KEY :
- ทันยา บุนนาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ประกาศลาออกจาก ส.ส. และ สมาชิก หลังการประชุมสภาฯ ล่มเมื่อวานนี้
- ระบุสภาที่ควรเป็นที่พึ่งให้ประชาชน แต่กลับเล่นเกมการเมือง ทำลายศรัทธาประชาชน
- พร้อมขอบคุณ บิ๊กป้อม หัวหน้าพรรคและคณะผู้บริหารพรรคที่เปิดโอกาสการทำงาน
นางสาววทันยา บุนนาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ประกาศลาออกผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ภายหลังการประชุมร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ล่ม เมื่อวานนี้ (15 ส.ค.65) โดยระบุว่า
เมื่อสภาที่ควรเป็นที่พึ่งให้ประชาชน กลับเล่นเกมการเมือง ทำลายศรัทธาประชาชน ไม่สามารถตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนที่ฝากความหวังให้ ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถแล้ว ผู้แทนปวงชนก็ไม่อาจหลีกหนีความรับผิดชอบ เดียร์ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอพิจารณาตรเองตัดสินใจลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่และการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ
จากวันแรกที่เดียร์ก้าวเข้ามาร่วมทำงานกับพรรคพลังประชารัฐภายใต้อุดมการณ์ที่อยากเห็นประเทศไทยก้าวข้ามความขัดแย้ง ทั้งๆที่ประเทศเรามีต้นทุนที่ดี เป็นแหล่งในการผลิตอาหารของโลก มีภาคการเงินที่เข้มแข็ง เอกชนที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง แต่ทว่าในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาเรากลับติดหล่มปัญหาทางการเมืองจากความขัดแย้งภายในประเทศ การพัฒนาประเทศจึงเป็นไปได้ช้าและยากเพราะเหตุจากการขาดเสถียรภาพทางการเมืองของเราเอง
ภายหลังจากที่กฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ ประเทศไทยกลับเข้าสู่บรรยากาศนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง แม้กฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 จะมีเนื้อหาบางส่วนที่กลายเป็นข้อถกเถียงสำหรับผู้คนในสังคม กระทั่งหลายคนออกมาวิจารณ์ถึงการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย แต่อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประเทศช่วงเวลานั้นก็คือ “อำนาจสูงสุดกำลังเริ่มต้นนับหนึ่งกลับคืนสู่มือของประชาชนอีกครั้ง” เสียงของประชาชนที่เคยแผ่วเบาลงไปในช่วงเวลาหนึ่งกำลังจะกลับมาดังขึ้น
โดยเฉพาะในวันที่ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจกากบาทเลือก ส.ส.ที่เข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้แทนของตนเอง แม้กติกาจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรแต่ “เดียร์ยังคงศรัทธาและเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่สุดท้ายแล้วจะสามารถคัดกรอง พร้อมทั้งสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นได้ในที่สุด” และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่เดียร์ตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐด้วยการลงสมัครเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อในลำดับที่ 19 เพื่อสร้างพรรคทางเลือกใหม่ให้ประชาชน ออกจากวังวนของความขัดแย้งระหว่างพรรคใหญ่ 2 ขั้วเดิม
ทว่านับตั้งแต่วันแรกของการเปิดประชุมรัฐสภา 22 พฤษภาคม 2562 จนกระทั่งวันนี้ 16 สิงหาคม 2565 ครบรอบการทำงานของสภา 3 ปีเต็มเข้าสู่ปีสุดท้ายตามวาระของรัฐบาล ตลอดช่วงระยะกว่า 3 ปีที่ผ่านมาภายใต้บริบทการเมืองไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง การต่อสู้ทางความคิดหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง ทั้งบนถนนและในรัฐสภา ที่สุดท้ายแล้วทุกฝ่ายก็ต่างใช้เวทีรัฐสภาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุดมการณ์ของตน ดังที่เกิดการนำเสนอรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเข้าสู่กระบวนการฝ่ายนิติบัญญัติ การอภิปราย วิพากษ์การทำงานของรัฐบาลทั้งในยามสถานการณ์ฉุกเฉิน และสถานการณ์ปรกติผ่านการทำงานของ ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเกิดข้อพิพาท ถกเถียงอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ดำรงเห็นได้ชัดเจนคือ “การใช้เวทีรัฐสภาเป็นเครื่องมือและที่พึ่งให้แก่ประชาชน”
สิ่งที่หน้าเศร้าใจก็คือเหตุการณ์การประชุมร่วมของรัฐสภาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมาเมื่อวานนี้ ที่ปรากฏให้เห็นชัดว่าการทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนของ ส.ส. ที่ถือเป็นหลักพึงกระทำพื้นฐานในฐานะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนั้นไม่สามารถสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้เหมือนเดิม ทั้งนี้เดียร์เคารพในสิทธิ์การตัดสินใจของ ส.ส. ทุกท่าน ไม่ว่าจะหาร 100 หรือ 500 การเห็นต่างย่อมเป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นในครรลองระบอบประชาธิปไตย และนั่นก็นับเป็นข้อดีของระบอบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้นำเสนอความคิดเพื่อร่วมกันหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประเทศ แต่ไม่ว่าจะมีความเห็นอย่างไร เดียร์ยังคงยึดมั่นในหลักการทำหน้าที่บนความถูกต้อง โดยการใช้สภาเป็นทางออกเพื่อให้ได้ข้อยุติของปัญหา
ตลอดการปฏิบัติงาน 1,168 วัน ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้หลายครั้งการทำหน้าที่ ส.ส.ของเดียร์จะมีความเห็นทั้งที่ไปในแนวทางเห็นด้วยและเห็นต่างจากพรรคพลังประชารัฐตามที่ปรากฏเป็นข่าวและไม่เป็นข่าว แต่เดียร์เองก็ยึดมั่นในการทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนผ่านกลไกรัฐสภาด้วยการใช้เอกสิทธิ์การลงคะแนนเสียง รวมถึงการอภิปรายเพื่อเสนอแนะข้อคิดเห็นไปยังรัฐบาลผ่านการทำงานในระบบรัฐสภามาโดยตลอด จนทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์การทำงานต่างๆมากมาย ซึ่งตัวเดียร์ขอน้อมรับทุกความเห็นเพื่อนำไปใช้แก้ไข ปรับปรุงการทำงานของตนเองต่อไป
ในส่วนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวานนี้ที่ทำให้ประชาชนเกิดข้อกังขาว่ารัฐสภายังคงเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชนได้อยู่หรือไม่? ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่อาจปฏิเสธถึงข้อกังขาศรัทธาประชาชนที่มีต่อรัฐสภา ไม่จำเป็นว่าเราต้องเป็นฝ่ายไหนหรือสังกัดพรรคใด เมื่อสภาไม่สามารถตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนที่ฝากความหวังให้ ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถแล้ว ผู้แทนประชาชนก็ไม่อาจหลีกหนีความรับผิดชอบ
สุดท้ายนี้เดียร์ตัดสินใจขอลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ พร้อมทั้งขอขอบพระคุณพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคและคณะผู้บริหารพรรคที่เปิดโอกาสการทำงานและให้ความเมตตามาโดยตลอด รวมถึงเพื่อนสมาชิก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐและในสภาทุกๆคน