คัดลอก URL แล้ว
“หมอเด็ก” เตือน อันตรายจากใช้กัญชาในเด็ก กระทบร้ายแรงต่อปอด – สมอง

“หมอเด็ก” เตือน อันตรายจากใช้กัญชาในเด็ก กระทบร้ายแรงต่อปอด – สมอง

แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ด้านทารกแรกเกิด โรงพยาบาลเมดพาร์ค เปิดเผยถึงกรณีที่มีเด็กเสพกัญชาว่า แม้จะเป็นการใช้เพียงครั้งเดียวแต่ก็มีผลกระทบแน่นอน เนื่องจากสารสำคัญที่อยู่ในกัญชาเป็นสารที่ละลายในไขมัน ดังนั้นเมื่อเข้าไปในร่างกายจะมีผลโดยตรงต่อปอดและสมอง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ ทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ผู้ให้นมบุตร เพราะสารจะออกมาทางน้ำนมในระดับที่สูงมาก และถูกกำจัดออกไปจากร่างกายของแม่ได้ช้าประมาณ 6 สัปดาห์ ทำให้แม่ที่ให้นมบุตรจำเป็นต้องปั๊มนมทิ้ง และพักการให้นมออกไป 6 สัปดาห์

แพทย์หญิงสุธีรา กล่าวว่า การสูบกัญชามีผลเสียเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่หรืออาจจะมากกว่า เพราะมีควันที่เป็นสารพิษแบบเดียวกับบุหรี่ เช่น สารก่อมะเร็ง ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ทำลายปอด ทำให้ปอดพัง ทำให้เซลสมองถูกทำลาย ส่งผลถึงจิตประสาท ระดับสติปัญญาลดลง มีปัญหาเรื่องพฤติกรรม ซึ่งเมื่อเสพเป็นระยะเวลานานมีโอกาสที่จะเป็นโรคจิตเภทได้ รวมถึงจะทำให้คนรอบข้างได้รับควันพิษแบบเดียวกับบุหรี่มือสองได้ด้วย โดยกลุ่มที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษคือหญิงตั้งครรภ์ ทำให้เด็กเสียชีวิตในครรภ์ได้ และบางกรณีอาจทำให้เด็กที่คลอดออกมามีน้ำหนักน้อยผิดปกติ ระยะยาวอาจจะมีพัฒนาการด้านสมองผิดปกติ ดังนั้นต้องระมัดระวังตั้งแต่เด็กที่อยู่ในครรภ์ไปจนถึงอายุ 20 ปี

ส่วนในกรณีที่ผสมลงไปในอาหาร เครื่องดื่ม หรือขนมต่างๆ ยิ่งเลวร้าย เพราะจุดประสงค์ของผู้ที่ทำออกมาขายคือต้องการมอมเมาให้ผู้บริโภคเกิดการเสพติด

ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอแนะจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ 2 ข้อ ได้แก่ ต้องมีการใช้กัญชาทางการแพทย์เฉพาะกลุ่มเท่านั้น เช่น โรคลมชักที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาอื่นๆ / จะต้องมีมาตรการห้ามไม่ให้มีการผสมกัญชาในส่วนประกอบของอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม เพราะไม่สามารถควบคุมปริมาณกัญชาในอาหารได้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนกลุ่มเปราะบาง อาจจะเข้าถึงโดยไม่ตั้งใจ ทำให้ผู้รับประทานเกิดอาการเป็นพิษ และเกิดการสะสมในร่างกายและสมองของเด็ก

นอกจากนั้นครอบครัวควรที่จะระมัดระวัง คอยให้คำสอนและคำแนะนำแก่บุตรหลาน เพราะในปัจจุบันที่มีการโฆษณาสรรพคุณข้อดีต่างๆ ของการใช้กัญชานั้นเป็นภาพลวงทั้งสิ้น เพราะส่วนใหญ่จะมีแต่ข้อเสียที่ทำลายสุขภาพ และสะสมเป็นพิษในร่างกาย

ส่วนกรณีที่เด็กอยู่ในครอบครัวที่มีพ่อแม่ปลูกเพื่อเสพเองนั้น มองว่า น่าเป็นห่วง เพราะพ่อแม่จำนวนหนึ่งอาจจะถูกมายาคติจากสื่อในโซเชียลต่างๆ ทำให้ไม่เคยได้รับรู้ถึงอันตราย ดังนั้นเป็นหน้าที่ของแพทย์และสื่อต่างๆ ที่จะต้องให้ข้อมูลที่ถูดต้องและให้ความรู้ถึงอันตรายจากสิ่งนี้

แพทย์หญิงสุธีรา ยังบอกอีกว่า ในฐานะกุมารแพทย์ มีความกังวลกับกฎหมายกัญชาเสรี เพราะเสรีมากเกินไป อยากให้มีกฎหมายควบคุมเช่นเดียวกับบุหรี่เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มเปราะบางได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง