คัดลอก URL แล้ว
GT 200 กับเครื่องตรวจระเบิดลวงโลก

GT 200 กับเครื่องตรวจระเบิดลวงโลก

KEY :

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในแวดวงของท็อปบู๊ท หรือ วงการทหารไทยบ้านเราอีกครั้ง เมื่อ ส.ส.พรรคก้าวไกล โดยนายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ได้อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2566 เกี่ยวกับการใช้งบของกระทรวงกลาโหมที่ไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณ

โดยระบุว่าเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางกองทัพบกทำสัญญาจ้างให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT 200 จำนวน 757 เครื่องมูลค่ารวม 7,570,000 บาท หรือตกแล้วเครื่องละ 10,000 บาท เพื่อตรวจสอบว่าเครื่องดังกล่าว สามารถตรวจหาสารเสพติด ระเบิด หรือสิ่งผิดกฎหมายได้จริงหรือไม่

เดือดร้อนไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกองทัพบก และ สวทช. ต้องเร่งออกมาชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่งทางกองทัพบกได้ชี้แจงว่า ขณะนี้ได้ยุติการผ่าพิสูจน์เครื่อง GT 200 แล้ว และกองทัพต้องเตรียมคืนงบประมาณ 2-3 ล้านบาท โดยขณะนี้รอหนังสือตอบรับจากอัยการสูงสุดเป็นลายลักษณ์อักษรว่าไม่ต้องผ่าเครื่อง

14 ปีผ่านมากับเครื่อง GT 200

ย้อนกลับไปเมื่อ 2548 หลายหน่วยงานในไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าทัพ กองทัพเรือ, กองทัพบก, สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ทำการจัดซื้อนำเข้า GT 200 โดยจัดซื้อไป 848 เป็นเงินกว่า 760 ล้านบาท โดยเป็นกองทัพบกที่จัดซื้อมากสุดถึง 757 เครื่อง ในราคาที่แตกต่างกันตั้งแต่ 5 แสนบาท ไปจนถึง 1 ล้านบาท

ด้วยคำอวดอ้างจากบริษัทโกลบอลเทคนิค จำกัด ผู้ผลิตในสหราชอาณาจักร อ้างว่า เครื่องดังกล่าวนั้นสามารถตรวจจับวัตถุระเบิดและยาเสพติด ที่ระบุว่าเจ้า GT 200 คือ อุปกรณ์ตรวจสอบวัตถุระเบิด โดยใช้ระบบแม่เหล็กขั้นสูง ทางผู้ผลิตยังเคลมอีกว่าสามารถตรวจจับวัตถุต้องสงสัยได้อีกมากมาย ทั้ง ยาเสพติด กระสุนปืน ของผิดกฎหมาย

โดยหลักการทำงานของเจ้าเครื่องดังกล่าว ตามที่ผู้ผลิตระบุไว้คือ หากต้องการตรวจหาวัตถุชนิดได้ ให้นำชิบข้อมูลของวัตถุนั้น ๆ ในรูปแบบของการ์ด ใส่เข้าไปยังตัวเครื่อง โดยจะมีเสาเปลี่ยนทิศทางในกรณีที่เจอวัตถุต้องสงสัย

ข้อกังขา GT 200 ใช้ได้จริงหรือไม่?

จากข้อมูลของอดีตทหารชั้นผู้น้อย ซึ่งเคยปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้เล่าถึงประสบการณ์การใช้ GT 200 ในการปฏิบัติภารกิจจริง จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2549 ในพื้นที่ บ้านบันนังกูแว อำเภอบันนังสะตา จังหวัดยะลา โดยได้ทำการตรวจพื้นที่โดยรอบก่อนผู้บังคับบัญชาจะใช้เส้นทางดังกล่าว ซึ่งได้ทำการใช้เจ้าเครื่อง GT 200 ในการตรวจหาวัตถุต้องสงสัย และก็ไม่พบแต่อย่างใด

ด้วยความที่มั่นใจในเครื่องมือที่ดูจะทันสมัยและเชื่อถือได้ แต่สิ่งไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อเกิดเหตุระเบิดและเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีทหารเสียชีวิต 5 นาย รวมทั้งผู้บังคับบัญชาด้วยเช่นกัน จนเกิดข้อกังขา และข้อกังวลสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะชั้นผู้น้อยที่ต้องใช้เครื่องมือดังกล่าวในการปฏิบัติภารกิจ ซึ่งยังมีเหตุระเบิดเกิดขึ้นทั้งในปี 2552 พื้นที่ จ.นราธิวาส ถึง 2 ครั้ง เกิดจากความผิดพลาดของ GT 200 อีกเช่นเคย

ยังไม่นับรวมจากการเกิดข้อผิดพลาดของเครื่องดังกล่าวจากการใช้งานของหน่วยงานอื่น ๆ จนนำไปสู่ข้อครหาจากภาคประชาชน และหน่วยงานอิสระ ว่าเครื่อง GT 200 นั้น มีประสิทธิตรวจจับระเบิดได้จริงหรือไม่

นำโดย ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการอิสระ และนายจุฬา พิทยาภินันท์ นิสิตปริญญาเอก เข้ามาร่วม และใช้สถานะทางสังคมเข้าช่วยกดดันให้เกิดการตรวจสอบ

ในกรณีการเรียกร้องให้ตรวจสอบนี้ยังมี ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ และนายจุฬา พิทยาภินันท์ เป็นตัวแทนเข้ามาชี้แจงและตอบคำถามผ่านสื่อมวลชน ผศ. ดร.เจษฎาเองก็ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบ GT 200 อีกด้วย จนเจ้าเครื่องดังกล่าวถูกขนานนามว่า “ไม้ล้างป่าช้า”

การตรวจสอบ GT 200

ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตรวจสอบเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT 200 หลังจากนั้นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT 200 คณะกรรมการได้จัดการตรวจสอบประสิทธิภาพการของเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยใช้การตรวจสอบแบบตาบอดสองทาง (Double Blind Test) ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553

ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงถึงผลการตรวจสอบประสิทธิภาพของจีที200 ว่าตรวจหาวัตถุระเบิดซีโฟร์ได้ถูกต้องเพียง 4 ครั้ง จาก 20 ครั้ง โดยแต่ละครั้งมีตัวเลือก 4 กล่อง ซึ่งไม่มีนัยทางสถิติ รัฐบาลจึงยกเลิกการจัดซื้อเพิ่มเติม และให้หน่วยงานที่ใช้อยู่ทบทวนเรื่องการใช้งานเครื่องตรวจสอบระเบิด GT 200 ต่อ

นอกจากนี้ยังเป็นประเด็นการสอบสวนการหลอกลวงที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร รัฐบาลสหราชอาณาจักรมีคำสั่งห้ามการส่งอุปกรณ์นี้ออกไปยังประเทศอิรักและประเทศอัฟกานิสถานในคำสั่งซื้อของกองทัพในเดือนมกราคม ค.ศ. 2553 ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออก ค.ศ. 2002 (อังกฤษ: Export Control Act 2002)และได้ส่งสารเตือนไปยังรัฐบาลในต่างประเทศว่าเครื่อง GT 200 และ ADE651 เป็นเครื่องที่ “ไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง” ในการตรวจสอบวัตถุระเบิด

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556 ศาลอังกฤษได้พิพากษาให้จำคุกเจมส์ แมคคอร์มิค เป็นเวลา 10 ปีในข้อหาหลอกขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม หรือ GT 200 ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย

กองทัพบก ชี้แจงกรณีฟ้องร้อง GT 200

พลเอกสันติพงศ์ ธรรมปิยะ เสนาธิการทหารบก และโฆษกกองทัพบก ได้ชี้แจงว่า ภายหลังทางกองทัพบกได้พบว่า GT 200 ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติและก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ จึงได้ยุติการใช้งาน ดำเนินการตามกฎหมายต่อบริษัทเอกชนคู่สัญญา โดยตั้งแต่ปี 2559 ได้ดำเนินการฟ้องดำเนินคดีต่อบริษัทเอกชนคู่สัญญาใน ๒ ศาล เพื่อให้ครอบคลุมในมิติด้านกฎหมาย คือ คดีอาญาฐานฉ้อโกง และคดีทางปกครองฐานความผิดเกี่ยวกับสัญญา ซึ่งการดำเนินคดีของแต่ศาลมีความคืบหน้ามาอย่างต่อเนื่องตามกระบวนการ ตั้งแต่ ปี 2560 – 2565

โดยคดีอาญา ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 ศาลขั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา มีคำพิพากษาเป็นที่สุดแล้ว เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ให้จำเลยร่วมกันคืนเงินให้กองทัพบก เป็นจำนวน 682,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี คดีอาญาเป็นอันสิ้นสุดลงและขณะนี้อยู่ในระหว่างการบังคับคดีให้ชดใช้เงินคืนกับกองทัพบก

กองทัพบกได้ยื่นฟ้องในคดีทางปกครองควบคู่กันไปด้วยโดยในคดีทางปกครองซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 กองทัพบกได้ดำเนินการตามคำแนะนำของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ให้ตรวจ GT 200 ทุกเครื่อง เพื่อยืนยันว่าไม่มีประสิทธิภาพ และใช้เป็นสาระสำคัญประกอบการพิจารณาคดีทางปกครอง ในการนี้เพื่อให้ได้พยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ในทางคดี

กองทัพบกจึงได้ตั้งงบประมาณในปี 2564 เพื่อตรวจสอบเครื่อง GT 200 จำนวน 757 เครื่อง โดยส่งตรวจที่ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศทอ.สวทช.) โดยเป็นการตั้งงบประมาณล่วงหน้าในขณะนั้น ก่อนที่คดีทางปกครองจะเป็นอันถึงที่สุดในปีต่อมา คือ มีนาคม 2565

ทำไมถึงต้องเป็น สวทช. ในการตรวจสอบ?

การที่กองทัพบกมอบให้ สวทช.เป็นผู้ดำเนินการตรวจทดสอบ GT 200 เนื่องจาก สวทช.เป็นหน่วยงานกลาง มีมาตรฐานตามหลักการ อีกทั้งมีความเชี่ยวชาญในงานด้านนี้โดยตรง ผลการตรวจรับรองจะสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือ อันจะเกิดประโยชน์ต่อการดำเนินคดีของทางราชการที่ กองทัพบกดำเนินการอยู่ในขณะนั้น

จากการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำไมกองทัพบกต้องตั้งงบประมาณปี 2566 เพื่อใช้ในการตรวจสอบ GT 200 ทั้งที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้วนั้น ขอเรียนว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากเป็นการนำข้อมูลปีงบประมาณ ๒๕๖๔ มาเชื่อมโยงกับคำพิพากษาของคดีที่เกิดขึ้นในปี 2565 เป็นการเปรียบเทียบผิดห้วงเวลา ทั้งนี้กองทัพบกไม่ได้ตั้งงบประมาณในปี 2566 ในเรื่องดังกล่าว สำหรับการตั้งงบประมาณเพื่อการตรวจสอบ GT 200 นั้น หากคดีถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ โดยตามระเบียบราชการหากงบประมาณไม่ถูกใช้ ก็จะถูกส่งคืนตามกระบวนการงบประมาณต่อไป

การตั้งงบประมาณในการตรวจสอบ GT 200 จำนวน 7.57 ล้านบาท เป็นการตั้งงบประมาณก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา และเป็นไปตามกระบวนการแสวงหาพยานหลักฐานประกอบคดี ภายใต้ข้อแนะนำจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและวิทยาศาสตร์ และเมื่อคดีเป็นที่ยุติแล้ว ก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อมุ่งให้ทางราชการได้รับค่าเสียหายชดเชย เพื่อรักษาประโยชน์ของกองทัพและประเทศ ทั้งนี้นอกจากการดำเนินการตามกฎหมายต่อบริษัทคู่สัญญาแล้ว สำหรับเจ้าหน้าที่ของทางราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหา GT 200 ก็ได้ถูกนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวนทางวินัยและทางกฎหมายเช่นกัน

สวทช. ยืนยันตรวจทดสอบ GT 200 ตามหลักมาตรฐานสากล

ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยให้บริการ ซึ่งดำเนินการวิเคราะห์ ทดสอบ ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้มาตรฐานสากล ได้รับการประสานจากกรมสรรพาวุธทหารบก เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด (GT 200) ทุกเครื่องทั้ง 757 เครื่อง

ใช้งานได้หรือไม่ด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ รวมถึงการผ่าพิสูจน์เครื่อง เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการดำเนินคดีปกครอง การทดสอบจึงต้องดำเนินการตามหลักการทดสอบทุกรายการที่มีการดำเนินการทดสอบเครื่อง GT200 และใช้เป็นบรรทัดฐานของข้อมูลประกอบการพิจารณาคดีก่อนหน้านี้

การดำเนินการทดสอบทุกรายการต้องดำเนินการตามหลักการที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน และเชื่อถือได้ในชั้นการพิจารณาของศาล ทั้งการตรวจวัดไฟฟ้าสถิต การแพร่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง รวมถึงการผ่าพิสูจน์เครื่อง

สำหรับค่าบริการทดสอบทั้งหมด ศูนย์ PTEC คำนวณจากการใช้วัสดุและอุปกรณ์ทดสอบ ห้องปฏิบัติการทดสอบ ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการใช้สารเสพติดและวัตถุระเบิดในการทดสอบ เพื่อให้ได้คุณภาพของผลการทดสอบตามเอกสารว่าจ้างที่ระบุทุกรายการ ทั้งนี้ ค่าบริการดังกล่าวมีราคาถูกกว่าการทดสอบโดยห้องปฏิบัติการต่างประเทศ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สวทช. ปฏิบัติหน้าที่ในทุกภารกิจบนหลักวิชาการและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพบนพื้นฐานในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และขอยืนยันเจตนารมณ์ในฐานะองค์กรวิจัยและพัฒนาที่จะใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมและประเทศต่อไป

สุดท้ายแล้วกองทัพบก ก็ได้ชี้แจงแล้วจะไม่มีการของบดังกล่าวในการผ่าพิสูจน์เจ้า GT 200 อีก เพราะมีข้อมูลจากหลาย ๆ หน่วยงาน ยืนยันตรงกันว่า GT 200 นั้น มันเป็นเพียงอุปกรณ์ลวงโลกเท่านั้น ซึ่งจากนี้ก็ต้องไปไล่บี้กันว่ามีกลุ่มบุคคลจากหน่วยงานไหนจะต้องรับผิดชอบต่อเรื่องดังกล่าวหรือไม่

งบประมาณกว่า 1 พันล้าน เพื่อซื้อเครื่องลวงโลกนี้มาใช้งานและไม่สามารถใช้งานได้จริง จากกรณีศึกษานี้เมื่อ 14 ปี ก่อน คงเป็นอีกบทเรียนราคาแพง ที่ประชาชนยังคงเฝ้ารอผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้เพราะนั้นมันเป็นส่วนหนึ่งใน ‘ภาษีประชาชน’ เช่นกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง