คัดลอก URL แล้ว
[FOLLOW UP] พิษเศรษฐกิจ บะหมี่กึ่งฯ ยังแบกต้นทุนไม่ไหว! วอนรัฐไฟเขียวขึ้นราคาในรอบ 14 ปี

[FOLLOW UP] พิษเศรษฐกิจ บะหมี่กึ่งฯ ยังแบกต้นทุนไม่ไหว! วอนรัฐไฟเขียวขึ้นราคาในรอบ 14 ปี

หลังจากที่ไม่ได้ปรับขึ้นราคามาแล้วกว่า 14 ปี ท่ามกลางวิกฤติพลังงานที่ดันต้นทุนการผลิต รวมถึงวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 ราย แถลงข่าวร่วมกันขอให้กรมการค้าภายใน พิจารณาอนุญาตให้ปรับราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขนาดมาตรฐาน จากซองละ 6 บาท เป็นซองละ 8 บาท หลังแบกรับต้นทุนไม่ไหวแล้ว ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์เองก็ยอมรับว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นทั้งค่าพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส ค่าขนส่ง รวมถึงวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี และน้ำมันพืช เป็นต้น

 นายกฯ ขอให้เห็นใจซึ่งกันและกัน หากจำเป็นต้องขึ้นราคา ก็ให้ไปหารือร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าวร่วมกันของผู้ผลิตบะหมี่สำเร็จรูป 5 ราย เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา มีการเผยว่าหากไม่สามารถขึ้นราคา ที่สอดรับต้นทุนและวัตถุดิบบางตัวที่สูงขึ้นถึง 40% ทำให้ผู้ผลิตมีแนวโน้มว่าอาจจะต้องลดการขายในประเทศ และเพิ่มการขายต่างประเทศมากขึ้น เพราะได้ราคาสูงกว่าประมาณสองเท่าตัว

ซึ่งเมื่อวานที่ผ่านมา (17 ส.ค. 2565) หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ผู้ประกอบการบริษัทผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขอปรับขึ้นราคาว่า “ขอให้เห็นใจซึ่งกันและกัน” โดยหากจำเป็นต้องปรับขึ้นราคา ก็ให้ไปหารือร่วมกันถึงราคาที่จะปรับขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเคยขอขึ้นราคามา 2 ปีแล้ว โดยยืนยันไม่ได้เข้าข้างใคร จะดูแลทั้ง 2 ส่วน คือ ประชาชนต้องไม่ได้รับความเดือดร้อน และผู้ประกอบการต้องสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้

‘จุรินทร์’ ชี้ขอเพิ่มจากซองละ 6 บาท เป็น 8 บาท คิดว่าอาจจะมากเกินไป

ขณะที่ ‘นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของขึ้นราคาจากซองละ 6 บาทเป็น 8 บาท ระบุว่า เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วครั้งหนึ่ง จากซองละ 5 บาทเป็นซองละ 6 บาท เมื่อปี 51 ซึ่งล่วงเลยมา 14 ปีแล้ว และได้ขอปรับราคาอีกครั้งมาเกือบสองปีแล้ว แต่กรมการค้าภายในยังไม่อนุญาต เพราะต้องดูผลกระทบกับภาระของผู้บริโภคด้วย ล่าสุดการขอปรับจากซองละ 6 บาทขึ้นเป็นซองละ 8 บาท คิดว่าอาจจะมากเกินไป ถ้าสูงขนาดนี้จะกระทบผู้บริโภคผู้มีรายได้น้อยมากเกินสมควร

อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับกรมการค้าภายใน ที่จะต้องไปดูต้นทุน เข้าใจว่าวิเคราะห์ต้นทุนทั้งหมดเสร็จแล้ว ซึ่งให้นโยบายไปว่าถ้าจะต้องปรับราคาขึ้น ต้องเป็นตามต้นทุนที่สูงขึ้นจริงและให้เดือดร้อนกับผู้บริโภคให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ ไม่ต้องถึงภาวะขาดทุนและหยุดการผลิตหรือส่งออกอย่างเดียว เพราะตลาดต่างประเทศราคาดีกว่า เพื่อให้ผู้บริโภคมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบริโภคต่อไป โดยอธิบดีกรมการค้าภายใน จะเป็นผู้พิจารณาและถ้าต้องขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริง ถ้าต้นทุนปรับลดลงมา จะต้องมีการปรับราคาลงมาด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง