เมื่อ “เงินเฟ้อ” ทำให้เงินในกระเป๋ามีค่าลดลง อำนาจในการจับจ่ายก็น้อยลงตามไปด้วย โดยมีการประเมินว่ารายจ่ายครัวเรือน จะถีบตัวสูงขึ้น 1,000 – 2,000 บาท ขณะที่ล่าสุดวานนี้ (25 ส.ค. 2565) จากการเปิดเผยตัวเลขผลสำรวจ “หนี้ครัวเรือนไทย” โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ขณะนี้ยอดหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงมากเฉลี่ยอยู่ที่ครัวเรือนละ 501,711 บาท !!!
…
สิ้นปี 66 ยอดหนี้ครัวเรือน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในรอบ 16 ปี
ตัวเลขหนี้ครัวเรือนข้างต้น นับว่าสูงขึ้นจากผลสำรวจปีที่แล้ว 3.7% โดยในภาพรวมกลุ่มตัวอย่าง 1,350 คน พบว่า ส่วนใหญ่ 78.9% เป็นหนี้ในระบบ ในจำนวนนี้มากถึง 65.9% ตอบว่าเคยผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉลี่ยมีภาระผ่อนตกอยู่ 12,801 บาท/เดือน สาเหตุที่ทำให้เป็นหนี้เพิ่มขึ้น มาจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้รายได้ไม่พอกับรายจ่าย รวมถึงมีการผ่อนสินค้ามากเกินไป
นายธนวรรธน์ พลวิชัย’ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดว่า ณ สิ้นปี 2565 หนี้ครัวเรือนไทยจะมีสัดส่วนอยู่ที่ 89.3% ต่อจีดีพี คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 14.97 ล้านล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ศูนย์ฯ เคยทำการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2550 แต่หนี้ส่วนใหญ่ที่อยู่ในระบบ ยังไม่น่ากังวลเพราะมีทรัพย์สินค้ำประกัน เช่น บ้าน และรถยนต์
ประเมินค่าใช้จ่ายครัวเรือน แบกค่าอาหารพุ่ง
ขณะที่ ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ เผยว่าครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายรายเดือน 18,061 บาท โดย ค่าใช้จ่ายที่มีสัดส่วนสูงที่สุด 5 อันดับแรก คือ
1) ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัทย์มือถือ 4,350 บาท
2) ค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าชหุงต้ม ค่าใช้ในบ้าน 3,961 บาท
3) เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ 1,760 บาท
4) อาหารบริโภคในบ้าน (เดลิเวอลรี่) 1,607 บาท
5) อาหารบริโภคในบ้าน (ข้าวราดแกง) อาหารตามสั่ง(เคเอฟซี พิซซ่า)1,236 บาท