คัดลอก URL แล้ว
ทบ. แจง ฟ้องทั้งคดีอาญา – คดีปกครอง กรณี GT 200 จำเป็นต้องตรวจสอบเครื่องเพื่อผลทางคดี

ทบ. แจง ฟ้องทั้งคดีอาญา – คดีปกครอง กรณี GT 200 จำเป็นต้องตรวจสอบเครื่องเพื่อผลทางคดี

พลเอก สันติพงศ์ ธรรมปิยะ เสนาธิการทหารบก/โฆษกกองทัพบก ได้เปิดเผยถึง กรณีที่มีการอภิปรายในการตั้งงบประมาณเพื่อการตรวจสอบเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด (GT 200 Detection Substances) ของกองทัพบกว่า เรื่องดังกล่าวโฆษกกระทรวงกลาโหม , สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ชี้แจงสร้างความเข้าใจในข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณะในเบื้องต้นไปแล้ว กองทัพบกขอเรียนข้อมูลเพิ่มเติมในภาพรวมของการดำเนินการทางกฎหมายต่อ GT 200 ดังนี้

หลังจากที่ กองทัพบกได้พบข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของ GT 200 ที่ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติและก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ กองทัพบกได้ยุติการใช้งานและได้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของทางราชการในทุกด้าน สิ่งสำคัญที่สุดคือได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อบริษัทเอกชนคู่สัญญา โดยตั้งแต่ปี 2559 ได้ดำเนินการฟ้องดำเนินคดีต่อบริษัทเอกชนคู่สัญญาใน 2 ศาล เพื่อให้ครอบคลุมในมิติด้านกฎหมาย คือ คดีอาญาฐานฉ้อโกง และคดีทางปกครองฐานความผิดเกี่ยวกับสัญญา ซึ่งการดำเนินคดีของแต่ศาลมีความคืบหน้ามาอย่างต่อเนื่องตามกระบวนการ ตั้งแต่ ปี 2560-2564

โดยคดีอาญา ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 ศาลขั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา มีคำพิพากษาเป็นที่สุดแล้ว เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ให้จำเลยร่วมกันคืนเงินให้กองทัพบก เป็นจำนวน 682,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี คดีอาญาเป็นอันสิ้นสุดลง และขณะนี้อยู่ในระหว่างการบังคับคดีให้ชดใช้เงินคืนกับกองทัพบก

ในระหว่างการดำเนินคดีอาญา กองทัพบกได้ยื่นฟ้องในคดีทางปกครองควบคู่กันไปด้วยโดยในคดีทางปกครองซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 กองทัพบกได้ดำเนินการตามคำแนะนำของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ให้ตรวจ GT 200 ทุกเครื่อง เพื่อยืนยันว่าไม่มีประสิทธิภาพ และใช้เป็นสาระสำคัญประกอบการพิจารณาคดีทางปกครอง ในการนี้เพื่อให้ได้พยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ในทางคดี กองทัพบกจึงได้ตั้งงบประมาณในปี 2564 เพื่อตรวจสอบเครื่อง GT 200 จำนวน 757 เครื่อง โดยส่งตรวจที่ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศทอ.สวทช.) โดยเป็นการตั้งงบประมาณล่วงหน้าในขณะนั้น ก่อนที่คดีทางปกครองจะเป็นอันถึงที่สุดในปีต่อมา คือ มีนาคม 2565

การที่กองทัพบกมอบให้ สวทช.เป็นผู้ดำเนินการตรวจทดสอบ GT 200 เนื่องจาก สวทช.เป็นหน่วยงานกลาง มีมาตรฐานตามหลักการ อีกทั้งมีความเชี่ยวชาญในงานด้านนี้โดยตรง ผลการตรวจรับรองจะสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือ อันจะเกิดประโยชน์ต่อการดำเนินคดีของทางราชการที่ กองทัพบกดำเนินการอยู่ในขณะนั้น

จากการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำไมกองทัพบกต้องตั้งงบประมาณปี 2566 เพื่อใช้ในการตรวจสอบ GT 200 ทั้งที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้วนั้น ขอเรียนว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากเป็นการนำข้อมูลปีงบประมาณ 2564 มาเชื่อมโยงกับคำพิพากษาของคดีที่เกิดขึ้นในปี 2565 เป็นการเปรียบเทียบผิดห้วงเวลา ทั้งนี้กองทัพบกไม่ได้ตั้งงบประมาณในปี 2566 ในเรื่องดังกล่าว สำหรับการตั้งงบประมาณเพื่อการตรวจสอบ GT200 นั้น หากคดีถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ โดยตามระเบียบราชการหากงบประมาณไม่ถูกใช้ ก็จะถูกส่งคืนตามกระบวนการงบประมาณต่อไป

ต่อข้อสงสัยที่ว่า ทำไมไม่นำคำพิพากษาในคดีอาญามาใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีทางปกครอง เพื่อจะได้ไม่ต้องส่ง GT200 ไปตรวจสอบนั้น ขอเรียนว่า ในขณะที่ตั้งงบประมาณ เพื่อขอตรวจ GT200 ในปี 2564 นั้น คดีอาญายังไม่ถึงที่สุด ไม่อาจรู้ผลทางคดีได้ แต่การตรวจ GT200 เป็นสิ่งสำคัญต่อคดีทางปกครองในขณะนั้น

กองทัพบกขอเรียนว่า การตั้งงบประมาณในการตรวจสอบ GT200 จำนวน 7.57 ล้านบาท เป็นการตั้งงบประมาณก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา และเป็นไปตามกระบวนการแสวงหาพยานหลักฐานประกอบคดี ภายใต้ข้อแนะนำจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและวิทยาศาสตร์ และเมื่อคดีเป็นที่ยุติแล้ว ก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อมุ่งให้ทางราชการได้รับค่าเสียหายชดเชย เพื่อรักษาประโยชน์ของกองทัพและประเทศ ทั้งนี้นอกจากการดำเนินการตามกฎหมายต่อบริษัทคู่สัญญาแล้ว สำหรับเจ้าหน้าที่ของทางราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหา GT 200ก็ได้ถูกนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวนทางวินัยและทางกฎหมายเช่นกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง