KEY :
- สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสตอกโฮล์ม หรือ SIPRI ออกรายงานประเมินสถานะของหัวรบนิวเคลียร์ในชาติต่าง ๆ
- พบว่า หัวรบนิวเคลียร์ในขณะนี้ มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่มีการประจำการในสถานีรบต่าง ๆ ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
- ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซีย มีหัวรบนิวเคลียร์กว่า 3 พันหัวรบ ที่ประจำการในสถานีรบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นขีปนาวุธ หรือยานพาหนะต่าง ๆ และอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานทันที
- SIPRI ประเมินว่า การสะสมหัวรบนิวเคลียร์จะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้
- และความเสี่ยงในการใช้อาวุธนิวเคลียร์อยู่ในระดับที่เพิ่มสูงขึ้น นับตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น
…
สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสตอกโฮล์ม (SIPRI) ได้ออกรายงาน SIPRI Yearbook 2022 โดยได้ประเมินสถานะปัจจุบันของอาวุธและยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงความมั่นคงคระหว่างประเทศ โดยระบุว่า ในขณะนี้ แม้หัวรบนิวเคลียร์ในภาพรวมนั้นจะมีจำนวนลดลง แต่ SIPRI เชื่อว่า หลังจากนี้ การสะสมหัวรบนิวเคลียร์จะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง
จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ลดลง
ในขณะนี้ ชาติที่ถือครองหัวรบนิวเคลียร์ทั้งหมด 9 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส อินเดีย อิสราเอล เกาหลีเหนือ ปากีสถาน สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย มีหัวรบนิเคลียร์รวมกันทั้งหมด จากการสำรวจในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จำนวน 12,705 หัวรบ ซึ่งลดลง 375 หัวรบ เมื่อเทียบกับในช่วงต้นปี 2021 ที่ผ่านมา
ในจำนวนหัวรบทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนี้ มีจำนวน 3,732 หัวรบ ที่มีประจำการอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ ในสถานะที่พร้อมใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งไว้ในขีปนาวุธ ยานพาหนะ หรือสถานีรบต่าง ๆ และมีราว 2,000 หัวรบ เป็นของสหรัฐฯ และรัสเซีย ซึ่งอยู่ในสถานะพร้อมรับการแจ้งเตือนเพื่อให้ปฏิบัติการ ส่วนอีกราว 9 พันกว่าหัวรบนั้น ยังคงถูกเก็บอยู่ในคลังของแต่ละประเทศ
เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า จำนวนหัวรบนิวเคลียร์นั้นมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นเพราะการปลดระวางหัวรบเก่าที่หมดอายุตั้งแต่ในช่วงหลายปีก่อน หลังผ่านพ้นยุคสงครามเย็น ซึ่งในปี 1986 ที่ประมาณการว่า ทั่วโลกมีหัวรบนิวเคลียร์อยู่มากกว่า7 หมื่นหัวรบด้วยกัน ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซีย มีการลดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
แต่หัวรบนิวเคลียร์ที่มีการประจำการอยู่ในสถานีรบต่าง ๆ นั้น ไม่ได้ลดลงตามจำนวนที่คาดหวังไว้ ทาง SIPRI เชื่อว่า มีหัวรบมากกว่า 1,600 หัวรบ ที่พร้อมใช้งานได้ทันที หากมีคำสั่งให้ใช้มัน
…
ประเทศ | จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ ปี2022 | จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ ปี2021 |
---|---|---|
รัสเซีย | 5,977 | 6,255 |
สหรัฐอเมริกา | 5,428 | 5,550 |
จีน | 350 | 350 |
ฝรั่งเศส | 290 | 290 |
สหราชอาณาจักร | 225 | 225 |
ปากีสถาน | 165 | 165 |
อินเดีย | 160 | 156 |
อิสราเอล | 90 | 90 |
เกาหลีเหนือ | 20 | 40-50 |
…
แต่กำลังมีแนวโน้มที่อาจจะเพิ่มขึ้น
หลังจากที่หัวรบนิวเคลียร์ในประเทศต่าง ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา SIPRI คาดกว่า จำนวนหัวรบนิวเคลียร์น่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลายประเทศกำลังมีแนวโน้มที่จะพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงสหราชอาณาจักร และจีน ที่กำลังมีทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งที่มีรายงานอย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ
ซึ่งจากสงครามที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้การลดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์เป็นเรื่องยากขึ้น หลังจากที่ปูติน ได้มีการกล่าวถึงอาวุธทำลายล้างสูงอย่างนิวเคลียร์ หลายครั้งหลังจากที่มีการเปิดปฏิบัติการทางทหารโจมตียูเครน และถือเป็นแรงผลักดันให้หลายประเทศติดอาวุธนิวเคลียร์มากขึ้นตามไปด้วย
…
ประเทศ | ประจำสถานีรบ | คลังแสง |
---|---|---|
สหรัฐอเมริกา | 1,744 | 1,964 |
รัสเซีย | 1,588 | 2,889 |
ฝรั่งเศส | 280 | 10 |
สหราชอาณาจักร | 120 | 60 |
…
ในขณะที่ประเทศอย่างอิหร่าน กลับมาเดินหน้าในการพัฒนานิวเคลียร์อีกครั้ง ก็ถือเป็นเรื่องที่หลายประเทศได้แสดงความกังวลต่อการเดินหน้าโครงดังกล่าว มากพอ ๆ กับการที่เกาหลีเหนือกำลังมีความเป็นไปได้ที่จะเดินหน้าโครงการด้านอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง และหลายฝ่ายประเมินว่า เกาหลีเหนือมีวัตถุดิบเพียงพอในการผลิตหัวรบนิเคลียร์เพิ่มเติมได้ และอาจจะมากถึง 50 หัวรบ
ทางด้านของประเทศจีนที่หลายประเทศให้ความสนใจ และจับจ้องต่อการพัฒนาอาวุธ และหลายฝ่ายเชื่อว่า จีนกำลังขยายขีดความสามารถและเพิ่มจำนวนอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเพนตากอนเชื่อว่า ในการพัฒนาไซโลเก็บขีปนาวุธจำนวนหลายร้อยแห่งขึ้นมาใหม่นั้น นั่นอาจจะหมายถึงจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยคาดว่า จีนจะมีหัวรบนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ภายในปี 2027 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า
สิ้นสุดยุคของการลดอาวุธนิวเคลียร์
Hans M. Kristensen จาก SIPRI ระบุว่า มีข้อบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า การลดลงของจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลกที่มีมาตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามเย็นได้สิ้นสุดลงแล้ว เช่นเดียวกับ Wilfred Wan ผอ.ของ SIPRI ก็ได้กล่าวว่า “ประเทศที่อาวุธนิวเคลียร์จะมีการเพิ่มจำนวน หรืออัปเกรดอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้น และอาวุธนิวเคลียร์เหล่านี้ จะเป็นหนึ่งในแผนกลยุทธ์ของกองทัพของชาติต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่น่ากังวล”
ซึ่งในช่วงปี 2021 สมาชิกถาวรติดอาวุธนิวเคลียร์ (P5) ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน โดยยืนยันว่า “สงครามนิวเคลียร์นั้นไม่ก่อให้เกิดชัยชนะ และต้องไม่ถูกนำมาใช้ในการสู้รบ” ซึ่งนำไปสู่คำมั่นที่จะลดอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศทั้ง 5
อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงพบว่า ประเทศสมาชิกทั้งหมด ยังคงพัฒนาและขยายคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ให้มีความทันสมัย และเพิ่มความสำคัญของอาวุธนิวเคลียร์เป็นกลยุทธ์ของกองทัพ ซึ่งจะเห็นได้ว่า อาวุธนิวเคลียร์ถูกใช้ในการข่มขู่อย่างเปิดเผยในปฏิบัติการของรัสเซียต่อยูเครนที่เกิดขึ้น
“นั่นทำให้ความเสี่ยงของการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าครั้งไหน ๆ นับตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น”
ที่มา – https://www.sipri.org/media/press-release/2022/global-nuclear-arsenals-are-expected-grow-states-continue-modernize-new-sipri-yearbook-out-now