.
หลังการปลดล็อกกัญชาพ้นบัญชียาเสพติดประเภท 5 ยังคงมีข้อเสนอแนะจากหลายฝ่าย ป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
.
‘รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์’ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อเสนอแนะผ่านเพจเฟซบุ๊ก หยิบยกตัวเลขประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ จากการเปิดเสรีกัญชา ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา อ้างอิง
Economic and Social Costs of Legalized Marijuana. Centennial Institute, 18 November 2018.
.
ใจความสำคัญระบุว่า ที่รัฐโคโลราโด พบว่า แต่ละครั้งที่รัฐเก็บภาษีได้ 1 ดอลล่าร์ จากการขายกัญชา ชาวโคโลราโดจะต้องเสียเงิน 4.5 ดอลล่าร์ เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเสรีกัญชา ราคาค่างวดที่ประชาชนโดยรวมต้องจ่ายไปนั้น จะเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยทั้งโดยตรงและโดยอ้อม รวมถึงความสูญเสียจากการที่เด็กนักเรียนชั้นต่างๆ ต้องออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับมัธยม
.
“ในโคโลราโดทุกปีจะมีอย่างน้อย 15 คน ที่เสพกัญชาผ่านการสูบแล้วเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้ระหว่างการเสพ จนบาดเจ็บต่อร่างกาย ที่สำคัญคนที่เสพกัญชายิ่งบ่อย ยิ่งจะมีแนวโน้มจะแอคทีพน้อยลง พูดง่ายๆ คือมีกิจกรรมทางกายน้อยลง มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง และแน่นอนว่าระยะยาวก็ส่งผลต่อสุขภาพและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพตามมา” รศ.นพ.ธีระ ระบุ
.
ด้าน ‘รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์’ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การใช้กัญชาโดยเน้นการใช้ทางการแพทย์ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่เน้นการใช้เพื่อสันทนาการ แต่ในทางปฏิบัติอาจมีความย้อนแย้งกัน เพราะการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันนั้นมีโรคที่อนุญาตให้ใช้ประมาณ 6-7 โรค แต่ที่น่ากังวลคือการนำเอาไปใช้สันทนาการแล้วอ้างว่าใช้เพราะเจ็บป่วยถือว่าอันตรายมาก รวมถึงการได้รับสารในกัญชาโดยไม่รู้ถึงปริมาณจากการรับประทานก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล
.
“ได้หารือกับทางโรงเรียนแพทย์ และเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน เพื่อเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากกัญชาทุกราย ร่วมกับการรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงประสานกรุงเทพมหานคร เพื่อเฝ้าระวังการใช้ในโรงเรียน เพื่อให้มีข้อมูลเชิงประจักษ์ให้เห็นถึงอันตรายจากกัญชา เพื่อให้การพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….เป็นไปอย่างรอบคอบ”
.