คัดลอก URL แล้ว
ตามคาด! “สภาล่ม” ตอกตะปูปิดฝาโลง สูตรหาร 500 กลับไปใช้ สูตรหาร 100

ตามคาด! “สภาล่ม” ตอกตะปูปิดฝาโลง สูตรหาร 500 กลับไปใช้ สูตรหาร 100

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 15 ส.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว และปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับมาตรา 23 ที่เกี่ยวกับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยการหาร 500 โดยเป็นวันสุดท้ายที่จะครบกำหนดกรอบ 180 วัน ทั้งนี้ หากพิจารณาไม่แล้วเสร็จจะต้องกลับไปใช้ร่าง พ.ร.ป.ฯ ฉบับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ใช้สูตรหาร 100

ก่อนที่ประชุมจะเริ่มการพิจารณามาตรา 24/1 ที่กมธ. เพิ่มขึ้นมาใหม่ เกี่ยวกับการคํานวณส.ส. และการประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นมาตราที่ต้องหยุดการพิจารณาไปเพราะช่วงลงมติไม่ครบองค์ประชุม โดยในเวลา 09.01 น. นายชวน ได้กดออดเพื่อเรียกสมาชิกเข้าห้องประชุม และแจ้งต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้มีสมาชิกมาลงชื่อเพียง 111 คน ถือยังไม่ครบองค์ประชุม 364 คน อย่างไรก็ตาม เวลาผ่านไป 35 นาทีแล้วองค์ประชุมขยับมาที่ 276 คน ประกอบด้วย ส.ส. 152 คน และส.ว. 124 คน

ต่อมาเวลา 09.50 น. องค์ประชุมก็ยังไม่ครบ ทำให้นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.) ลุกขึ้นถามหาประธานรัฐสภา เรียกร้องให้นายชวน มาทำหน้าที่ เพราะผ่านมา 50 นาทีแล้ว ก็ยังไม่สามารถเปิดการประชุมได้ เพราะมีเพียง 325 คนเท่านั้น ยังขาดอีก 30 คน

จนกระทั่งเวลา 10.00 น. นายชวน ได้กดออดเรียกสมาชิกอีกครั้ง และแจ้งต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้องค์ประชุมยังไม่ครบ แต่จะให้โอกาส เพราะเหตุว่าครั้งนี้ไม่ใช่การประชุมตามปกติ เพราะปกติเรานัดประชุมเวลา 09.00 น. ผ่านไป 45 นาที องค์ประชุมจึงจะครบ ส่วนวันนี้แม้จะเวลา 10.00 น. องค์ประชุมยังไม่ครบ แต่จะให้เวลาสมาชิก อีก 10 นาที ถ้าไม่ครบก็ไม่ครบ และตนจะปิดประชุม

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรค พท. ลุกขึ้นแย้งนายชวนว่า ในที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย นายชวนระบุว่าหากเวลา 10.00 น. องค์ประชุมไม่ครบจะสั่งปิดการประชุม ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่านี้คือเจตรมณ์ของสมาชิกที่จะให้กลับไปใช้ร่างแรก จึงขอให้นายชวนดำเนินการตามคำมั่นที่ให้ไว้ต่อที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย

นายชวน ชี้แจงว่า ในการประชุมวิป 3 ฝ่ายเมื่อวันที่ 9 ส.ค. นี้ ตนพูดแบบนั้นจริง แต่วันนี้ยังไม่ได้ตกลงกันเรื่องเวลา ก็ขอโอกาสใหสมาชิกทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ และอย่าไปวิพากษ์วิจารณ์คนที่ไม่มา เพราะถือว่าไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายแต่เป็นสิทธิ ไม่ใช่ความขี้เกียจ แต่เป็นความเห็นทางกฎหมาย เราแค่ทำหน้าที่ให้ครบถ้วนของฝ่ายนิติบัญญัติ อีกทั้งวันนี้คือวันสุดท้ายของการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ด้านนายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. ลุกขึ้นกล่าวว่า ไม่ว่าวันนี้จะเป็นอย่างไร ตนชื่นชมประธานที่ทำหน้าที่ได้อย่างมีเกียรติ และสมศักดิ์ศรี ตนขอเป็นกำลังใจให้ และขออยู่ข้างบัลลังก์เคียงข้างประธานไม่ว่ากาลเวลาจะเป็นอย่างไร

ต่อมาเวลา 10.08 น. หรือก่อนกำหนดเวลาเพียง 2 นาที องค์ประชุมมาครบจำนวน 364 คน ทำให้นายชวน แจ้งว่าขณะนี้องค์ประชุมครบแล้ว ขอเปิดการประชุม นายชวน แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ จะเริ่มต้นลงมติมาตรา 24/1 ต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่แล้ว ที่ไม่สามารถลงมติได้ เพราะองค์ประชุมไม่ครบ จากนั้นนายชวน ได้กดออดเรียกสมาชิกรัฐสภา มาแสดงตนเป็นองค์ประชุม ก่อนจะลงมติ โดยใช้เวลากดออดเรียกสมาชิกนานเกือบ 10 นาที แต่ยังไม่มีการประกาศผลการแสดงตน จนนายจุลพันธ์ กล่าวว่า นายชวนกดออดมาสักพักแล้ว ตนเดินไปดูที่หน้าจอมีสมาชิกมาแสดงตนเพียง 320 คน จะรออีกนานแค่ไหน ซึ่งนายชวน ตอบว่า ขอรอต่ออีกสักนิด อย่าให้เขามากล่าวหาว่าฉวยโอกาสรีบปิด ขอให้รออีกสักนิด ไม่ต้องเร่งรีบ แต่ขอให้ใช้ดุลพินิจ ในเวลาที่สมควร ถ้าไม่ครบคือไม่ครบ แต่ขอให้สมาชิกใจเย็นวันนี้ ตนขออนุญาตรอโดยไม่รอการอภิปราย

จนกระทั่งเวลา 10.27 น. นายชวน กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงการตรวจสอบองค์ประชุม หากไม่สามารถพิจารณาร่างกฎหมายได้ทัน 180 วัน ถือว่า ที่ประชุมให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ป. ที่เสนอมาโดย ครม. ในวาระ 1 ตอนนี้มีผู้มาลงชื่อ 353 คน ไม่ครบองค์ประชุม ตนจึงขอปิดประชุมในเวลา 10.28 น. ทั้งนี้ ถือว่าร่าง พ.ร.ป. พิจารณาไม่ทันตามกรอบเวลา 180 วัน ทำให้จะต้องกลับไปใช้ร่าง พ.ร.ป.ฯฉบับ ครม. ที่ใช้สูตรหาร 100

บรรยากาศภายในห้องประชุม มี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นั่งอยู่ประปราย ส่วนใหญ่เป็นส.ส.กทม. และนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรค พปชร.ในฐานะประธานวิปรัฐบาล หลังจากที่มีส.ส.โทรหาพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. เพื่อถามถึงความชัดเจนในการเข้าร่วมประชุมในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ โดยพล.อ.ประวิตร สั่งให้ ส.ส.พรรค พปชร. เข้าร่วมประชุมเพื่อให้เปิดประชุมได้ แต่ไม่ให้แสดงตนเป็นองค์ประชุมเพื่อลงมติ เช่นเดียวกับพรรค พท. ก็นั่งกันอยู่บางตา มีเพียงนายจุลพันธ์ นายพิเชษฐ์ คอยนั่งรักษาการอยู่ในห้องประชุม ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นั่งกันอยู่เกือบครบทุกคน ขณะที่ ส.ว. มานั่งประชุมประมาณครึ่งหนึ่ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง