมูลส่วนตัวของหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล และบริษัทเอกชน เช่น หน่วยงานที่ให้บริการสวัสดิการของรัฐ บริการการเงิน ข้อมูลสถิติประชากรและครัวเรือน บริการด้านการศึกษา ซึ่งเป็นข้อมูลที่ต้องรักษาความลับตามกฎหมายการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)
.
“เชื่อว่ากิจการไปรษณีย์กำลังก้าวสู่บทใหม่ เราจึงต้องพร้อมรับต่อความท้าทายที่คาดไม่ถึง ซึ่งเชื่อมั่นว่าความสำเร็จที่ผ่านมาของ APPU สามารถกระตุ้นให้รัฐบาลมีบทบาทที่สร้างสรรค์ยิ่งขึ้นในการส่งเสริมกิจการไปราณีย์ กิจกรรมความร่วมมือและความสัมพันธ์ใกล้ชิดของประเทศสมาชิก APP จะส่งผลต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของกิจการไปรษณีย์ และความเป็นอยู่ของประชาชนของแต่ละประเทศดีขึ้น ขอเน้นย้ำว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ของ APPU” รัฐมนตรีดีอีเอส กล่าว
.