คัดลอก URL แล้ว
สิ่งที่ผู้ใช้บริการต้องรู้ในการ ‘เปลี่ยนเลขสายรถเมล์’ แบบใหม่

สิ่งที่ผู้ใช้บริการต้องรู้ในการ ‘เปลี่ยนเลขสายรถเมล์’ แบบใหม่

KEY :

‘รถเมล์’ ถือได้ว่าเป็นรถโดยสารที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างช้านาน ซึ่งรถเมล์ประจำทางมีครั้งแรกโดยใช้กำลังม้าลากจูง มีผู้ที่ริเริ่มกิจการรถเมล์คือพระยาภักดี นรเศรษฐ์ หรือ นายเลิศเศรษฐบุตร ซึ่งเริ่มให้บริการในปี พ.ศ 2450 ในเส้นทางสะพานยศเส หรือ สะพานกษัตริย์ศึก ณ ปัจจุบัน ถึงประตูน้ำสระปทุม

ต่อมาในปี พ.ศ 2456 จึงได้มีการปรับปรุงกิจการใหม่รวมทั้งเปลี่ยนแปลงวิธีการเดินรถโดยใช้เป็นรถยนต์เครื่องมาใช้วิ่งแทนการใช้ม้าลาก พร้อมขยายเส้นทางให้ไกลขึ้นจากประตูน้ำสระปทุมถึงบางลำภู

กิจการรถเมล์ในยุคสมัยนั้นได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นการเดินทางที่สะดวกสบายและรวดเร็ว จึงเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย ส่งผลทำให้รถเมล์มีการขยายเส้นทางเป็นวงกว้างขึ้นไปทั่วกรุงเทพฯ จนเกิดการแข่งขันจากหลายภาคส่วนก่อเกิดเป็นบริษัทเอกชนขนส่ง ทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนหลายราย

ต่อมาในปี พ.ศ 2497 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติการขนส่ง เพื่อควบคุมกำหนดให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ต้องขอใบอนุญาตประกอบการขนส่ง จนทำให้ผู้ประกอบการเกิดความสับสนในการให้บริการรถเมล์ ทั้งการเดินรถทับเส้นทางกัน รวมทั้งการให้บริการของแต่ละบริษัทก็ไม่เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน

ประกอบกับในช่วงปี พ.ศ 2516 ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้เพิ่มสูงขึ้น แต่ทางผู้ประกอบการไม่สามารถปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารได้ อีกทั้งต้องแบบรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้หลายบริษัทเกิดการทรุดตัว จนไม่สามารถรักษาระดับการให้บริการที่ดีกับประชาชนได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการรวมรถโดยสารประจำทางต่าง ๆ ไว้เพียงหน่วยงานเดียว

จัดตั้ง ‘องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ’

โดยในสมัยรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ (นายกรัฐมนตรี) ได้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การของรัฐภายใต้ชื่อ ‘องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ’ หรือ ขสมก. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2519 โดยรวมกิจการรถโดยสารทั้งหมดจากบริษัทมหานครขนส่งจำกัดมาขึ้นอยู่กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ

ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทกิจการสาธารณูปโภค สังกัดกระทรวงคมนาคม โดยมีขอบเขตความรับผิดชอบในการจัดบริการรถโดยสารประจำทางวิ่งรับส่งผู้โดยสารในเขตกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง 5 จังหวัดคือ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม

รถเมล์นั้นจึงจัดเป็นสาธารณูปโภคชนิดหนึ่งของรัฐ ที่ให้บริการประชาชนผู้มีรายได้น้อยและปานกลางเป็นหลัก และส่งผลทำให้ประชาชนสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้ ช่วยลดภาระค่าครองชีพได้เป็นอย่างดี

จากอดีตสู่การ ‘เปลี่ยนเลขสายรถเมล์’

ภายหลังการออกพระราชกฤษฎีกา องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2519 มีภาระหน้าที่ในการจัดบริการรถโดยสารประจำทางวิ่งรับส่งประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ จัดรถวิ่งบริการในเส้นทางต่าง ๆ โดยมีทั้งหมด 8 เขตการเดินรถ จำนวน 123 เส้นทาง, เส้นทางรถโดยสารประจำทางร่วมบริการ จำนวน 115 เส้นทาง

และเส้นทางที่มีรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และรถโดยสารประจำทางร่วมบริการ ให้บริการร่วมกัน จำนวน 26 เส้นทาง รวมทั้งหมด 214 เส้นทาง โดยเริ่มให้บริการประจำวัน ตั้งแต่ราว 03:30-23:25 น. และยุติการให้บริการประจำวัน ตั้งแต่ราว 23:30-03:25 น. นอกจากนี้ ยังมีรถให้บริการตลอดคืน ซึ่งจะคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มจากปกติ

เลขสายรถเมล์นั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ใช้บริการ ในการการเดินทางไปจุดหมายต่าง ๆ อีกทั้งยังทำให้ผู้ใช้บริการสามารถจำตัวเลขได้ง่ายขึ้น ลดควรสับสนเนื่องจากมีตัวเลขสายรถเมล์ระบุว่าในแต่ละคัน ว่า เดินทางจากที่ไหนและไปจุดหมายปลายทางที่ไหน หรือ ระหว่างทางผ่านเส้นทางไหนบ้าง ซึ่งการจำเลขสายรถเมล์ถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ใช้บริการรถเมล์อยู่แล้ว

แต่ล่าสุดทางกระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก ได้เตรียมโครงการปฏิรูปเส้นทาง และเลขสายใหม่ตามแผนศึกษาโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทำให้สังคมออนไลน์แชร์ข้อมูลและวิจารณ์ถึงโครงการดังกล่าวมองว่าการปรับเปลี่ยนเลขสายครั้งนี้ จะสร้างความสับสนต่อผู้ใช้บริการหรือไม่ อาทิ

ที่มาของการปรับเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ในขณะนี้ เป็นไปตาม แผนแม่บทพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งศึกษาโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 และมีการรับฟังความคิดเห็นในเบื้องต้นไปด้วยแล้ว โดยเลขสายรถเมล์จะแบ่งเป็น 4 โซน ใช้หลักการแบ่งพื้นที่การเดินรถของจุดต้นทางตามทิศของกรุงเทพมหานคร คือ เลขแรกเป็นเลขโซน และตัวเลขหลังเป็นเลขสาย

วัตถุประสงค์เพื่อทำให้ทราบว่ารถเมล์สายนี้มีต้นทางอยู่ในพื้นที่ใด ถนนสายใด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ทุกกลุ่ม แม้แต่ผู้ที่ไม่ค่อยได้ใช้รถเมล์และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมาใช้รถเมล์เดินทางในเมืองที่มีข้อมูลนี้ ก็จะทราบว่าจะเดินทางจากที่ไหนไปที่ไหน จะต้องขึ้นรถเมล์ในโซนใดหรือสายใด

>>>ตารางรายละเอียดของเส้นทางปฏิรูปเทียบกับเส้นทางเดิม<<<

ติดเลขสายเดิมควบคู่เลขสายใหม่ ไม่น้อยกว่า 1 ปี

อย่างไรก็ตามในช่วงการเปลี่ยนผ่านปฏิรูปเส้นทางนี้ เพื่อป้องกันความสับสนของของผู้ใช้บริการ กรมการขนส่งทางบกจึงได้มอบหมายองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. และรถเอกชน ให้ดำเนินการใส่เลขสายเดิมควบคู่กับเลขสายใหม่กำกับหน้ารถไว้ด้วย ซึ่งจะใส่เลขสายเดิมกำกับเลขสายใหม่ไว้ไม่น้อยกว่า 1 ปี เพื่อให้ประชาชนทราบแนวเส้นทางต่าง ๆ ในการเดินทาง จนกว่าประชาชนจะเกิดความคุ้นเคยหลังเริ่มปรับเปลี่ยนสาย

รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบการเปลี่ยนเลขสายนี้ บนรถเมล์และบริเวณป้ายรถเมล์ และแจกแผ่นพับแก่ผู้โดยสาร ขณะเดียวกันในอนาคตจะมีการนำเทคโนโลยี “แอปพลิเคชัน” มาช่วยในการเดินทาง เพื่อเป็นข้อมูลการเดินทางและเกิดความสะดวกกับผู้ใช้บริการรถเมล์ในพื้นที่เมืองทั้งหมดด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาและพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปเส้นทางฯ

โดยจะนำระบบ GPS มาใช้ร่วมกับระบบในแอปพลิเคชัน เมื่อผู้เดินทางเข้าใช้งานแอปพลิเคชันก็จะทราบว่า หากเดินทางจากต้นทางนี้ไปปลายทางที่ไหนจะใช้รถเมล์สายใด ระยะทางเท่าใด และใช้เวลาในการเดินทางเท่าไหร่ เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการอย่างมาก ทั้งนี้ ในอนาคตรถเมล์จะมีระบบประมวลผลที่ดีและทำให้การปรับปรุงเส้นทางเดินรถของรถเมล์ที่ง่ายขึ้น และเป็นไปตามความต้องการของประชาชน โดยแอปพลิเคชันใหม่นี้จะเปิดตัวภายใน 6 เดือนข้างหน้า

เสียงจากประชาชนกับการ ‘เปลี่ยนเลขสายรถเมล์’

เพจ รถเมล์ไทยแฟนคลับ Rotmaethai เป็นอีกหนึ่งเพจที่รวบรวมและให้ข้อมูลเกี่ยวการใช้บริการรถเมล์ในบ้านเรา รวมถึงเป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนจากประชาชนผู้ใช้บริการรถเมล์จริง ๆ ที่มองว่าอยากให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ ในการให้บริการมากกว่า อาทิ ปัญหาจำนวนรถเมล์น้อยที่ส่งทำให้ประชาชนต้องใช้เวลารอรถค่อนข้างนาน ปัญหาสภาพของรถเมล์

ซึ่งมองว่าการปฏิรูปเส้นทางการเดินรถนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การเปลี่ยนเลขสายรถเมล์อาจทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความสับสน เพราะประชาชนผู้ใช้บริการคุ้นชินการจำหมายเลขเดิมนั้นอยู่แล้วและเข้าใจง่าย อาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่ไม่ค่อยได้ใช้รถเมล์เป็นประจำอาจเกิดความสับสนได้ เพราะต้องมาจำเลขสายรถเมล์ใหม่ทั้งหมดหากมีการปรับเปลี่ยนแล้ว

ซึ่งมองว่าสิ่งที่ภาครัฐควรปรับแก้ คือ รถเมล์สภาพที่ดี ราคาเข้าถึงได้ หรือเป็นรัฐสวัสดิการที่ประชาชนทุกระดับเข้าถึงได้ ระบบตั๋วร่วม ล้อ ราง เรือ ไม่ใช่รถเมล์คันเก่า เส้นทางเก่า คนขับเก่า แต่เปลี่ยนแค่เลขสายเท่านั้น

‘ศักดิ์สยาม’ ชี้แจงกรณีเปลี่ยนเลขสายรถเมล์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า โครงการปฏิรูปเส้นทาง และเลขสายใหม่ นั้น ที่ผ่านมามีรถเมล์วิ่งทับซ้อนเส้นทางกันจำนวนมาก เป็นต้นเหตุปัญหาจราจร ฝุ่นละออง PM 2.5 และต้นทุนดำเนินงาน การเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้รถเมล์วิ่งทับซ้อนกันน้อยที่สุด

โดยทาง ‘องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ’ หรือ ขสมก. ได้ชี้แจงเพิ่มดังนี้

การเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ในครั้งนี้ จะสร้างความสับสนต้องผู้ใช้บริการหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับหน่วยงานเจ้าภาพดูแลและกับกับเรื่องนี้ ที่ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ถึงโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เลขที่กำกับโซน / เส้นทางวิ่ง ต้องชี้แจงและให้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน

ซึ่งการจำตัวเลขใหม่นั้นคงไม่ง่ายสำหรับผู้ที่จดจำเลขเดิมที่มาการใช้มาอย่างยาวนาน โดยหากตามข้อมูลข้อกรมการขนส่งทางบกในการพัฒนาแอปพลิเคชันมาใช้ร่วม น่าจะเป็นผลดีต้องผู้ใช้ไม่มากก็น้อยเช่นกัน แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ควรรับฟังปัญหาจากผู้ใช้บริการด้วยเช่นกัน มิเช่นนั้นแล้วอาจเข้าวลี ‘คนคิดไม่ใช้ คนใช้ไม่ได้คิด’


ข้อมูล :


ข่าวที่เกี่ยวข้อง