คัดลอก URL แล้ว
TaC Team ป.ป.ช. ลงพื้นที่สุโขทัย กำหนดข้อตกลงต้านและลดทุจริตในด้านการบุกรุกพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์

TaC Team ป.ป.ช. ลงพื้นที่สุโขทัย กำหนดข้อตกลงต้านและลดทุจริตในด้านการบุกรุกพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์

สำนักงาน ป.ป.ช. นำโดยนายวิวัฒน์ เจริญฉ่ำ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 6 นายปรีชา ยาศรี ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดสุโขทัย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 6 และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง ลงพื้นที่ร่วมกับนายสุชาติ ทีคะสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG : Together against Corruption – TaC)
ในประเด็นความเสี่ยงด้านการบุกรุกพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ (การบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกทางวัฒนธรรม) พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัย และพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

ประเด็นความเสี่ยงดังกล่าวมีที่มาจากเครือข่ายชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดสุโขทัย แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับบริหารจัดการพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยพบว่ามีการประกาศขายที่ดินในเขตที่สาธารณะซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และมีการบุกรุกปลูกสร้างอาคารในเขตพื้นที่อุทยานฯโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย มีกรณีการทำลายโบราณสถานแนวกำแพงเมืองเก่าเพื่อเป็นช่องทางเข้าออกที่พักอาศัย ปัจจุบันการบุกรุกขยายตัวและมีแนวโน้มมากขึ้นกว่าเดิม ส่งผลต่อการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกทางวัฒนธรรมที่ได้รับขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก (UNESCO) ภายใต้ชื่อเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร

จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยมีการประกาศพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ รวม 43,750 ไร่ ซึ่งกรมศิลปากรได้นำพื้นที่อุทยานทั้งหมดขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ และต่อมามีการนำพื้นที่ทุ่งพระบาทน้อยที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันขึ้นทะเบียนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) รวมทั้งมีพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์บางส่วนทับซ้อนกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติรามคำแหงและป่าเขาหลวง ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนอยู่ในความรับผิดชอบของหลายส่วนราชการ ได้แก่ กรมศิลปากร กรมธนารักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมป่าไม้ อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีราษฎรบางส่วนอาศัยอยู่ก่อนประกาศเป็นพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ และบางส่วนเป็นผู้บุกรุกรายใหม่ ที่ผ่านมาหน่วยงานในพื้นที่ขาดการบูรณาการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์และการปกป้องรักษาพื้นที่จึงทำให้ปัญหาการบุกรุกเพื่อทำการเกษตรและการปลูกสร้างอาคารเพิ่มมากขึ้น

ในส่วนของพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย มีการประกาศพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ เนื้อที่รวม 28,217 ไร่ นำส่งขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุในส่วนของโบราณสถาน จำนวน 1,500 ไร่ ซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นแนวยาวขนานกับลำน้ำยม มีส่วนราชการรับผิดชอบร่วมกัน ได้แก่ กรมศิลปากร กรมธนารักษ์ กรมเจ้าท่า อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัญหาในพื้นที่เป็นกรณีการบริหารจัดการพื้นที่แนวกำแพงเมือง ซึ่งมีราษฎรอยู่อาศัยก่อนประกาศพื้นที่เป็นเขตโบราณสถาน

จากการลงพื้นที่ TaC Team โดยมีสำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อุทยานแห่งชาติรามคำแหง สำนักงานที่ดินจังหวัดสุโขทัย สำนักงานธนารักษ์พื้นที่สุโขทัย สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพิษณุโลก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบข้อเท็จจริง ดังนี้

พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

1. การป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐยังขาดการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขาดการทำความเข้าใจกับราษฎรที่อยู่อาศัยในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องการปลูกสร้างอาคารของราษฎรที่ยังเป็นช่องว่างไม่มีหน่วยงานควบคุมกำกับดูแลให้ชัดเจน ราษฎรที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำประโยชน์ในพื้นที่เมื่อครอบครัวขยายขึ้นมีการปลูกสร้างอาคารเพิ่มเติมโดยไม่ได้ขออนุญาตตามกฎหมายควบคุมอาคาร เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะพิจารณาอนุญาตเฉพาะกรณีที่มีเอกสารสิทธิ์เท่านั้น การขออนุญาตก่อสร้างที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้วิธีออกหนังสือรับรองการเข้าทำประโยชน์ให้แก่ราษฎรเพื่อนำไปใช้ขออนุญาตต่อหน่วยงานของกรมศิลปากรตามกฎหมายโบราณสถาน ข้อเท็จจริงจึงปรากฏว่าราษฎรดำเนินการขยายขอบเขตการอยู่อาศัยและปลูกสร้างอาคารไปโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ไม่ได้กำกับดูแลให้เป็นไปตามหน้าที่ อำนาจ และบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

2. พื้นที่ในเขตอรัญญิก (ทุ่งเลี้ยงสัตว์) ที่เป็นรอยต่อระหว่างอุทยานประวัติศาสตร์กับเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาหลวง เป็นพื้นที่ซึ่งมีการอนุญาตให้ราษฎรเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อทำการเกษตรปลูกมันสำปะหลัง แต่เนื่องจากแนวเขตที่ดินไม่ชัดเจนจึงมีความเสี่ยงที่พื้นที่การเกษตรบางส่วนอาจรุกล้ำเข้าไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติ

3. กรณีการขายที่ดินในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย พบว่ามีการประกาศขายที่ดินจำนวน 68 ไร่ บริเวณทางเข้าโบราณสถานวัดสะพานหินใกล้จุดตรวจของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นพื้นที่มีเอกสารการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) จำนวน 19 ไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่ในเขตที่ขึ้นทะเบียนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ที่อนุญาตให้ราษฎรที่เข้าทำประโยชน์ก่อนประกาศเป็นเขตอุทยานประวัติศาสตร์สามารถทำกินต่อไปได้ โดยการได้รับอนุญาตดังกล่าวต้องตกทอดต่อกันภายในครอบครัว โดยไม่สามารถขายหรือโอนให้แก่ผู้อื่นได้

พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

พบว่าโบราณสถานแนวกำแพงเมืองเชลียงตั้งแต่บริเวณทางเข้าวัดพระปรางค์ ปรากฏมีราษฎรสร้างที่พักอาศัยตลอดแนวกำแพงเมือง จำนวน 26 ราย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นช่องว่างระหว่างแนวกำแพงเมืองขนานไปกับลำน้ำยม พบว่าแนวกำแพงเมืองไม่สมบูรณ์ต่อเนื่องจากการถูกรื้อศิลาแลงเป็นช่องทางเข้าออกที่พักอาศัย มีราษฎรบางรายนำดินมาถมทับแนวกำแพงเพื่อเป็นช่องทางสำหรับรถยนต์เข้าออกได้ หน่วยงานในพื้นที่ยังขาดการสร้างความเข้าใจร่วมกับประชาชนในการร่วมกันดูแลรักษาโบราณสถาน จึงส่งผลให้หน่วยงานของกรมศิลปากรไม่สามารถเข้าบูรณะโบราณสถานให้เป็นแนวกำแพงเมืองที่สมบูรณ์ได้ รวมทั้ง มีกรณีผู้ประกอบการร้านอาหารร้านกาแฟในเขตพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างถาวรล่วงล้ำแม่น้ำยม

ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 นายสุชาติ ทีคะสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เป็นประธานการประชุมกำหนดข้อตกลงร่วมในการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงด้านการบุกรุกพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์
(การบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกทางวัฒนธรรม) พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัย และพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ร่วมกับ นายวิวัฒน์ เจริญฉ่ำ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 6 นายปรีชา ยาศรี ผู้อำนวยการสำนักงาน​ ป.ป.ช.​ จังหวัดสุโขทัย
นายมนตรี ธนภัทรพรชัย ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย นางธาดา สังข์ทอง ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย นายธนสิทธ์ คชศิลา หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย นางสาวพิชามญชุ์ บุญเกตุ ธนารักษ์พื้นที่สุโขทัย นายวิชัย ท้าวใจวงศ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติรามคำแหง นางสาวณธษา วงษ์จันทร์ เจ้าหน้าที่สอบสวนชำนาญการ ผู้แทนสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานที่ดินจังหวัดสุโขทัย สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุโขทัย สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอศรีสัชนาลัย ตำรวจภูธรเมืองเก่า ตำรวจภูธรศรีสัชนาลัยเทศบาลตำบลเมืองเก่า องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองเก่า และเทศมนตรีเมืองศรีสัชนาลัย โดยที่ประชุมจึงกำหนดข้อตกลงร่วมที่หน่วยงานจะรับไปดำเนินการ ดังนี้

ข้อตกลงระยะเร่งด่วน

1. ให้หน่วยงานของกรมศิลปากร (รับผิดชอบพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์) ชะลอการอนุญาตก่อสร้างอาคารสำหรับผู้ขออนุญาตรายใหม่ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (รับผิดชอบพื้นที่สาธารณะประโยชน์ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน) ชะลอการออกใบรับรองการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์กรณีราษฎรมาขอหลักฐานเพื่อนำไปประกอบการขออนุญาตต่อกรมศิลปากร เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นการกระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องเนื่องจากพื้นที่อุทยานดังกล่าวถือเป็นพื้นที่ของรัฐที่อนุญาตให้ราษฎรที่อยู่มาก่อนสามารถใช้ประโยชน์ได้ต่อไปโดยต้องควบคุมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิมคือเพื่อการอยู่อาศัยและทำการเกษตร โดยต้องไม่มีการผ่อนปรนให้ขยายพื้นที่ใช้ประโยชน์ออกไปอีก สำหรับสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่เดิมให้ปฏิบัติตามแนวทางหนังสือเวียนของกรมศิลปากรที่ให้ดำเนินการได้เฉพาะการปรับปรุงซ่อมแซมให้คงไว้ตามสภาพเดิมตามที่เคยได้รับอนุญาตเท่านั้น 

2. กรณีมีการประกาศขายที่ดินในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยให้อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมธนารักษ์ แจ้งราษฎรรายดังกล่าวทราบทันทีว่าไม่สามารถดำเนินการได้ และให้ทราบถึงสิทธิ์ในที่ดินที่ราษฎรมีการครอบครองตามเอกสาร รวมทั้งจัดทำแนวเขตที่สาธารณะที่อยู่นอกเขตดังกล่าวให้ชัดเจน และขอความร่วมมือจากราษฎรไม่ดำเนินการใด ๆ ที่อาจเป็นการขัดต่อกฎหมาย

3. ให้นายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ร่วมกันดำเนินการสำรวจจำนวนประชากรที่ครอบครองและเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โดยจัดทำเป็นทะเบียนที่อยู่อาศัย จำนวนครัวเรือน ประเภทสิ่งก่อสร้าง และดำเนินการติดป้ายแสดงพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ซึ่งหากผู้ครอบครองรายใดมีการคัดค้านให้ชี้แจงสิทธิ์การครอบครองต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

4. ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับราษฎรในพื้นที่ โดยไม่มุ่งเน้นเฉพาะการดำเนินการตามกฎหมายเท่านั้น แต่รวมถึงการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ราษฎร ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ และกรมศิลปากร ต้องสื่อสารให้ราษฎรที่อาศัยอยู่หรือทำกินในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์เข้าใจอย่างชัดเจนถึงสิ่งที่สามารถดำเนินการได้และไม่ได้

5. กรณีการทำประโยชน์ของราษฎรบริเวณพื้นที่รอยต่อระหว่างเขตทุ่งเลี้ยงสัตว์ของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยอาจรุกล้ำพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาหลวง มอบหมายให้ป่าไม้จังหวัดตรวจสอบแนวเขตให้ชัดเจน โดยให้สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุโขทัย และตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์

6. ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย มอบหมายให้อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับกรมศิลปากรสำรวจทะเบียนผู้อยู่อาศัยและสิ่งปลูกสร้างตามแนวกำแพงเมืองเชลียงให้ครบถ้วน และให้สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยนำเสนอแผนการพัฒนาพื้นที่โบราณสถานแนวกำแพงเมืองเชลียงต่อชุมชนเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการพัฒนาแนวกำแพงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ประกอบด้วย การบูรณะกำแพงเมืองให้สมบูรณ์ การปรับสภาพภูมิทัศน์ด้านหน้ากำแพงเมืองแนวที่ติดกับถนน การกำหนดเส้นทางเข้าออกที่พักอาศัยร่วมกันของราษฎรให้อยู่หลังแนวกำแพงเมืองให้ราษฎรสามารถอยู่อาศัยและร่วมกันดูแลโบราณสถาน

7. กรณีสิ่งล่วงล้ำลำน้ำแม่น้ำยมในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพิษณุโลกได้ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีแล้ว 1 ราย สำหรับรายที่พบจากการลงพื้นที่ร่วมกันของ TaC Team ให้สำนักงานเจ้าท่าฯ ดำเนินการตรวจสอบระวางให้ชัดเจน หากพบว่าเป็นการล่วงล้ำลำน้ำให้พิจารณาดำเนินกาตามกฎหมายต่อไป

ข้อตกลงระยะยาว

เนื่องจากพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเป็นพื้นที่ทับซ้อนในความดูแลของหลายหน่วยงาน อีกทั้งยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุทั้งหมด การดำเนินการแก้ไขปัญหาในระยะยาวจึงต้องอาศัยการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานร่วมกัน ที่ประชุมจึงเห็นควรให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดดำเนินการตามแนวทางแก้ไขปัญหาที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแนะนำให้จัดแบ่งพื้นที่เป็น 4 ชั้น ดังนี้

ชั้นที่ 1 พื้นที่ที่ส่วนราชการใช้ประโยชน์กำหนดเป็นที่ราชพัสดุโดยสมบูรณ์ ให้กรมธนารักษ์และสำนักงานธนารักษ์พื้นที่สุโขทัยดำเนินการรังวัดแนวเขตและจัดทำแผนที่ มีส่วนราชการใช้ประโยชน์รวม 18 หน่วยงาน ต้องดำเนินการทำทะเบียนทั้งในส่วนของที่ดินและอาคาร กำหนดจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565

ชั้นที่ 2 พื้นที่โบราณสถาน วัด และที่สาธารณะประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ให้สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย สำนักงานธนารักษ์พื้นที่สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุโขทัย สำรวจพื้นที่ในส่วนที่นอกเหนือจากพื้นที่ชั้นแรก ในส่วนของกรมศิลปากรต้องดำเนินการทั้งในส่วนของพื้นที่โบราณสถานคูเมืองกำแพงเมือง และพื้นที่เขตอรัญญิกซึ่งให้ราษฎรเข้าอยู่อาศัยในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ ซึ่งเมื่อทะเบียนพื้นที่และทะเบียนราษฎรมีความชัดเจน กรมธนารักษ์จะสามารถนำมาจัดพื้นที่ให้เช่าได้ ในส่วนนี้อาจต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่น้อยกว่า 3 ปี

ชั้นที่ 3 เมื่อได้ข้อมูลชั้นที่ 1 ประกอบกับข้อมูลชั้นที่ 2 ให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่สุโขทัยนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาเพิกถอนที่ราชพัสดุที่เคยขึ้นทะเบียนไว้ทั้งแปลง โดยปรับปรุงแนวเขตที่ราชพัสดุให้คงไว้เฉพาะที่มีการใช้ประโยชน์ของส่วนราชการ สำหรับพื้นที่ที่ส่วนราชการไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ ผู้มีเอกสารสิทธิ์อาจเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์เพื่อขอออกโฉนดที่ดินต่อไป

ชั้นที่ 4 การพิจารณาออกเอกสารสิทธิ์ภายหลังการเพิกถอนที่ราชพัสดุแล้ว ให้สำนักงานที่ดินจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการโดยในส่วนของวัดหากมีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าทำประโยชน์เป็นวัดมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ อาจขอออกเอกสารสิทธิ์ได้โดยไม่ต้องแจ้ง ส.ค. 1 สำหรับในส่วนของเอกชนต้องพิสูจน์สิทธิ์เป็นรายกรณีหรืออาจขอออกเอกสารสิทธิ์ได้โดยการเดินสำรวจตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (3)

ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จะรายงานผลการจัดทำข้อตกลงร่วมภายใต้โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ฯ ในพื้นที่ภาค 6 (จังหวัดสุโขทัย) เสนอต่อเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะติดตามความคืบหน้าของการนำข้อตกลงไปดำเนินการ เพื่อนำไปสู่การถอนหมุดประเด็นความเสี่ยงการทุจริตให้แล้วเสร็จในที่สุด