คัดลอก URL แล้ว
เข้าใจโรค ‘ฝีดาษลิง’ จากโรคประจำถิ่นสู่การติดเชื้อข้ามทวีป

เข้าใจโรค ‘ฝีดาษลิง’ จากโรคประจำถิ่นสู่การติดเชื้อข้ามทวีป

KEY :

‘ฝีดาษลิง’ กลายเป็นโรคติดต่ออีกชนิดที่ตอนนี้ทั่วโลกต่างเฝ้าระวังอย่างใกล้ และคัดกรองผู้คนทางเดินทางเข้าไปในแต่ละประเทศ นอกจากผู้ที่เดินทางมาจากทางฝั่งทวีปแอฟริกาถิ่นกำเนิดของโรคติดต่อดังกล่าว ทางฝั่งบ้านเราก็พบผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นชาวไนจีเรีย ซึ่งพบเมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ก่อนจะหลบหนีออกจากพื้นที่ จ.ภูเก็ต และเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน สุดท้ายถูกตามจับตัวได้ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

และรายที่ 2 เป็นชายไทย อายุ 47 ปี มีประวัติสัมผัสกับชาวต่างชาติ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างเชื้อพิสูจน์ โดยผลการตรวจ PCR พบเชื้อฝีดาษลิง ซึ่งถือได้ว่าเป็นคนไทยของแรกที่ติดเชื้อดังกล่าว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ส.ค.65 ได้รับการยืนยันจากทางกระทรวงสาธารณสุข ว่าพบผู้ป่วยฝีดาษลิงเป็นรายที่ 3 ในประเทศไทย โดยเป็นชาวต่างชาติ สัญชาติเยอรมัน อายุ 25 ปี เดินทางมายังประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.65 เพื่อมาท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต จากรายงานพบว่าเป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ ขณะที่การติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดและกลุ่มเสี่ยงพบว่ายังไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม

ถึงแม้ยอดผู้ติดเชื้อทางฝั่งบ้านเราจะไม่ได้สูงและติดต่อรวดเร็ว แต่ทางเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเฝ้าระวังต่อเนื่อง พร้อมประชาสัมพันธุ์วิธีการปฏิบัติตัวในกันป้องกันกันอย่างต่อเนื่อง

ที่มาของ ‘ฝีดาษลิง’

ฝีดาษลิง หรือ ศัพท์ทางการแพทย์คือ Monkeypox เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โรคดังกล่าวถูกพบเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2513 ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โดยผู้ป่วยรายแรกเป็นเด็กชายอายุ 9 ปี และต่อมาพบผู้ป่วยหลายรายในเขตพื้นที่ชนบทลุ่มน้ำคองโก ก่อนที่จะลามไปทางฝั่งแอฟริกากลางและฝั่งตะวันตก โดยมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

โดยพบผู้ติดเชื้อ 11 ประเทศในทวีปแอฟริกา ได้แก่ เบนิน, แคมารูน, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, กาบอง, ไอวอรีโคสต์, ไลบีเรีย, สาธารณรัฐคองโก, เซียร์ราลีโอน และซูดานใต้

นอกการแพร่เชื้อภายในทวีปแอฟริกาแล้ว เชื้อดังกล่าวยังขยายออกไปยังประเทศอื่น ๆ โดยในปี 2546 เกิดการระบาดของฝีดาษลิงครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกรณีที่เชื่อมโยงไปถึงการสัมผัสกับกระรอกดินติดเชื้อ ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในกรงเดียวกับสัตว์อื่น ๆ ที่นำเข้ามาจากประเทศกานา ในการระบาดครั้งนั้นมีผู้ป่วยติดเชื้อกว่า 70 รายในสหรัฐฯ

และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 มีรายงานว่าตรวจพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงหลายรายในหลายประเทศที่ไม่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น

ชนิดของ ‘ฝีดาษลิง’

ไวรัสฝีดาษลิงเป็นไวรัสที่มีดีเอ็นเอสายคู่ที่มีโครงสร้างห่อหุ้มเซลล์ (enveloped double-stranded DNA) ซึ่งเป็นไวรัสในสกุล Orthopoxvirus ของวงศ์ Poxviridae ไวรัสฝีดาษลิงมี 2 สายพันธุ์หลักที่จำแนกตามการศึกษาวิวัฒนาการทางพันธุกรรม ได้แก่ สายพันธุ์แอฟริกากลาง (แถบลุ่มน้ำคองโก) และสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก

ในอดีต สายพันธุ์ลุ่มน้ำคองโกทำให้เกิดโรคที่มีอาการรุนแรงกว่า และเชื่อกันว่าสายพันธุ์นี้แพร่เชื้อได้ง่ายกว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการจำแนกเชื้อไวรัส 2 สายพันธุ์ตามเขตภูมิศาสตร์ในแคมารูน ซึ่งเป็นเพียงประเทศเดียวที่ตรวจพบทั้ง 2 สายพันธุ์

โดยพาหะของไวรัสดังกล่าว ตามรายงานระบุว่า เป็นสัตว์หลายสปีชีส์ที่ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงได้ง่าย ได้แก่ กระรอกเชือก, กระรอกต้นไม้, หนูแกมเบียที่มีถุงหน้าท้อง, หนูดอร์เมาซ์, สัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ชนิดอื่น วิวัฒนาการของไวรัสฝีดาษลิงในธรรมชาติยังคงเป็นข้อมูลที่ไม่แน่ชัด และจำเป็นต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อระบุแหล่งรังโรคที่แน่ชัดและอธิบายว่าไวรัสแพร่กระจายในธรรมชาติอย่างไร

การแพร่เชื้อของ ‘ฝีดาษลิง’

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า การแพร่เชื้อดังกล่าวนั้นเกิดจากสัตว์สู่คน อาจเกิดจากการสัมผัวกับเลือด ของเหลว รอยโรคของสัตว์ที่ติดเชื้อโดยตรง ซึ่งในทวีปแอฟริกามีหลักฐานที่ยืนยันการตรวจพบการติดเชื้อฝีดาษลิงในสัตว์หลาย ๆ ชนิดตามที่กล่าวไปข้างต้น โดยคาดว่าเป็นสัตว์ฟันแทะที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด หรือการรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีความสุกไม่พอ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ติดเชื้อก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงได้เช่นกัน

ในส่วนของการแพร่เชื้อจากคนสู่คน เกิดขึ้นได้จากการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง ทั้งจากทางเดินหายใจ หรือ รอยโรคผิวหนังของผู้ติดต่อเชื้อ อย่างไรก็ตามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้น ห่วงโซ่การแพร่เชื้อในชุมชนที่ยาวที่สุดที่ถูกบันทึกไว้ได้เพิ่มขึ้น และสถิติการติดเชื้อจากบุคคลหนึ่งไปยังบุคคลอื่นสูงสุดเพิ่มขึ้นจาก 6 ราย เป็น 9 ราย ซึ่งในตัวนี้ดังกล่าวนี้แสดงถึงภูมิคุ้มกันในทุกชุมชนที่ลดลงเรื่อย ๆ เนื่องมาจากการยุติการฉีดวัคซีนโรคฝีดาษ

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมีที่แน่ชัดว่าโรคฝีดาษลิง สามารถแพร่เชื้อผ่านทางเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ ซึ่งคาดว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำการศึกษาวิจัยเพื่อเข้าใจความจากเสี่ยงดังกล่าว อย่างไรก็ตามการมีเพศสัมพันธ์ก็ยังเป็นความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้เช่นกัน เนื่องจากมีการสัมผัสใกล้

ลักษณะอาการของโรค

ระยะฟักตัวของโรคฝีดาษลิง มีตั้งแต่ 6-13 วัน หรืออาจอยู่ในช่วง 5-21 วัน สำหรับการติดเชื้อนั้น แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ

จากข้อมูลพบว่าโรคดังกล่าวนั้น เป็นโรคที่สามารถหายเองได้ โดยระยะแสดงอาการจะใช้เวลาตั้งแต่ 2-4 สัปดาห์ และยังพบอาการรุนแรงเกิดขึ้นในเด็กมากกว่า ซึ่งขึ้นอยู่การปริมาณของไวรัสที่ได้รับ ประกอบกับประวัติด้านสุขภาพ โรคประจำตัวของผู้ป่วยเอง ก็มีส่วนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้เช่นกัน อาทิ ภาวะติดเชื้อทุติยภูมิ, โรคปอดบวมร่วมกับหลอดลมอักเสบ, ติดเชื้อในกระแสเลือด, โรคไข้สมองอักเสบ และภาวะกระจกตาติดเชื้อที่ทำให้สูญเสียการมองเห็น ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดเกี่ยวกับภาวะติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการที่อาจเกิดขึ้นได้

นอกจากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญยังระบุว่า ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40-50 ปี (ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ) อาจเสี่ยงติดเชื้อฝีดาษลิงได้ง่ายกว่า อันเนื่องมาจากการยุติการรณรงค์ฉีดวัคซีนโรคฝีดาษทั่วโลก ภายหลังโรคฝีดาษถูกกำจัดจนหมดสิ้นไปแล้ว

ในอดีตอัตราการป่วยตายของโรคฝีดาษลิงอยู่ที่ร้อยละ 0-11 ในประชากรทั่วไปและอัตรานี้สูงขึ้นในกลุ่มเด็กเล็ก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อัตราการป่วยตายอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3-6

ฝีดาษลิง-ฝีดาษ แตกต่างกันหรือไม่?

โรคฝีดาษลิงลักษณะอาการคล้ายของโรคฝีดาษ ซึ่งเป็นการติดเชื้อไวรัสในสกุล orthopoxvirus ที่ถูกกำจัดจนหมดสิ้นไปแล้ว โรคฝีดาษแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าและทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า ประมาณร้อยละ 30 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดเสียชีวิต พบผู้ป่วยรายสุดท้ายที่ติดเชื้อไวรัสฝีดาษจากธรรมชาติเมื่อปี 2520 และในปี 2523 มีการประกาศว่าโรคฝีดาษถูกกำจัดจนหมดสิ้นทั่วโลกภายหลังการดำเนินการรณรงค์ฉีดวัคซีนและควบคุมโรคทั่วโลก ทุกประเทศจึงได้ยุติการฉีดวัคซีนโรคฝีดาษที่เป็นวัคซีนแบบ vaccinia-based vaccines ตามกำหนดการฉีดวัคซีนโดยปกติเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว

เนื่องจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ มีผลในการป้องกันโรคฝีดาษลิงในแถบแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลางได้ด้วย ปัจจุบันประชากรที่ไม่ได้รับวัคซีนจึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสได้ง่ายกว่า

ถึงแม้ว่าโรคฝีดาษไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นในธรรมชาติอีกต่อไป ภาคสุขภาพทั่วโลกยังคงต้องเฝ้าระวังเหตุการณ์ที่อาจกลับมาเกิดขึ้นได้อีกเนื่องจากกลไกทางธรรมชาติ อุบัติเหตุในห้องปฏิบัติการ หรือการจงใจปล่อยเชื้อไวรัส เพื่อให้มั่นใจว่าทั่วโลกมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับการอุบัติใหม่ของโรคฝีดาษ ขณะนี้มีวัคซีนและยาต้านไวรัสชนิดใหม่ รวมทั้งวิธีการวินิจฉัยโรคแบบใหม่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา สิ่งเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับการป้องกันและควบคุมวิธีการวินิจฉัยโรคด้วย

การตรวจวินิจฉัยโรค

โดยปกติแล้วเจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุขจะเก็บตัวอย่างส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการที่มีสมรรถนะการตรวจวิเคราะห์เหมาะสมอย่างปลอดภัย การยืนยันว่าเป็นโรคฝีดาษลิงขึ้นอยู่ประเภทและคุณภาพของตัวอย่างส่งตรวจและประเภทของการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ดังนั้น ควรเก็บตัวอย่างในภาชนะบรรจุและจัดส่งตัวอย่างตามข้อกำหนดของประเทศและข้อกำหนดสากล polymerase chain reaction (PCR) เป็นวิธีการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการที่นิยมใช้มากกว่าวิธีการอื่นเนื่องจาก PCR มีความแม่นยำและความไว (sensitivity) ที่เหมาะสม

ตัวอย่างส่งตรวจที่ดีที่สุดสำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคฝีดาษวานรคือตัวอย่างจากรอยโรคผิวหนัง ได้แก่ เปลือกหรือของเหลวจากถุงน้ำและตุ่มหนอง และสะเก็ดแห้ง ถ้าทำได้ การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง พึงเก็บตัวอย่างรอยโรคไว้ในหลอดปลอดเชื้อที่แห้ง (ไม่มีน้ำยา viral transport media) และเก็บไว้ในที่เย็น โดยปกติ การตรวจเลือดด้วย PCR จะให้ผลการตรวจที่สรุปไม่ได้เนื่องจากไวรัสอยู่ในเลือดเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ตามระยะเวลาที่เก็บตัวอย่างส่งตรวจหลังจากเริ่มแสดงอาการ และปกติไม่ควรเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยทุกครั้ง

เนื่องจาก orthopoxvirus มีคุณสมบัติ serologically cross-reactive วิธีการตรวจหาแอนติเจนและแอนติบอดีไม่ให้ผลที่ยืนยันโรคฝีดาษวานรอย่างเจาะจง

ยารักษา-การฉีดวัคซีน

ยาต้านไวรัสชื่อ tecovirimat ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้รักษาโรคฝีดาษได้รับอนุมัติให้ใช้รักษาโรคฝีดาษลิงโดยสมาคมการแพทย์แห่งยุโรป (EMA) ในปี 2565 ตามข้อมูลการวิจัยในสัตว์และมนุษย์ แต่ยาชนิดนี้ยังไม่แพร่หลายทั่วไป แต่หากใช้ tecovirimat รักษาผู้ป่วย ควรติดตามตรวจสอบผลการรักษาในบริบทของการวิจัยทางคลินิกที่มีการเก็บข้อมูลเพื่อติดตามผลในอนาคต

สำหรับวัคซีนนั้นในงานวิจัยต่าง ๆ ระบุว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษได้มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคฝีดาษลิงได้สูงถึงร้อยละ 85 ดังนั้น การฉีดวัคซีนโรคฝีดาษเมื่อก่อนอาจทำให้ภาวะการเจ็บป่วยรุนแรงน้อยลง ปกติหลักฐานการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษจะปรากฏเป็นแผลเป็นบนต้นแขน ในปัจจุบันไม่มีวัคซีนโรคฝีดาษชนิดเดิม (รุ่นแรก) ที่ให้บริการแก่ประชาชนแล้ว

แต่บุคลากรห้องปฏิบัติการหรือสาธารณสุขบางคนอาจได้รับวัคซีนโรคฝีดาษเมื่อเร็ว ๆ นี้เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อไวรัส orthopoxvirus ในสถานที่ทำงาน ส่วนวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ที่ผลิตจากไวรัสวัคซิเนีย (สายพันธุ์ Ankara) ที่ใหม่กว่าได้รับอนุมัติให้ใช้ป้องกันโรคฝีดาษลิงได้เมื่อปี 2562 วัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนแบบ 2 โดสที่ยังไม่แพร่หลายมากนัก มีการพัฒนาวัคซีนฝีดาษและฝีดาษวานรเป็นสูตรที่แตกต่างกันตามชนิดของไวรัสฝีดาษ เนื่องจากการป้องกันแบบไขว้ (cross-protection) มีคุณสมบัติกระตุ้นภูมิคุ้มกันสำหรับ orthopoxvirus

สถานการณ์ทั่วโลก

สถานการณ์โรคฝีดาษวานร (ข้อมูล ณ วันที่ 3 ส.ค. 2565) พบผู้ป่วยยืนยัน ทั่วโลก 25,807 ราย ใน 84 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 6,326 ราย สเปน 4,765 ราย เยอรมัน 2,724 ราย อังกฤษ 2,672 ราย และฝรั่งเศส 2,171 ราย

อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลก แนะนำว่ายังไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนฝีดาษลิงให้กับประชาชนในวงกว้าง แต่อาจฉีดในกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วย หรือเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อ (LAB) ซึ่งกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้มีโอกาสสัมผัสเชื้อได้มากกว่าคนทั่วไป

ผู้ป่วยส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย โดยเฉพาะผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนหลายคน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ ดังนั้นมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ยังสามารถใช้ได้กับโรคฝีดาษลิง โดยเน้นล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีตุ่มหนองหรือผู้ป่วยต้องสงสัย หลีกเลี่ยงมีเพศสัมพันธ์ที่มี ความเสี่ยงหรือคู่นอนที่ไม่รู้จัก

ข้อมูล :


ข่าวที่เกี่ยวข้อง