KEY :
- การปลดกัญชา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ผู้ที่สนใจปลูก สามารถลงทะเบียนผ่านทาง แอปพลิเคชันและเว็บไซต์ “ปลูกกัญ” ได้แล้ว
- สารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2% โดยน้ำหนักที่ยังคงเป็นยาเสพติด
- มีประชาชนเกิดข้อกังวลจากการใช้กัญชา เนื่องจากพบกรณีการแพ้กัญชาในอาหาร รวมทั้งการเสพกัญชาเกินขนาด
- พ.ร.บ.กัยชา กัญชง ในวาระที่เหลือ จะพิจารณาในส่วนของการออกกฎหมายควบคุมการใช้กัญชา
เกือบ 1 สัปดาห์แล้ว สำหรับการปลดล็อก ‘กัญชา’ นอกจากเสียงเฮจากฝั่ง ‘สายเขียว’ แล้ว ยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและทางการแพทย์ในไทยอย่างมาก จากข้อมูลการลงทะเบียน ณ วันที่ 14 มิถุนายน 256 กัญชา มีผู้ที่ให้ความสนใจเข้าใช้งานแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ “ปลูกกัญ” เป็นจำนวนมากกว่า 37,688,483 ครั้ง และลงทะเบียนจดแจ้งการปลูก กัญชง กว่า 806,759 คน
แต่ดูเหมือนว่ากระแส ‘กัญชา’ จะเริ่มมีเสียงแตกออกเป็น 2 สองส่วนเสียแล้ว เหมือนมีเคสกรณีวัยรุ่นอายุระหว่าง 16-17 ปี ใช้กัญชาในการสันทนาการจน Overdose และต้องนำส่งโรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการข้างเคียง หรือรวมทั้งชายวัย 51 ปี ที่เสียชีวิตจากการเสพกัญชาจน Overdose ตามรายงานของทางสำนักการแพทย์กรุงเทพมานคร
ในมุมมองของเสียงที่ไม่เห็นด้วยจากการปลดล็อกกัญชานั้น ยังห่วงในเรื่องของความเสรีจนส่งผลกระทบก่อให้เกิดปัญหาในกลุ่มของเยาวชน ที่อาจริลองด้วยความคึกคะนองตามช่วงวัย จากการเสพเพื่อสันทนาการ ว่าอาจเป็นการส่งเสริมทำให้มอมเมาเยาวชนหรือไม่? รวมถึงความออกกฎหมายลูกใน พ.ร.บ.กัญชาฯ ถึงบทลงโทษต่าง ๆ ให้ครอบคลุมและชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายภาคหน้า
จริงอยู่ว่า ‘กัญชา’ นั้นมีประโยชน์ในทางการแพทย์ และมีส่วนในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ แต่โทษของมันก็มีเช่นกัน เฉพาะการใช้กัญชา ไม่ว่าจะทางการแพทย์ การบริโภคจากการแบบรูปเป็นอาหาร เครื่องดื่ม หรือ การใช้เพื่อสันทการก็ดี ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ด้วยเช่นกัน เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจากสามารถใช้ได้แบบ 100% ในกรณีผู้ที่แพ้สารบางชนิดในกัญชา หรือ ใช้แบบ Overdose อาจได้ผลเสียแทนที่จะได้รับผลดีจากกัญชา
ปลดล็อก ‘กัญชา’ แต่ยังมีข้อจำกัดอยู่
ตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ทำให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2% โดยน้ำหนักที่ยังคงเป็นยาเสพติดนั้น โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
โดยได้นำตำรับยากัญชาบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว 8 ตำรับ นอกจากนั้นกัญชายังสามารถนำมาต่อยอดในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพของตนเอง
กระทรวงสาธารณสุขเองได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับในเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในการนำกัญชากัญชงไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น ห้ามจำหน่ายให้ใช้ในสตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี การออกประกาศกำหนดให้กลิ่นควันกัญชากัญชงเป็นเหตุรำคาญ นโยบายนี้ไม่ครอบคลุมถึงการสูบหรือการบริโภคเพื่อความบันเทิงหรือนันทนาการ เพราะไม่ใช่วัตถุประสงค์ของกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกกัญชา กัญชง สามารถปลูกได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่จะต้องมีการจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ ปลูกกัญ ของ อย. ที่จัดทำขึ้นและสามารถถอนการจดแจ้งได้เมื่อพบการกระทำความผิดที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกระทรวงสาธารณสุข
การนำเข้า ‘กัญชา-กัญชง’
สำหรับการนำเข้าสารสกัดทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง ห้ามนำเข้า เว้นต้องขออนุญาติตามประมวลกฎหมายยาเสพติด กรณีเพื่อการศึกษาวิจัย / กรณีเป็นหน่วยงานรัฐเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งการนำเข้านั้นไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 แต่จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องเครื่องมือแพทย์เท่านั้น
ส่วนการนำเข้าในรูปแบบผลิตภัณฑ์ ที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชง จะต้องพิจารณาจากวัตถุประสงค์การใช้งานบนฉลากผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิต
- กรณีอาหาร จัดเป็นอาหารห้ามนำเข้าตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 424 พ.ศ.2564 ที่ออกตามมาตรา 6(8) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท
- กรณีเครื่องสำอาง จัดเป็นเครื่องสำอางที่ห้ามนำเข้าตามประกาศฯ ที่ออกตามความในมาตรา 6(1) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามความในพระบัญัญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558
- กรณีการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภำพอื่น เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น
กลุ่มบุคคลไม่สามารถใช้ ‘กัญชา’ รักษาโรค
‘กัญชา’ มีทั้งประโยชน์ และโทษ ถ้าหากนำไปใช้ในทางที่ผิดอาจเกิดโทษได้ กัญชาไม่ใช่ยาครอบจักรวาล และบางคนก็ไม่สามารถใช้กัญชาได้ และไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถใช้ในการรักษาได้เช่นกัน
ผู้ที่ห้ามใช้กัญชา ได้แก่
- 1.หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
- 2.ผู้ที่มีภาวะ ตับ หรือไตบกพร่องอย่างรุนแรง
- 3.ผู้ที่อายุต่ำกว่า 25 ปี
- 4.ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคจิต
และห้ามใช้กัญชาเองโดยไม่ได้อยู่ในการดูแลของแพทย์
อาการไม่พึงประสงค์ และความเป็นพิษจากกัญชา ได้แก่
- 1.ความดันเลือดต่ำ อาจทำให้เป็นลม และหมดสติได้
- 2.การมองเห็นสีผิดปกติ และอารมณ์แปรปรวน
- 3.พัฒนาการทางด้านสมองเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับ ความคิด ความจำ และการเรียนรู้
- 4.หลอดลมอักเสบเรื้อรัง
- 5.เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติทางจิต
การใช้ ‘กัญชา’ ทางการแพทย์ (สำหรับผู้ป่วย)
ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทยที่ผู้ป่วยสามารถใช้เพื่อการรักษาโรคได้อย่างถูกกฎหมายมีดังต่อไปนี้
- ตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ มี 2 ประเภท ได้แก่
1.1 ตำรับยาแผนไทยตามบัญชีรายชื่อ แนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยพ.ศ. 2562 จำนวน 16 ตำรับ
1.2 ตำรับยาแผนไทยของแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านที่ได้รับการรับรองจากกรมการแพทย์แผนไทย
และการแพทย์ทางเลือก เช่น ตำรับน้ำมันหมอเดชา ตำรับน้ำมันจอดกระดูก
- ตำรับยาพัฒนาจากสมุนไพรซึ่งมีกัญชาปรุงผสมอยู่ 2 ประเภท ได้แก่
2.1 ตำรับยาพัฒนาจากสมุนไพรตามองค์ความรู้การแพทย์แผนไทย
2.2 ตำรับยาพัฒนาจากสมุนไพรตามองค์ความรู้การแพทย์แผนปัจจุบัน
- ตำรับยากัญชา: มีสารออกฤทธิ์ซึ่งสกัดจากกัญชาในลักษณะที่มีความบริสุทธิ์สูง เพื่อใช้ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ขณะนี้ยังไม่มี
ตำรับยากัญชาที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้ผลิต นำเข้าและจำหน่าย เพื่อใช้ประโยชน์ในประเทศ
สิ่งที่ผู้ป่วยควรปฏิบัติเมื่อเริ่มใช้สารสกัด หรือ น้ำมันกัญชา นั้น อย่างแรกต้องทราบถึงข้อมูลก่อนการตัดสินใจ สารสกัดกัญชานั้นไม่ใช่ทางเลือกแรกที่ใช้ในการรักษา เนื่องจากยังไม่ได้รับการรับรองประสิทธิผลและความปลอดภัยจาก อย. และใช้เป็นรักษาเสริมจากการรักษาตามมาตรฐาน ไม่หยุดการรักษาที่รับอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ผู้ป่วยต้องทราบประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ควรใช้สารสกัดกัญชาที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตอย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากมีคุณภาพสม่ำเสมอ ปลอดภัยจากสารปนเปื้อน และมีมาตรฐานการผลิตที่ดีตามหลัก GMP
อีกทั้งก่อนการใช้ควรไปพบแพทย์ขอรับการตรวจรักษา และปรึกษาการใช้สารสกัดกัญชา แจ้งให้แพทย์ทราบอาการ ความรุนแรง ระยะเวลาของโรค และความประสงค์จะใช้สารสกัดกัญชาหรือน้ำมันกัญชา / มีประสบการณ์ใช้กัญชาในรูปแบบใดบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาสั่งจ่ายยาให้เหมาะสม/ แจ้งให้แพทย์ทราบว่าปัจจุบันใช้ยา ประเภทใดอยู่บ้าง สารสกัดกัญชา อาจส่งผลต่อยาบางชนิดที่ผู้ป่วยใช้เป็นประจำ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้
ซึ่งภายหลังได้รับสารสกัดหรือน้ำมันกัญชามาแล้วนั้น ควรอ่านฉลากและเอกสารกำกับยาให้เข้าใจเสียก่อน หากมีข้อส่งสัยให้ขอคำแนะนำที่ถูกต้องจากทางเภสัชกรหรือแพทย์ผู้สั่งจ่ายยา เนื่องจากแต่ละผลิตภัณฑ์มีวิธีใช้ที่แตกต่างกันเช่น บางผลิตภัณฑ์ใช้สำหรับรับประทาน บางผลิตภัณฑ์ใช้หยดใต้ลิ้น ผู้ป่วยต้องใช้ให้ถูกวิธี เพราะมีผลต่อประสิทธิผลและความปลอดภัยในการใช้ยา
อย่างไรก็ตามก็ใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชานั้น ย่อมมีผลข้างเคียงตามมาเช่นกัน ฉะนั้นที่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ในการรักษาควรหลีกเลี่ยงการขับรถหรือการทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักร หรือการใช้ร่วมกัญแอลกอฮอล์ ซึ่งหากมีอาการรุนแรงควรรีบพบแพทย์ใกล้บ้านโดยทันที
‘กัญชา’ ไม่ใช่ยาเสพติด แต่ใช้ในทางที่ผิดส่งผลเสียเช่นกัน
สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร รายงานประเด็นการใช้กัญชา ต่อ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังพบผู้ป่วยจากการเสพกัญชาเกินขนาดใน กทม. แล้ว ทั้งหมด 4 ราย เสียชีวิต 1 ราย เป็นชายวัย 51 , ผู้ป่วยที่พบอายุน้อยสุด 16 ปี
โดยผู้ป่วย Overdose กัญชาที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ แยกเป็น
- โรงพยาบาลตากสิน 2 ราย เพศชายอายุ 17 ปี และ 25 ปี อาการใจสั่น (คาดว่าเกิดจากผลข้างเคียงจากการเสพกัญชา)
- โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ 1 ราย เพศชาย อายุ 51 ปี แน่นหน้าอกหลังเสพกัญชา มาด้วย Heart failure และมี Cardiac arrest (เสียชีวิต)
- โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ชุตินธโรอุทิศ 1 ราย เพศชายอายุ 16 ปี 6 เดือน เสพกัญชามาก Overdose ขณะนี้On ET tube อยู่ ICU
เรื่องมาตรการดูแลนักเรียนในสังกัด กทม. จากกฎหมายปลดล็อคกัญชา นายชัชชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยใช้กัญชามากจนเกินไปภายหลังปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร รายงานข้อมูลผู้ป่วย Overdose กัญชาที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ พบ 4 ราย มี 1 รายเสียชีวิต สำนักการแพทย์ไม่เคยพบมาก่อน ต้องเตรียมตัวให้ดี
ในส่วนของเรื่องโรงเรียนก็น่ากังวล เพราะมีเรื่องนำไปผสมในอาหาร กทม.จึงเฝ้าระวังและให้ความรู้นักเรียนและครู พร้อมมีแนวคิดร่างประกาศให้โรงเรียนในกทม.ปลอดกัญชา โดยต้องดูอีกทีว่าจะทำในมิติไหน เช่นห้ามขายหน้าโรงเรียน สิ่งสำคัญต้องให้ความรู้ครูและนักเรียนก่อน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ทางด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เรื่องการห้ามใช้กัญชาในโรงเรียน ให้ย้อนดูกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข เรามีเรื่องนี้อยู่แล้ว ที่ไม่ให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ใช้กัญชาในที่สาธารณะ ที่หมายถึงโรงเรียนด้วย แล้วเรากำลังจะออกกฎหมาย ให้กัญชา เป็นสมุนไพรคุ้มครองชนิดควบควม เพื่อไม่ให้มีการใช้กัญชาในทางที่ผิด
ขณะที่นาย สาธิต ปิตุเตชะ ซึ่งดูแลกรมอนามัย ได้ลงนามประกาศ ของกระทรวงฯ ในการควบคุมการใช้กัญชาแล้ว เนื่องการนำสารสกัดไปผสมอาหาร สารสกัดนั้น ต้องมีค่า THC ไม่เกิน 0.2% ถ้าเกินจะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และอาจเป็นอันตรายในกลุ่มผู้ที่แพ้พืชกัญชาได้
ไทม์ไลน์การพิจารณา พ.ร.บ.กัญชา กัญชง
ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมาธิการเรียบร้อยแล้ว โดยมีนายศุภชัย ใจสมุทร เป็นประธาน จากนี้จะเป็นในเรื่องของการแปรญัตติ มีการหารือการสัปดาห์ละ 2 ครั้ง คาดว่าเรียบร้อยทันการพิจารณาในสมัยประชุมนี้
ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประกาศควบคุมการใช้กัญชา กัญชง อาทิ การใช้กัญชาในที่สาธารณะ ก่อให้เกิดความรำคาญ ถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ถ้ามีการแจ้งเตือนแล้วยังไม่หยุดการกระทำ จะมีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ต้องช่วยกันประคองสถานการณ์ให้จนกว่าพระราชบัญญัติจะเสร็จสิ้น และบังคับใช้
ประกาศควบคุมกลิ่น ควันจากกัญชา กัญชง
วันที่ 14 มิ.ย.2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใดเป็นเหตุรำคาญ เนื่องจากการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น สันทนาการ อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่โดยปกติสุขหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยควันของพืชดังกล่าวข้างต้นจะมีอนุภาคขนาดเล็กที่สามารถเข้าสู่ปอดได้ด้วยการการหายใจเอาควันเข้าไป ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคปอด หอบหืด หลอดลมอักเสบ
เพื่อควบคุมและป้องกันมิให้เกิดผลกระทบจนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงหรือ ผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น สมควรกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 (5) แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565”
ข้อ 2 ในประกาศนี้
“กัญชา” หมายความว่า พืชในสกุล Cannabis เป็นพืชล้มลุก ลำต้นมีสีเขียวอมเทา ใบเป็นแฉกเว้าลึกจนถึงโคนใบ ใบแต่ละแฉกยาวรี ขอบใบจักแบบฟันเลื่อย ดอกสีเขียว มีสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
“กัญชง” หมายความว่า ไม้ล้มลุกมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์คล้ายกัญชา แต่ลักษณะต้นสูงกว่า ใบเรียวยาวและสีอ่อนกว่า มีสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
ข้อ 3 กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เว้นแต่พืชที่มีกฎหมายอื่นควบคุมแล้ว จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น เป็นเหตุรำคาญ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
ข้อ 4 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
…
การปลดล็อคกัญชาในบ้านเรานั้นอาจยังเป็นเรื่องที่ใหม่อยู่ จากในอดีตที่เป็นยาเสพติด ถูกนำขึ้นมาให้ถูกกฎหมายโดยมุ่งเน้นจุดประสงค์ทางการแพทย์ แม้จะเป็นการทำให้ถูกกฎหมายแต่ก็ยังมีข้อจำกัดในการอนุญาตให้ปลูก หรือ นำมาใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขระบุไว้
ยังไม่นับรวมการนำไปใช้ในทางที่ผิดที่อยู่นอกเหนือของประกาศกระทรวงสาธารณสุข อาทิ การใช้ในสันทนาการ หรือ ข้อจำกัดในการควบคุมการใช้ หรือมาตรการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องรอดูการพิจารณา พ.ร.บ. กัญชา กัญชง ว่าจะมีการออกกฎหมายคุมการใช้กัญชาอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต ซึ่งตัวกฎหมายฉบับนี้จะสร้างความชัดเจนในสังคมและความเข้าใจในการใช้กัญชาที่ถูกต้องต่อไป
อ้างอิงข้อมูล :
- กระทรวงสาธารณสุข
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา