คัดลอก URL แล้ว
เครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT ลุกฮือ ค้านควบรวมทรูดีแทค หวั่นถึงจุดจบ NT ดึงสติ กสทช. ตัดสินยุติควบรวม เพื่อประโยชน์ชาติ

เครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT ลุกฮือ ค้านควบรวมทรูดีแทค หวั่นถึงจุดจบ NT ดึงสติ กสทช. ตัดสินยุติควบรวม เพื่อประโยชน์ชาติ

เครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT ได้แก่ กลุ่มผู้นำแรงงานบริษัท NT, กลุ่มพลังรักษ์องค์กรทีโอที, ชมรมศิษย์เก่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย, ชมรมศิษย์เก่า กสท. และ ประธานดำเนินการจัดตั้ง, เลขาธิการ, ที่ปรึกษา, กรรมการสหภาพแรงงาน NT ได้ออกแถลงการณ์ “คัดค้านการควบรวมกิจการระหว่าง ทรูและดีแทค เป็นการผูกขาดตลาดการแข่งขันโทรคมนาคม” เพื่อให้สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยับยั้งดีลควบรวมที่กำลังจะเกิดขึ้น พร้อมเดินทางยื่นหนังสือถึง กสทช.ให้ยุติการควบรวมครั้งนี้

นายประสาน จ่างูเหลือม ประธานกลุ่มผู้นำแรงงาน บริษัท NT ตัวแทนเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT กล่าวว่า การควบรวมกิจการระหว่าง ทรูและดีแทค มีผลกระทบโดยตรงต่อการประกอบกิจการของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) และมีผลกระทบต่อตลาดแข่งขันเสรีในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศ ซึ่งการควบรวมกิจการทั้งสองบริษัทฯ ส่งผลให้ตลาดธุรกิจสื่อสารมีสภาพกึ่งผูกขาดเพราะไม่หลงเหลือแรงจูงใจให้แข่งขันในธุรกิจอีกต่อไป ทั้งนี้ รัฐ และ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) จะได้รับผลกระทบจากควบรวม ดังนี้

  1. สูญเสียรายได้เงินปันผลจาก NT ที่ถือหุ้นดีแทค ราว 200 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากการบริหารงานของทรูกับดีแทคมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยเมื่อเทียบผลประกอบการ 5 ปี ย้อนหลังดีแทคมีกำไรเฉลี่ย 5,000 ล้านบาทต่อปี แต่ทรูบริหารงานแบบไม่มีกำไรและมีงบการเงินที่ติดลบมาโดยตลอด ซึ่งคาดว่าเมื่อเกิดการควบรวมแล้ว การบริหารงานของทรู จะส่งผลกระทบให้ผู้ถือหุ้นไม่มีเงินปันผลเหมือนที่เคยถือหุ้นดีแทค อีกต่อไป และหากนับย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา ดีแทคให้เงินปันผล NT แล้วมากกว่า 1,200 ล้านบาท
  2. สูญเสียรายได้ค่าเช่าเสาจากดีแทค ราว 1,900 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากทรูมีกองทุน Infra Fund ซึ่งมีเสาที่ให้บริการโทรคมนาคมจำนวนมาก จึงไม่จำเป็นต้องเช่าใช้เสาของ NT ต่อไป
  3. สูญเสียรายได้จากการลดปริมาณการโรมมิ่งของดีแทคในโครงข่าย 2300 MHz ราว 4,500 ล้านบาทต่อปี หากเมื่อควบรวมธุรกิจกันแล้วเสร็จ จำนวนคลื่นที่สามารถนำมาให้บริการของทั้ง ทรูและดีแทค จะมีจำนวนมากเพียงพอในการให้บริการลูกค้าตนเองได้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้บริการข้ามโครงข่ายภายในประเทศกับ NT ซึ่งคาดว่า ดีแทคจะลดปริมาณการโรมมิ่ง หรืออาจถึงขั้นยุติการโรมมิ่งในโครงข่าย 2300 MHz ของ NT ทำให้ NT สูญเสียรายได้จากการให้บริการจากสัญญาดีแทค 4,500 ล้านบาทต่อปี
  4. สูญเสียรายได้จากการลดปริมาณการซื้อความจุโครงข่าย 850 MHz ของเรียลมูฟ (บริษัทในเครือทรู) ราว 2,200 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากทรูและดีแทคจะมีคลื่นจำนวนมากเพียงพอในการให้บริการลูกค้าตนเองได้แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ความจุโครงข่าย 850 MHz ของ NT อีกต่อไป

นอกจากนั้น การควบรวมกันครั้งนี้จะเกิดผลกระทบต่อภาคประชาชนและสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ ดังนี้

  1. เมื่อสภาพตลาดไม่มีการแข่งขันเนื่องจากเหลือผู้เล่นน้อยราย จะทำให้ไม่อาจใช้กลไกทางการตลาดเป็นตัวบริหารจัดการผู้เล่นในตลาดได้ ค่าบริการอาจมีค่าสูงขึ้นและคุณภาพของการให้บริการจะแย่ลง ไม่มีการแข่งขันด้านราคาหรือปรับปรุงคุณภาพการให้บริการให้ดีอยู่เสมอเพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ ไม่ให้ย้ายค่าย
  2. ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 40 การผูกขาดที่ไม่เป็นธรรม และ มาตรา 75 การคุ้มครองผู้บริโภค
  3. การควบรวมกิจการขัดต่อเจตนารมณ์ของประกาศคณะกรรมการโทรคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ที่สำคัญคือ ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการควบรวมกิจการอันส่งผลให้เกิดการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดเกณฑ์ “เชิงปริมาณ” ในการวัด “ระดับการครอบงำตลาด” อย่างชัดเจนโดยการพิจารณาจากค่าดัชนีการกระจุกตัว HHI
  4. การควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และ ดีแทค ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค ที่ผลการศึกษาเบื้องต้นของสำนักงาน กสทช. เอง ระบุว่าจะทำให้ราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น GDP ของประเทศลดลง ในทางกลับกัน การควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และ ดีแทค ดูจะเป็นประโยชน์แต่ตัวบริษัทมากกว่า โดยทรูจะกลายเป็นผู้เล่นในตลาดที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุด และมีอำนาจครอบงำตลาดได้จากข้อได้เปรียบที่มีธุรกิจในเครือเดียวกัน เช่น ค้าปลีก ค้าส่ง ให้การสนับสนุน
  5. ในอดีตรัฐได้ปรับเปลี่ยนจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย มาเป็น บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อลดการผูกขาดการให้บริการโดยรัฐแต่เพียงผู้เดียวและสร้างตลาดแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภค ที่จะใช้บริการที่มีคุณภาพที่ดีขึ้นแต่ในราคาค่าบริการที่ถูกลง เนื่องจากกลไกการตลาดแข่งขันเสรีจะช่วยทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ แต่การควบรวมกิจการครั้งนี้ส่งผลให้ตลาดกึ่งผูกขาด ซึ่งส่งผลให้มีการพยายามสร้างอำนาจผูกขาดกลับคืนมา

ตัวแทนเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT กล่าวย้ำว่า “อยากให้ สำนักงาน กสทช.พิจารณาการควบรวมครั้งนี้ อย่างตรงไปตรงมา มองถึงประโยชน์ของผู้บริโภคและประเทศชาติเป็นที่ตั้งสำคัญ เนื่องจากหากดีลนี้เกิดขึ้นจริง คงต้องเรียกว่า ถึงจุดจบของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) และถึงจุดจบการแข่งขันอย่างเสรีของโทรคมนาคมไทยอย่างแน่นอน ที่สำคัญเหนืออื่นใด หาก NT ต้องล้มหายตายจากไปอุตสาหกรรมโทรคมนาคมแล้ว การให้บริการโทรคมนาคมทั้งหมดในประเทศไทยก็จะดำเนินการโดยภาคเอกชนแต่เพียงผู้เดียว ก็จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในระบบโทรคมนาคมของประเทศในส่วนของภาครัฐ ตลอดจนการดำเนินการตามแนวนโยบายต่างๆ ที่ต้องอาศัยระบบโทรคมนาคมเป็นเครื่องผลักดัน”

หลังจากนั้น กลุ่มตัวแทนเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT ได้เดินทางไปยัง สำนักงาน กสทช. เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการควบรวมทรูและดีแทค ถึงประธาน กสทช. โดยมีนายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม เป็นผู้แทนรับมอบเอกสารในครั้งนี้