คัดลอก URL แล้ว
ชัชชาติ ลงพื้นที่สำรวจการก่อสร้างบ่อพักท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน ย่านพระราม 3

ชัชชาติ ลงพื้นที่สำรวจการก่อสร้างบ่อพักท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน ย่านพระราม 3

KEY :

วันนี้ (4 มิ.ย.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกับนายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง ลงพื้นที่สำรวจการก่อสร้างบ่อพักท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน ในโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินบนถนนพระราม 3 เพื่อร่วมวางแนวทางลดผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้าง ตั้งแต่บริเวณ สวนศิลาฤกษ์(ใต้สะพานภูมิพล) ถึง สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา (ใต้สะพานพระราม9) ซึ่งส่งผลต่อความราบเรียบและความสม่ำเสมอของพื้นผิวถนนในบางพื้นที่

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวหลังการลงพื้นที่ว่า ที่ผ่านมาเคยมีการบอกเล่าจากประชาชน ว่าถนนพระราม 3 มีปัญหาพื้นผิวถนนที่ไม่เรียบ สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากโครงการที่การไฟฟ้านครหลวงได้ทำท่อลงไปบริเวณใต้ดิน เพื่อนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ซึ่งการลงพื้นที่ร่วมกับผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงวันนี้ ได้มีการหารือพูดคุยกันถึงแนวทางการลดผลกระทบให้กับประชาชน โดยการแก้ไขที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทางสำนักการโยธา กทม. ได้ดำเนินการให้หยุดการก่อสร้างชั่วคราว เพื่อปรับปรุงฝาบ่อให้เรียบ

นายชัชชาติ ยังกล่าวอีกว่า ผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ยังมีอีกหลายพื้นที่ ที่ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งทางการไฟฟ้านครหลวงได้รับทราบปัญหาแล้ว

ด้านนายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า จากการร่วมวางแนวทางแก้ปัญหาครั้งนี้ ทางการไฟฟ้านครหลวงมีแนวทางให้บริษัทผู้รับเหมาปรับปรุงรูปแบบการปิดฝาบ่อพัก แบ่งเป็น 4 วิธี คือ

  1. กรณีเป็นบ่อพักที่ต้องหยุดงานมากกว่า 4 เดือน ให้เทคอนกรีตปิดฝาบ่อ ซึ่งจะทำให้ไม่มีรอยต่อของฝาบ่อ
  2. กรณีฝาบ่อที่ต้องเปิด-ปิด ทุกวัน ให้เปลี่ยนฝาบ่อพักที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จากเดิมที่ใช้ 8 ชิ้น เปลี่ยนเป็นปิดโดยใช้ 4 ชิ้น เพื่อลดรอยต่อของฝาบ่อ ทำให้ผิวถนนราบเรียบมากขึ้น
  3. กรณีฝาบ่อพักที่ต้องเปิด-ปิด ทุกวัน แต่มีกำหนดเสร็จสิ้นงานภายใน 1 ปี จะใช้ฝาบ่อเดิม แต่ต้องเพิ่มการตรวจสอบภาพฝาบ่อให้มีความเรียบร้อย
  4. กรณีแผ่น Road Deck (แผ่นถนนชั่วคราว) ให้เสริมความแข็งแรงโครงสร้างรองรับแผ่น Road Deck ป้องกันการทรุดตัวที่ริมฝาบ่อ และเทคอนกรีตปรับระดับจุดเชื่อมต่อกับผิวถนนจริง

นอกจากนี้ นายชัชชาติ ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ยังมีอีกปัญหาอื่นๆ ที่ต้องดำเนินการแก้ไข ที่ได้ร่วมหารือในครั้งนี้ คือ

1.การจัดระเบียบสายสื่อสาร ที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามาเยอะ ซึ่งการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กทม. , การไฟฟ้านครหลวง ,กสทช. และผู้ประกอบการ เพื่อหาแนวทางร่วมกัน

2.ปัญหาไฟส่องสว่าง ที่ประชาชนสะท้อนว่า ในบางพื้นที่ บางจุดมีปัญหาเรื่องไฟส่องสว่างน้อยที่อาจจะกระทบกับความปลอดภัย ซึ่งทางสำนักการโยธา ได้ประสานงานกับทางการไฟฟ้าฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายไฟ เตรียมที่จะติดตั้งไฟใหม่จำนวน 10,000 ดวง เพื่อกระจายแสงสว่างให้ประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหา ตั้งเป้าใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการติดตั้งไฟจำนวน 10,000 ดวง

ภาพ – ธนโชติ ธนวิกรานต์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง